เริ่มแล้ว ใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์ คืนนักโทษสู่สังคม -ถอดตรวน เพื่อสิทธิมนุษยชน

เป็นข่าวฮือฮาทีเดียว สำหรับกรณีที่ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่กฎกระทรวง เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา  ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุกโดยวิธีการอื่น ที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขต  พ.ศ.2556 โดยห้ามออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่อื่นใดในช่วงเวลาที่กำหนดโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดว่า “ผู้ถูกจำกัด” หมายถึง ผู้ซึ่งศาลมีคำสั่งให้จำคุก โดยวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทาง และอาณาเขตของผู้นั้น

กำไลอิเล็กทรอนิกส์

ภายหลัง ก็เกิดกระแสทางด้านลบอยู่ไม่น้อยจากสังคม ที่หวั่นกันว่า วิธีการดังกล่าวจะใช้ไม่ได้ผลกับประเทศไทย เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องวิธีการ และอุปกรณ์ที่นำมาใช้ บ้างก็มองว่า อาจจะเป็นหนทางที่จะช่วยใครบางคนให้รอดพ้น ไม่ต้องถูกจำคุกหรือไม่  เป็นการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อช่วยเหลือนักโทษ

ขณะที่ทางกรมคุมประพฤติเอง ยืนยันเดินหน้านำร่องในโครงการดังกล่าว โดยน.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมคุมประพฤติเปิดเผยว่า จะนำเครื่องมือการควบคุมโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้กับเด็กและเยาวชนในระบบงานคุมประพฤติ เบื้องต้น จะนำมาใช้กับเยาวชนที่กระทำผิดในคดีจราจร 200 คน ซึ่งรอเพียงการร่างสัญญาจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบราชการ และจะสามารถเริ่มใช้ภายในกลางเดือนกรกฎาคมนี้

เมื่อกล่าวถึงการทำงาน และประสิทธิภาพของเครื่องมือการควบคุมโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น  จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

1.ตัวอุปกรณ์ส่งสัญญานระบบอาร์เอฟ ( RF ) สวมใส่กับข้อมือหรือข้อเท้า คล้ายกับนาฬิกาเพื่อสวมติดกับข้อมือหรือข้อเท้า เพื่อที่จะส่งสัญญานแจ้งว่าผู้กระทำผิดอยู่ที่ไหน มีประสิทธิภาพในการป้องกันการสั่นสะเทือนและป้องกันน้ำ และป้องกันการทำลายจากผู้กระทำผิด

2.ตัวอุปกรณ์รับสัญญาน ระบบจีพีเอส (GPS) เป็นอุปกรณ์รับสัญญานที่ติดตั้งอยู่กับที่ เช่น ที่บ้านหรือที่ทำงานของผู้กระทำผิด เพื่อส่งสัญญานไปยังศูนย์ควบคุมว่าผู้กระทำผิดได้สวมใส่อุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ตลอดเวลา โดยต้องใช้โทรศัพท์และอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ

3.ศูนย์ควบคุมกลาง หรือระบบอาร์เอฟผนวกกับจีพีเอส เพื่อไว้ตรวจสอบและรับรายงานการทำงานของอุปกรณ์ส่งสัญญาน และอุปกรณ์รับสัญญาน และมีการส่งข้อมูลไปยังศูนย์ประมวลข้อมูลทันที หากระบบแจ้งเตือนการทำลายอุปกรณ์

กำไลอิเล็กทรอนิกส์

นับว่าเป็นวิธีหนึ่งในการลดปัญหานักโทษล้นเรือนจำ ที่นับวันจะมีผู้กระทำผิดมากขึ้น แนวคิดดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายว่าจะใช้ได้ผลจริงหรือไม่ เมื่อเทียบกับงบประมาณในการจัดซื้อุปกรณ์ และความเสี่ยงต่อการกระทำผิดเพิ่มของนักโทษ

นอกจากนี้ สืบเนื่องจากโครงการดังกล่าว กรมราชทัณฑ์ ยังเตรียมที่จะถอนตรวนข้อเท้านักโทษประหาร และนักโทษจำคุกตลอดชีวิต 500 คน โดยจะมีการเปิดงานอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานพิธีถอดตรวจผู้ต้องขัง เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล ที่เห็นความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน

เมื่อตรวจสอบ ในจำนวนนี้ มีนักโทษที่รู้จักกันดี คือ พ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือผู้พันตึ๋ง ผู้ต้องหาคดีฆ่าผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร นายวิศิษฐ์ พึ่งรัศมี อดีตข้าราชการป่าไม้  ถูกตัดสินความผิดสั่งการผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ผู้ต้องขังคดีอุ้มฆ่าตระกูลศรีธนะขัณฑ์ นายสุขุม เชิดชื่น อดีตสมาชิกวุฒิสภา เป็นต้น

การจำคุกโดยวิธีการอื่น ที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขต จะใช้ได้ผลมากน้อยเพียงใด ยังคงต้องมีการประเมินเป็นระยะ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นักโทษที่หลบหนีออกนอกเรือนจำ ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่เรื่อยมา  เหล่านี้  ก็เกิดคำถามตามมาจากสังคมว่า  สิทธิมนุษยชนสำหรับนักโทษนั้นควรมีมากน้อยเพียงใด…


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์