ฮือเดือดเผาปลาเน่าประท้วงหน้า รง.

"ชาวบ้านประท้วงหมดตัว"


ชาวอ่างทองเดือดฮือเผาซากปลาเน่าประท้วงหน้าโรงงาน วอนรัฐช่วยเหลือ ปชช.สองฝั่งเจ้าพระยา ไม่มีน้ำกินน้ำใช้ 2 วัน ระดมทหารขนปลา ฝังทำลาย

จากกรณีปลาทับทิมของเกษตรกรใน ต.บางชะนี และ ต.บางบาล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เลี้ยงไว้ในกระชังริมแม่น้ำเจ้าพระยาลอยตายเป็นเบือเกือบ 1 แสนตัว โดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังหลายรายถึงกับต้องกุมขมับ เพราะเพิ่งผ่านพ้นภัยพิบัติอุทกภัยครั้งใหญ่ไปไม่นาน แต่กลับต้องมาถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัดอีกครั้ง โดยตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะเกิดจากสภาวะของน้ำในแม่น้ำมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน หรือเกิดจากเหตุการณ์เรือขนกากน้ำตาลล่ม รวมไปถึงสาเหตุจากโรงงานปล่อยน้ำเสีย ตามข่าวที่นำเสนอไปแล้วนั้น

นางใกล้รุ่ง พูนจำนอง อายุ 27 ปี อยู่บ้านเลขที่ 10 หมู่ 1 กล่าวทั้งน้ำตานองหน้าว่า ได้กู้เงินจากเงินกู้บัตรเครดิตมาลงทุนกว่า 5 แสนบาท โดยเลี้ยงมานานกว่า 4 ปีแล้ว ขณะนี้ยัง มีหนี้สินที่ต้องชำระค่าอาหารปลาปลายเดือนนี้อีก 8 หมื่นกว่าบาท ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร "อยากเรียกร้องให้ทางราชการเร่งตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงมาให้ได้ เพื่อหาคนรับผิดชอบ และทางประมงควรเตรียมพันธุ์ปลามาช่วยเหลือเกษตรกร รวมทั้งการชดเชยเรื่องค่าเสียหาย เนื่องจากส่วนใหญ่หมดเนื้อหมดตัวแล้ว"

"แจกจ่ายน้ำให้ ปชช.แทน"


ด้านนายสาธิต อิศรางกูร ณ อยุธยา นายอำเภอบางบาล เปิดเผยว่าขณะนี้ไม่เฉพาะผู้เลี้ยงปลาที่เดือดร้อนแต่ประชาชนใน 8 ตำบลของ อ.บางบาล ต่างได้รับความเดือดร้อนทั่วหน้า เนื่องจากขณะนี้ทางอำเภอได้ประกาศให้ประปาหมู่บ้านทุกแห่งในเขตริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ใช้น้ำในการผลิตน้ำประปาหยุดการสูบน้ำเด็ดขาดมาตั้งแต่เย็นวันที่ 11 มี.ค. และได้สั่งการให้เทศบาลตำบลมหาพราหมณ์และเทศบาลบางบาล ได้ออกไปเร่งแจกจ่ายน้ำให้กับประชาชนตามหมู่บ้านตลอดทั้งวันทั้งคืน ขณะที่นายทองแรม ศีลาวัตร ประมงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่าได้ประสานกับทางชลประทานในการระบายน้ำเพื่อให้น้ำเสียผ่านไป คาดว่าอาจจะใช้เวลา 3-4 วัน จึงแล้วเสร็จ

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านที่ประสบปัญหาในพื้นที่อ่างทองได้รวมตัวกันกว่า 100 คน ร่วมเดินทางไปประท้วงที่หน้าโรงงานแห่งหนึ่ง ริมถนนสายอ่างทอง-อยุธยา ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก เพราะต่างเชื่อกันว่าเป็นต้นเหตุทำให้ปลาตาย โดยชาวบ้านได้ใช้ยางรถยนต์จุดไฟเผาซากปลาเน่าด้วยความโกรธแค้น พร้อมตะโกนร้องหาผู้รับผิดชอบ ทำให้สถานการณ์ชุมนุมค่อนข้างตึงเครียด แม้ว่าตัวแทนผู้บริหารโรงงานดังกล่าว จะออกมาชี้แจงว่าโรงงานมีบ่อบำบัดน้ำเสียอย่างดี ไม่เกี่ยวกับการที่ปลาจำนวนมากตายก็ตาม ทั้งนี้ เกษตรกรได้ปักหลักรอคำตอบพร้อมว่าจ้างวงดนตรีมาฉลองความเศร้าในการสูญเสียครั้งนี้

"เสียหายกว่า 40 ล้านบาท"


นายจรัลธาดา กรรณสูต อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่ามีปลาในธรรมชาติ และปลาตามกระชังตายจากสาเหตุน้ำเสียกว่า 1 ล้านตัว หรือคิดเป็น 100 ตัน และกุ้งก้ามกรามอีกหลายสิบตัน ทั้งนี้ปลาในกระชังของเกษตรกรเสียหายรวมทั้งสิ้นประมาณ 40 ล้านบาท โดยเป็นปลาในกระชังของเกษตรกรจังหวัดอ่างทองประมาณ 65 กระชัง เสียหาย 28 ล้านบาท จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งทางกรมประมงจะรวบรวมความเสียหาย เสนอครม.จ่ายค่าชดเชย ตารางเมตรละ 257 บาท แต่จะไม่เกิน 80 ตารางเมตรต่อราย เนื่องจากมีการประกาศเป็นพิบัติภัย พร้อมเร่งหาพันธุ์กุ้งและปลาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดยเร็วที่สุด

สำหรับปลาและสัตว์น้ำที่ตายในขณะนี้ สามารถที่จะบริโภคได้เนื่องจากเป็นการตายโดยการขาดอากาศหายใจไม่ใช่สารพิษ โดยขณะนี้ที่ตลาดอ่างทอง กุ้งขนาดใหญ่มีราคาขายกิโลกรัมละ 50 บาทเท่านั้น อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำกรมประมง คาดว่าน่าจะมาจากการแอบปล่อยน้ำเสียของโรงงานผลิตน้ำตาลหรือโรงงานผงชูรสเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ไม่น่าจะใช่สาเหตุเรือขนกากน้ำตาลล่มเพราะเหตุเกิดมา ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. แล้ว.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์