หมอเผ่า หายแน่! รองอธิบดีสุขภาพจิตยัน สูโดอีเฟดรีน ยากระตุ้น

กรมสุขภาพจิต ระบุ หมอประกิตเผ่า มีโอกาสหายป่วย 100 เปอร์เซ็นต์


กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เผยสารสูโดอีเฟดรีนที่ตรวจพบ มีฤทธิ์น้อยกว่าอีเฟดรีน ถึง 4 เท่า แต่ถือเป็นยากระตุ้น กระทุ้งโรคจิตกำเริบได้ สรุปถึงแม้ หมอเผ่า ไม่ได้ถูกวางยา แต่หากถูกชักจูงโดยคนหมู่มาก อาจนำไปสู่อาการป่วยได้เช่นกัน โบ้ยสารอีเฟดรีนในร่ายกายหมอเผ่าไม่ได้มีมากมายถึง 200 เท่า เชื่อเป็นความเข้าใจผิดกันตั้งแต่ต้น ขณะที่ หน.ศูนย์พิษวิทยา โต้ไม่ได้ขัดแย้งกับกรมสุขภาพจิต


ขณะที่ หมอมงคล ชี้ อีเฟดรีนเป็นสารกลุ่มใหญ่


โครงสร้างอนุพันธ์ใกล้เคียงกัน ไม่ติดใจศรีธัญญาตรวจผิด ตำรวจเตรียมสอบปากคำ ศ.นพ.สมิง เพิ่ม แล้วจ่อคิวออกหมายเรียก เปมิกา เข้าให้ปากคำพิสูจน์หาข้อเท็จจริง


มารดาและภรรยา ของ หมอเผ่า



เรื่องราวชีวิตดังนิยายของนพ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์


เจ้าของ ผู้บริหารและอาจารย์สถาบันกวดวิชาแอพพลายด์ฟิสิกส์ เปิดฉากเริ่มตั้งแต่ตอนที่ถูกพาเข้าไปรักษาตัวที่รพ.ศรีธัญญา แล้วน.ส.เปมิกา วีรชัชรักษิต นิสิตปีที่ 4 จุฬาฯ เพื่อนสาวคนสนิทนพ.ประกิตเผ่า แจ้งความขอ ให้ปล่อยตัวนพ.ประกิตเผ่า จนกระทั่งมีการฟ้องเรียกค่าเสียหายกันระหว่าง น.ส.เปมิกา กับครอบครัวทมทิตชงค์

จนมาถึงจุดที่หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี ออกมาระบุว่า


ผลการตรวจร่างกาย หมอเผ่า ไม่พบสารอีเฟดรีนในร่างกาย แต่กลับเจอ สูโดอีเฟดรีน หรืออีเฟดรีน ปลอมแทน จึงตัดประเด็นเรื่องอีเฟดรีน 200 เท่าในร่างกายหมอเผ่าทิ้งไป เพราะกลายเป็นเรื่องความเข้าใจผิดกันตั้งแต่ต้น ตามข่าวที่เดลินิวส์เสนอไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้


เมื่อวันที่ 18 มี.ค. นพ.อภิชัย มงคล รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ ศ.นพ.สมิง เก่าเจริญ หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ระบุว่า สารที่พบในร่างกาย นพ.ประกิตเผ่า เป็นสารสูโดอีเฟดรีน ว่า ศ.นพ.สมิง ได้มาขอตัวอย่างเลือดและปัสสาวะของนพ.ประกิตเผ่าไปตรวจซ้ำอีกครั้ง แต่ไม่คิดว่าผลการตรวจจะออกมาเร็วขนาดนี้ อย่างไรก็ตาม คงต้องดูผลการตรวจเลือดประกอบด้วยว่ามีปริมาณสารสูโดอีเฟดรีนมากน้อยเพียงใดด้วย

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า


จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า สารสูโดอีเฟดรีน มีฤทธิ์น้อยกว่าอีเฟดรีน 4 เท่า แต่ในทางการแพทย์ถือว่าเป็นยากระตุ้นเช่นกัน และมีรายงานด้วยว่า สูโดอีเฟดรีน ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยทางจิต เพราะจะกระตุ้นให้อาการกำเริบ เนื่องจากบางคนเมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว จะทำให้นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย และจะทำให้อาการเจ็บป่วยทางจิตที่ซ่อนอยู่โผล่ขึ้นมาได้

