คราบน้ำมันลอยเต็มทะเลอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด นักท่องเที่ยวเผ่น เล่นน้ำไม่ได้

คราบน้ำมันลอยเต็มทะเลอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด นักท่องเที่ยวเผ่น เล่นน้ำไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีท่อรับน้ำมันดิบกลางทะเลของบริษัท พีทีทีโกลบอลเคมิคอล จำกัด เกิดรั่วไหลน้ำมันดิบไหลลงทะเลจำนวน 50,000ลิตร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ว่า


ล่าสุดเมื่อเวลา 07.00น.วันที่ 29 กรกฎาคม  นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผอ.ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่1  กล่าวว่า 

ได้รับรายงานจากเครือข่ายว่า  คราบน้ำมันทะลักเข้าสู่บริเวณชายหาดอ่าวพร้าวเกาะเสม็ด หมู่ 4 ต.เพ อ.เมืองระยอง  ตั้งแต่เวลา19. 00น.คืนวันที่ 28 กรกกรกฎาคมที่ผ่านมา  ไม่มากนักและเมื่อเวลา22.00น.วันเดียวกันได้รับรายงานว่าบริเวณหาดอ่าวพร้าวเต็มไปด้วยคราบน้ำมันจำนวนมากเป็นระยะทางกว่า600เมตร ทั่วทั้งหาด ห่างจากฝั่งประมาณ20เมตรคราบน้ำมันมีความหนาประมาณ 20- 30 ซม.ห่างออกไปในทะเลประมาณ200เมตรคราบน้ำมันจะเป็นลักษณะคล้ายฟิล์มบางๆ เช้าวันเดียวกันนี้นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผวจ.ระยองได้สั่งการให้ ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลฯ อบต.เพ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ด รีบดำเนินการจัดเก็บคราบน้ำมันโดยด่วน


ขณะเดียวกันทราบว่านักท่องเที่ยวจำนวนมากที่พักอยู่บริเวณอ่าวพร้าวเตรียมเดินทางออกจากที่พักก่อนกำหนดในเช้าวันเดียวกันเพราะไม่สามารถลงเล่นน้ำทะเลได้

ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์จากคณะประมง  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียนข้อมูลพร้อมภาพถ่ายลงในเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า


"ผมนำภาพถ่ายมาให้ดู เป็นภาพถ่ายจาก GISTDA เมื่อเย็นวานนี้ จะเห็นได้ว่า คราบน้ำมันที่เป็นปื้นสีดำ ขนาดใหญ่เกือบเท่าเกาะเสม็ด ความยาวนับสิบกิโลเมตร ความกว้าง 1.5-2 กิโลเมตร กำลังลอยเข้ามาหาชายฝั่ง จากการคาดการณ์น่าจะเข้ามาวันนี้แหละครับ"

ผมจึงลองนำภาพของ GISTDA มาทำแผนที่เพิ่มเติม ใส่ระบบนิเวศทางทะเลลงไป

ได้แก่ B หรือ Beach บริเวณนั้นเรียกว่าก้นอ่าว อันเป็นส่วนของหาดแม่รำพึงที่มาเชื่อมต่อกับเขาแหลมหญ้า C คือ Coral Reef เป็นแนวปะการังที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของเกาะเสม็ด Ben คือ Benthic Community หรือระบบนิเวศพื้นท้องทะเล

เมื่อลองพิจารณาจากคราบน้ำมัน ดูจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด อันเป็นแนวทางที่ควรใช้ในการวางแผนรับมือกับอุบัติเหตุทางทะเล เราประเมินความน่าเป็นห่วงของระบบนิเวศที่จะเกิดผลกระทบได้ ดังนี้ครับ (แนวคิดของผมคนเดียว ไม่เกี่ยวกับหน่วยงานใด)

1 หาดทรายที่ก้นอ่าว คราบน้ำมันอาจจับกับเม็ดทราย เคลือบตามตัวสัตว์ทะเล ทำให้ระบบนิเวศบนหาดทรายเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการท่องเที่ยว การกำจัดคราบน้ำมันบนหาดทรายค่อนข้างยุ่งยากและใช้งบประมาณมาก ต้องดูกันต่อว่ามีมากน้อยแค่ไหน

2 หาดหินที่เขาแหลมหญ้า รวมทั้งหาดทรายและแนวปะการังเล็ก ๆ และแนวสาหร่ายติดฝั่งที่อยู่ตรงปลายแหลม

3 แนวปะการังและหาดต่าง ๆ ทางฝั่งตะวันตกของเกาะเสม็ด

4 ระบบนิเวศพื้นท้องทะเลตั้งแต่จุดที่น้ำมันรั่วตรงมาหาฝั่ง ระยะทางไม่ต่ำกว่า 20-30 กิโลเมตร

5 หากคราบน้ำมันลอยผ่านช่องเสม็ด หาดแถวบ้านเพอาจได้รับผลกระทบ รวมถึงป่าชายเลนหย่อมเล็ก ๆ ตรงนั้น

6 หากคราบน้ำมันกระจายตัวไปมากขึ้น อาจส่งผลกระทบบ้างต่อหาดอื่นที่อยู่เลยเกาะเสม็ดไปทางตะวันตก

7 พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ยังไม่ได้ประเมินครับ

ย้ำอีกครั้งว่านี่คือแนวคิดด้านร้าย ซึ่งประเทศไทยไม่ค่อยนิยมใช้ ด้วยอ้างว่าเดี๋ยวประชาชนเกิดความตื่นตระหนก ผมก็สงสัย คราบน้ำมันไม่ใช่ก๊อตซิลล่าบุก ตื่นตระหนกแล้วเป็นไง ในกรณีนี้อย่างนี้ ควรโปร่งใสและชัดเจน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคราวนี้คงจะเป็นเช่นนั้น จะได้มาช่วยกันดูช่วยกันคิด

เผอิญผมต้องไปทำธุระอื่น เขียนแบบเร็วจี๋ได้แค่นี้ เอาไว้มีเวลาค่อยลงรายละเอียด ขอบคุณ GISTDA ของพี่อานนท์อีกครั้ง หวังว่าจะติดตามหาข้อมูลมาบอกกล่าวให้เราฟังต่อนะครับ

อ้อ ทุ่นกันน้ำมันของเรายาว 200 เมตร แนวน้ำมันกว้าง 2 กิโลเมตร อย่าถามว่ากันได้แค่ไหน ผมเคยถามเขาในที่ประชุมแล้ว เขาบอกว่ามีไว้ใช้ล้อมเรือที่จอดเทียบท่าแล้วพลาดทำน้ำมันหกลงมา ถ้าเป็นอุบัติเหตุทางทะเลก็คงต้องหวังพึ่งทุ่นจากสิงคโปร์ ก็หวังต่อไปนะครับ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์