´หมอจุฬา´ โชว์ฝีมือ ผ่าสมองแก้ลมชัก

"แพทย์จุฬาฯ โชว์ฟอร์มเจ๋ง"



เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 9 เม.ย. ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พร้อมด้วย ผศ.นพ.สุรชัย เคารพธรรม

หัวหน้าภาควิชาประสาทศัลยศาสตร์ แถลงข่าวความสำเร็จของการผ่าตัดก้อนเนื้อในโพรงน้ำสมองด้วยวิธีการส่องกล้อง ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่มีความยากลำบากมากกว่าการผ่าตัดสมองแบบปกติ

สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยทีมประสาทศัลยแพทย์ของจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เป็นผู้ทำการผ่าตัด ประกอบด้วย ผศ.นพ. กฤษณพันธ์ บุณยะรัตเวช ผศ.นพ.รุ่งศักดิ์ ศิวานุวัฒน์ ผศ.นพ.สุรชัย เคารพธรรม และ รศ.นพ.สมรัตน์ จารุลักษณานันท์ เป็นวิสัญญีแพทย์

ผศ.นพ.กฤษณพันธ์ บุณยะรัตเวช

ประสาทศัลยแพทย์ ผู้ทำการผ่าตัด เปิดเผยว่า การผ่าตัดครั้งนี้เป็นการผ่าตัดผู้ป่วยหญิงอายุ 18 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ป่วยเป็นโรคลมชักมาตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ลักษณะอาการคือ มีอาการชัก ร่วมกับการหัวเราะและร้องไห้

บางครั้งมีอาการเหม่อลอยร่วมด้วย

ครั้งละ 1-2 นาที ขณะที่เกิดอาการ ผู้ป่วยไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งภายนอกได้ แม้ว่าจะรู้ตัวอยู่ตลอด ผู้ป่วยรายนี้ได้เข้ามารักษาในโครงการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักครบวงจร ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์

โดยได้รับการตรวจจาก รศ.นพ.ชัยชน โลว์เจริญกุล

และคณะแพทย์ของโครงการ ผลการตรวจพบว่ามีก้อนเนื้อในโพรงน้ำสมอง ที่เรียกว่า ก้อนฮามาร์โตมา บริเวณไฮโปธาลามัส แพทย์ได้ทำการปรับยากันชักให้ผู้ป่วยหลายชนิด แต่ผู้ป่วยยังมีอาการชักกว่าร้อยครั้ง ทุกๆ 2 เดือน จึงได้มีการปรึกษาทีมประสาทศัลยแพทย์เพื่อพิจารณาทำการผ่าตัด




ผศ.นพ.กฤษณพันธ์กล่าวว่า

การผ่าตัดครั้งนี้ มีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากก้อนเนื้อเยื่อที่เรียกว่า ฮามาร์โตมา ซึ่งเกิดขึ้นอย่างผิดปกติของผู้ป่วย อยู่ในตำแหน่งของสมองส่วนที่เรียกว่าไฮโปธาลามัส ซึ่งเป็นสมองส่วนที่สำคัญมาก

รวมทั้งอยู่ในจุดที่ใกล้กับสมองส่วนควบคุมความจำ

ที่เป็นจุดเชื่อมสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวาเข้าด้วยกัน หากได้รับความกระทบกระเทือน อาจมีความพิการที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ ตำแหน่งของก้อนเนื้อฮามาร์โตมาของผู้ป่วยรายนี้ยังอยู่ในตำแหน่งที่ลึก

หากจะใช้การผ่าตัดแบบเปิด

จะต้องผ่านสมองปกติเป็นระยะทางไกล และการผ่าตัดแบบเปิดอาจมีการดึงรั้งสมองส่วนที่เกี่ยวกับความจำ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความจำแบบชั่วคราว หรือแบบถาวรได้ และที่สำคัญที่สุด ผู้ป่วยรายนี้มีโพรงสมองที่แคบมาก หากจะผ่าตัดโดยวิธีเปิด จะต้องมีการดึงรั้งสมองมากกว่าปกติ ซึ่งอันตรายมาก

ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว

คณะแพทย์ จึงตัดสินใจทำการผ่าตัดด้วยวิธีการส่องกล้อง โดยมีระบบคอมพิวเตอร์นำทาง ที่เรียกว่าเนวิเกเตอร์ ซิสเต็ม (Navigator system) เข้าไปยังจุดของก้อนเนื้อ และสามารถนำก้อนเนื้อออกได้

โดยไม่ต้องผ่านเนื้อสมองที่สำคัญ

ไม่ต้องดึงรั้งสมอง ทำให้การผ่าตัดครั้งนี้มีความแม่นยำสูง เสียเลือดน้อยกว่า และใช้เวลาในการผ่าตัดเพียง 1 ชั่วโมง เท่านั้น ผศ.นพ.กฤษณพันธ์กล่าวและว่า หลังผ่าตัดผู้ป่วยมีอาการดี ไม่มีอาการชักอีก

และไม่พบอาการแทรกซ้อน

นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสถิติที่เคยมีการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ทั่วโลกมีประมาณ 60 ราย ในประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้



ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์