ดังนั้นผู้มีอาการป่วยทางจิตและรับประทานยาชนิดนี้ คงต้องหลีกเลี่ยงไปใช้ยาตัวอื่น โดยเฉพาะในกรณีที่มีอาการหวัดคัดจมูก เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบ แต่ในความจริงแล้วสารที่กระตุ้นให้อาการเจ็บป่วยทางจิตกำเริบ ไม่ใช่มีเฉพาะสารชนิดนี้เท่านั้น แม้แต่ยาสเตียรอยด์ อาทิ ยารักษาโรคเอสแอลอี ยาแก้ปวดเข่า ก็อาจกระตุ้นทำให้เกิดอาการได้เช่นกัน

นพ.อภิชัย กล่าวอีกว่า


เมื่อผลตรวจออกมาว่าเป็นสูโดอีเฟดรีน แต่ทุกคนอาจจะ มองว่า ตื่นเต้นน้อยกว่าอีเฟดรีน เนื่องจากอีเฟดรีนเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท อย่างไรก็ตาม สารสูโดอีเฟดรีน มีรายงานในต่างประเทศว่า สารชนิดนี้จะกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บป่วยทางจิตได้ และถึงแม้จะไม่ใช่สาเหตุโดยตรงก็ตาม


เมื่อถามว่ายาแก้หวัดคัดจมูกส่วนใหญ่ รับประทานแล้วจะง่วงนอน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ยานี้จะกระตุ้นให้โรคจิตกำเริบ


นพ.อภิชัย กล่าวว่า เนื่องจากยาแก้หวัดคัดจมูก มีส่วนผสมหลายตัว ผู้ที่รับประทานเข้าไปส่วนใหญ่อาจจะมีอาการง่วงนอน และนอนหลับสบายดี ไม่มีปัญหา แต่ในกรณีที่รับประทานเข้าไปแล้ว นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย สันนิษฐานว่าร่างกายคนไข้ไวต่อการกระตุ้นของสูโดอีเฟดรีน จึงควรหยุดยา

การที่ผลตรวจออกมาเป็นสูโดอีเฟดรีน จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์คนไข้หรือไม่


เพราะแสดงว่าอาการเจ็บป่วยไม่ได้เกิดจากวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า คงกระทบต่อการรักษามากกว่า เช่น กรณีที่หาสาเหตุหรือหาผู้ร้ายไม่เจอ คือไม่พบการใช้ยาหรือสารใด ๆ คงต้องเหนื่อยขึ้น เพราะถ้าเป็นกรณีที่คนไข้มีอาการเจ็บป่วยทางจิต ที่มีผลมาจากวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เช่น อีเฟดรีน เหล้า หลักการในการรักษา คือ หยุดสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ คนไข้จะหายเร็วและหายขาด แต่ถ้าสาเหตุไม่ได้เกิดจากสารต่าง ๆ เหล่านี้ การรักษาจะต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าเดิม

ต่อข้อถามว่า ศ.นพ.สมิง ระบุว่าปริมาณสารอีเฟดรีน ไม่ได้มีมากถึง 200 เท่าอย่างที่เข้าใจผิดกันนั้น


นพ.อภิชัย กล่าวว่า เรื่องนี้อาจจะเป็นความเข้าใจผิดด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย เพราะรายงานจากศูนย์พิษวิทยาที่ส่งมาครั้งแรกเป็นการรายงานผลการตรวจพบสารอีเฟดรีนในปัสสาวะ แต่มีวงเล็บว่าค่าปกติในเลือดจะอยู่ที่ปริมาณเท่าไหร่ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และกรมสุขภาพจิตเองยอมรับว่าไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มากไปกว่า รพ.รามาธิบดี

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.สมิง คงอยากให้เกิดความมั่นใจจึงตรวจ ซ้ำ เพราะสารทั้ง 2 ชนิด มีอนุพันธ์คล้าย ๆ กัน ดังนั้น จึงไม่อยากให้นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็น เพราะที่ผ่านมาถือว่าเป็นความกรุณาของศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี ที่ให้ความร่วมมืออย่างดี

นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต


กล่าวถึงกรณีตรวจพบสูโดอีเฟดรีนในร่างกาย นพ.ประกิตเผ่า ว่า การตรวจพบสารสูโดอีเฟดรีน ไม่ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งหรือมีปัญหาแต่อย่างใด เพราะแม้จะเป็นสูโดอีเฟดรีนก็ออก ฤทธิ์ได้เช่นกัน สำหรับในการตรวจครั้งแรก ที่มีการระบุว่าเป็นอีเฟดรีน เพราะให้ผลบวกคล้ายกัน และสารทั้ง 2 ชนิด นี้ มีลักษณะโครงสร้างหรืออนุพันธ์คล้ายคลึงกัน และศ.นพ.สมิง คงต้องการให้เกิดความมั่นใจจริง ๆ ว่า เป็นสารชนิดใดกันแน่ จึงต้องตรวจซ้ำ เหมือนกับการตรวจปัสสาวะแล้วปัสสาวะเป็นสีม่วง จะต้องไปตรวจยืนยันว่า สีม่วงเกิดจากอะไร เกิดจากยาแก้หวัดหรือยาบ้า

