ขอนแก่นประสบภัยแล้งรุนแรง

ขอนแก่นประสบภัยแล้งรุนแรง

ภัยแล้งใน จ.ขอนแก่น ส่อเค้ารุนแรง หลังพบว่าเขื่อนอุบลรัตน์น้ำเหลือติดอ่างแค่ร้อยละ 34 และนำมาใช้ได้เพียงร้อยละ 13 เท่านั้น หวั่นชาวบ้านขาดน้ำอุปโภค-บริโภค และใช้ทำการเกษตร

เมื่อเวลา 11.30 น. วันนี้ (28 ก.พ.) นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผวจ.ขอนแก่น

พร้อมด้วย นายทรงยศ เจิดนภาพันธุ์ ผอ.โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น นายประมวล ลาภจิตต์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ขอนแก่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าว ขอนแก่นประสบภัยแล้ง และสถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ โดย นายสมศักดิ์ ผวจ.ขอนแก่น กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดว่า เกิดสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา มีพื้นที่ประสบภัยทั้ง 26 อำเภอ 197 ตำบล 2,243 หมู่บ้าน 35 ชุมชน หรือคิดเป็นร้อยละ 96.22 ของหมู่บ้านทั้งจังหวัด คือ 2,331 หมู่บ้าน ความเดือดร้อนที่ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 679,558 คน 184,333 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย 733,948.25 ไร่ แยกเป็นนาข้าว 732,552.25 ไร่ พืชไร่ 1.396.00 ไร่ รวมมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นกว่า 700 ล้านบาท จังหวัดได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจากภัยแล้งแล้วทั้ง 26 อำเภอ

พร้อมกับได้ใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง วงเงิน 50 ล้านบาท รวมทั้งได้มอบอำนาจให้อำเภอละ 1 ล้านบาท รวม 26 อำเภอ

ขอให้เงินทดรองราชการฯ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินระดับอำเภอ ( ก.ช.ภ.อ.) รวมเป็นเงิน 25,951,121.07 บาท และจังหวัดได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดขอนแก่น ปี 2555 – 2556 รวมทั้งการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง และอำเภอ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งให้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ และแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการปฏิบัติอย่างชัดเจน และเป็นระบบ

นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำเหลือน้อยมาก
 
ไม่มีน้ำไหลเข้าอ่าง จึงมีปริมาณน้ำใช้ผลิตน้ำประปา การเกษตร ประมาณ 200 ล้าน ลบ.ม. จึงถือว่าอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ประสบวิกฤติแล้งไม่มีน้ำในอ่างส่งผลให้ขอนแก่นประสบภัยแล้งรุนแรงยาวนาน ดังนั้นเขื่อนอุบลรัตน์ไม่สามารถสนับสนุนการทำนาปรังได้ ขอให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน และผู้เลี้ยงปลาในกระชังในลำน้ำพองต้องลดปริมาณปลาแต่ละกระชัง และลดความหนาแน่นเพื่อให้ปลาอยู่รอดได้ และต้องชะลอเลี้ยงปลาในกระชังอีกด้วย  ส่วนปัญหาที่เกิดผลกระทบในจังหวัดในเรื่องภัยแล้ง คือ ชาวบ้านขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ในหลายหมู่บ้านของจังหวัด โดยเฉพาะประปาหมู่บ้านที่ใช้น้ำดิบจากน้ำผิวดิน หรือจากบ่อบาดาลใต้ดิน ซึ่งไม่สามารถผลิตน้ำประปาเพื่อนำมาดื่มกินใช้ได้ จังหวัดต้องนำน้ำไปแจกจ่ายให้กับประปาหมู่บ้านที่ไม่มีน้ำตลอดเวลา โดยให้องค์กรปกครองท้องถิ่นทุกแห่งได้ตั้งงบประมาณซื้อรถบรรทุกน้ำจัดหาน้ำให้กับชาวบ้านให้มากที่สุด และจัดหาภาชนะถังน้ำกลางเพื่อมารองรับน้ำที่จังหวัดนำมาแจกจ่ายอีกเช่นกัน

นายทรงยศ เจิดนภาพันธุ์ ผอ.โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น  เปิดเผยว่า เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

ที่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในภาคอีสานตอนบนมีน้ำอยู่ในอ่าง 34 % มีน้ำใช้งานได้จริงๆ 257 ล้าน ลบ.ม.เปรียบเป็นร้อยละ 13 เท่านั้น และน้ำระเหยหายไปจากอ่างประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม. และได้มีพยากรณ์อากาศคร่าวๆมาว่าในเดือน พ.ค. 2556 มีฝนตกลงมาตามปกติ แต่หลังจากนั้นเป็นต้นไปฝนจะทิ้งช่วงไม่มีฝนตกลงมาในภาคอีสานนานถึง 3 เดือนเต็ม ประชาชนอย่าได้ประมาทในการใช้น้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเพื่กการเกษตร และต้องประหยัดการใช้น้ำให้ได้มากที่สุด จ.ขอนแก่น และอีกหลายจังหวัดในภาคอีสานตอนบนจะประสบวิกฤติภัยแล้งอย่างรุนแรง ชาวบ้านจะอยู่อย่างลำบากอย่างแน่นอน.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์