เจ้าพระยา วิกฤติเน่า ปลาตาย อ่างทอง ถึงอยุธยา

"ปลาในกระชั่งเลี้ยงเจ้าพระยา ตายเป็นเบือ"


เมื่อช่วงเช้าวันที่ 12 มี.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่ามีปลาที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ในกระชังตลอดริม2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ช่วง ต.บางเสด็จ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ยาวไปจนถึง อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ตายเป็นเบือโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงเดินทางไปตรวจสอบพบว่า ปลาในกระชั่งของเกษตรกรที่เลี้ยงไว้ตลอดแนว 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยากว่า 200 กระชัง ลอยตายเป็นแพส่งกลิ่นเหม็นเน่าไปทั่วบริเวณ 2 ฝั่งแม่น้ำ

เกษตรกรผู้เลี้ยงช่วยกันตักซากปลานำขึ้นไปกองไว้บนตลิ่งเพื่อรอขายให้กับบรรดาแม่ค้าพ่อค้านำไปทำปลาร้า บางรายทนสภาพกลิ่นเหม็นไม่ไหวตัดสินใจตักซากปลาโยนทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ตลอดลำน้ำเจ้าพระยามีแต่ซากปลาเน่าเหม็นลอยเป็นแพ ขณะเดียวกันจากการสังเกตสภาพน้ำช่วงบริเวณดังกล่าวพบว่า มีสีดำคล้ำไม่ต่างไปจากน้ำครำ นอกจากปลาในกระชังที่ล้มตายแล้ว ปลาธรรมชาติหลายชนิด ทั้งปลากด ปลาแขยง ปลาค้าว ปลาม้า ปลาตะเพียน ปลากระทิง ปลาไหล ปลากระเบน ปลาปักเป้า และปลาลิ้นหมาซึ่งเป็นปลาหัวหนัก รวมทั้งกุ้งก้ามกรามลอยตายเต็มไปหมด ชาวบ้านแย่งกันเก็บนำไปขายในตลาดอ่างทอง

สอบถามนางน้อย แสงทอง อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 49/2 หมู่ 1 ต.บางเสด็จ เจ้าของกระชังเลี้ยงปลา กล่าวทั้งน้ำตาว่า ก่อนหน้านี้เลี้ยงปลาทับทิมเอาไว้ 10 กระชัง ปลามีขนาดโตเต็มที่พร้อมจะจับขายในอีกวันสองวันข้างหน้า เท่าที่คำนวณไว้มีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 17 ตัน ขายในราคาประกัน กก.ละ 50 บาท ซึ่งจะได้เงินไม่ต่ำกว่า 8.5 แสนบาท แต่จู่ๆเกิดเหตุไม่คาดคิด เมื่อปลาที่เลี้ยงไว้ลอยตายหมดกระชัง

"เร่งตรวจสอบ น้ำเสียมาจากไหน"


จำใจต้องนำซากปลาไปขายต่อให้กับแม่ค้าทำปลาร้า กก.ละ 3 บาท ยอมรับว่าขาดทุนย่อยยับหมดเนื้อหมดตัว ในขณะที่นางประนอม สุขเจริญ อายุ 45 ปี เจ้าของกระชังปลาอีกรายกล่าวว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 11 มี.ค. สังเกตน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มมีสีดำคล้ำไหลลงมา พอตกค่ำปลาและกุ้งในแม่น้ำรวมทั้งปลาในกระชังเริ่มทยอยตายลงอย่างต่อเนื่อง โทรศัพท์ไปสอบถามที่ศูนย์หมอปลา ได้รับคำแนะนำให้ลากกระชังปลาออกไปบริเวณน้ำลึก และให้ออกซิเจนช่วย แต่ปลาก็ยังตายเรื่อยๆ จนถึงเช้าพบว่าปลาในกระชังของตนและเพื่อนบ้านกว่า 200 กระชัง น้ำหนักรวมกว่า 300 ตัน ตายเกลี้ยง