ประเด็นสำคัญคือ


คนไข้ต้องบอกแพทย์ว่ารับประทานยาอะไรเข้าไป จะทำให้ง่ายต่อ การตรวจ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าอาการเจ็บป่วยทางจิต จะไม่ได้เกิดจากการวางยา หรือใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท คนไข้ก็อาจถูกชักจูงได้เช่นกัน จะเห็นได้ว่า กรณีแก๊งตกทอง ไม่ได้มีการใช้ยาหรือสารอะไรมาเกี่ยวข้อง แต่ใช้วิธีการชักจูงโดยคนหมู่มาก อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวและว่า อาการเจ็บป่วยทางจิต ไม่ว่าเกิดจากการใช้สาร ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท หรือไม่ว่าอะไร สามารถรักษาให้หายขาดได้

ผลการตรวจปัสสาวะของคนไข้ ไม่พบสารอีเฟดรีน


แต่เป็น สูโดอีเฟดรีน โดยการตรวจยืนยันซ้ำในครั้งนี้เป็นการนำปัสสาวะผู้ป่วยที่เก็บในครั้งแรกมาตรวจเพียงอย่างเดียว และไม่ได้ตรวจเลือดด้วย เพราะทราบว่าไม่ได้มีการเจาะเลือดเก็บไว้ จึงมีแต่ตัวอย่างปัสสาวะ แต่เห็นตำรวจบอกว่าจะประสานขอข้อมูลมา


น.ส.เปมิกา วีรชัชรักษิต




ด้าน ศ.นพ.สมิง หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า


ศ.นพ.สมิง กล่าวว่า ได้รับการประสานงานมาแล้ว เพราะเมื่อวันที่ 16 มี.ค. ได้ไปให้ปากคำไปบ้างแล้ว แต่ผู้ใหญ่คงอยากได้ข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อให้เกิดความชัดเจน ดังนั้นจะเดินทางมาพบอีกครั้ง ในวันที่ 19 มี.ค. ที่รพ. รามาธิบดี แต่ขณะนี้เท่าที่ดูบางคน ยังไม่เชื่อว่าเป็น สูโดอีเฟดรีน และนำไปขยายความว่า ผลการตรวจของศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี ขัดแย้งกับทางกรมสุขภาพจิตนั้น ขอเรียนว่า ตนและกรมสุขภาพจิตไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งกัน การที่ศูนย์เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ เป็นเพราะได้รับการประสานงานจาก รพ.ศรีธัญญา ตั้งแต่ต้นและกระบวนการทุกอย่างก็เป็นไปตามขั้นตอน

พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร ผบก.ป. กล่าวว่า


ขณะนี้ยังไม่ได้รับเอกสารรายงานผลการตรวจปัสสาวะของนพ.ประกิตเผ่า จากศ.นพ.สมิง หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี อย่างเป็นทางการ แต่ทราบผลการตรวจจากสื่อว่า ไม่พบสารอีเฟดรีนในร่างกาย แต่เจอสูโดอีเฟดรีนแทน อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ไปพบศ.นพ.สมิง อีกครั้งในสัปดาห์หน้า เพื่อขอผลตรวจอย่างเป็นทางการนำมาประกอบสำนวน ในส่วนของการสอบสวนคงต้องดำเนินการต่อไป

โดยเฉพาะการสอบปากคำ น.ส.เปมิกานั้น ได้ประสานไปแล้ว


แต่หาก น.ส. เปมิกา ไม่ยอมเข้าให้ปากคำ คงต้องออกหมายเรียกต่อไป สำหรับการสอบสวนนั้น จะเน้น สอบในทุกประเด็น ทั้งเรื่องของสารแปลกปลอมและเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างน.ส.เปมิกากับ นพ.ประกิตเผ่า ว่ามีความเป็นมาหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร จนถึงกระทั่งมีการเข้าแจ้งความร้องขอให้ปล่อยตัวนพ.ประกิตเผ่า รวมทั้งเรื่องการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายด้วย.


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์