ต่อมาวันเดียวกัน นายพรเทพ ฤทธิ์ฤดี สาธารณสุขอำเภอป่าโมก จ.อ่าทอง และนายฉัตรชัย ฮุ้นทวีชัย ประมงจังหวัดอ่างทอง นำเจ้าหน้าที่เดินทางไปตรวจสอบโดยเก็บซากปลาและตัวอย่างน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา นำส่งไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อหาสาเหตุ โดยนายฉัตรชัยกล่าวว่า เบื้องต้นจากการนำตัวอย่างของน้ำไปตรวจที่ศูนย์ประมงน้ำจืด จ.สุพรรณบุรี พบว่าค่าออกซิเจนในน้ำลดต่ำลงเหลือเพียง 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น จากปกติที่ต้องมีค่าออกซิเจนในระดับ 4-9 มิลลิกรัมต่อลิตร ปลาจึงสามารถอยู่ได้ ส่วนสาเหตุมาจากอะไรนั้น คงต้องรอผลตรวจที่แน่ชัดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่น่าเสียดายคือกุ้งก้ามกรามกว่า 3 ล้านตัว ที่กรมประมงนำไปปล่อยก่อนหน้านี้ คงตายหมด

ขณะที่นายสุเทพ กาแก้ว นายก อบต.บางเสด็จ เปิดเผยว่า คิดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงที่เกิดน้ำเน่าเสียเกิดขึ้นด้านใต้ของโรงงานแห่งหนึ่ง ซึ่งเคยมีปัญหาเรื่องมลพิษน้ำเสียส่งกลิ่นเน่าเหม็นมาแล้ว ต่อมาทางโรงงานได้ต่อท่อน้ำลงมาที่แม่น้ำเจ้าพระยา อ้างว่าใช้สูบน้ำเข้าไปใช้ในโรงงาน แต่จากการตรวจสอบพบว่า ปลากระชังที่เลี้ยงด้านเหนือของโรงงานแห่งนี้ กลับอยู่ดีไม่เป็นอะไร จึงอยากให้เจ้าหน้าที่รีบตรวจว่าในน้ำมีสารปนเปื้อนอะไร และเป็นชนิดเดียวกับที่โรงงานแห่งนี้ใช้หรือไม่

"ประสานหาสาเหตุน้ำเน่าเสียทุกกรณี"


วันเดียวกัน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ผวจ.อ่างทอง พร้อมด้วยนายสุเมธ แสงนิ่มนวล นางเบญจวรรณ อ่านเปรื่อง รอง ผวจ. นายสุรเชษ นิ่มกุล นายก อบจ.อ่างทอง และนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รอง หน.พรรคชาติไทย เดินทางไปตรวจที่เกิดเหตุ พร้อมสั่งกำชับให้ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนทราบว่า ห้ามนำซากปลา-กุ้ง ที่ตายไปบริโภคเนื่องจากยังไม่ทราบว่ามีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายปนเปื้อนหรือไม่ โดยนายวิบูลย์เปิดเผยว่าขณะนี้ได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว พร้อมทั้งตั้งศูนย์ประสานงานขึ้นที่สำนักงาน อบต. บางเสด็จ รับแจ้งความเสียหายของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา

นอกจากนี้ ยังได้ประสานไปยังอธิบดีกรมโรงงานจัดส่งเจ้าหน้าที่เดินทางมาตรวจวัดค่าน้ำตั้งแต่บริเวณดังกล่าว ยาวไปจนถึงจุดที่เกิดเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลทรายขาวหนัก 650 ตัน ล่มที่บริเวณบ้านโพธิ์ทูล หมู่ 1 ต. จำปาหล่อ อ.เมืองอ่างทอง เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปกว่า 10 กม. ว่า เป็นต้นเหตุทำให้น้ำเน่าเสียหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบโรงงานแห่งหนึ่งในละแวกใกล้เคียงด้วยว่ามีการแอบปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ จนเป็นต้นเหตุทำให้ปลาตายหรือไม่ ในชั้นต้นได้ประสานกรมชลประทานให้ช่วยระบายน้ำเพิ่มลงมาเพื่อให้สภาพน้ำเสียดีขึ้น และประสานกำลัง อปพร. และกำลังทหารจาก มทบ.13 จ.ลพบุรี มาช่วยเก็บซากปลาขุดหลุมฝังกลบแล้ว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์