พระพยอม ชี้ ถ้าทำความดีให้ศาสนา พระพายัพ มีสิทธิเป็นพระฐานานุกรม

พระพยอม ชี้ ถ้าทำความดีให้ศาสนา พระพายัพ มีสิทธิเป็นพระฐานานุกรม

วันที่ 18 ก.พ.56 สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอรายงานพิเศษเรื่อง "พระพยอม" ชี้ ถ้าทำความดีให้ศาสนา "พระพายัพ" มีสิทธิเป็นพระฐานานุกรม โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

พระพยอม ชี้ ถ้าทำความดีให้ศาสนา พระพายัพ มีสิทธิเป็นพระฐานานุกรมได้  เผยทราบจากข่าวเคยสร้างโบสถ์ ทำงานหลายอย่าง ระบุชัดถ้าไม่ใช่น้อง ทักษิณ ปัญหานี้ไม่เกิด

กรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ พระพายัพ ( นายพายัพ ชินวัตร น้องชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี)

ที่ได้รับ การแต่งตั้งจาก สมเด็จพระธีรญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ให้เป็นพระฐานานุกรมในตำแหน่ง "พระครูปลัดสัมพิพัฒน์ญาณจารย์" ภายหลังจากการอุปสมบทวัดป่าพุทธคยา ประเทศอินเดีย ว่า อาจมีความไม่เหมาะสม เนื่องจากตามธรรมเนียมปฏิบัติพระสงฆ์ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพระฐานานุกรมนั้นจะต้องผ่านการอุปสมบทมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 พรรษา

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ ประธานมูลนิธิวัดสวนแก้ว 

ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า การแต่งตั้งพระฐานานุกรม มีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ 2 ข้อ คือ 1. ต้องอุปสมบทมาหลายพรรษา และ 2.ต้องมีผลงานการสนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนา ซึ่งก่อนจะให้สัมภาษณ์ อาตมา เห็นข่าวว่า พระพายัพ มีผลงานในการสนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนาหลายประการ อาทิ การสร้างโบสถ์ ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง พระพายัพ ก็มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็น พระฐานานุกรม ได้

“การแต่งตั้งพระฐานานุกรม เป็นสิทธิของผู้ให้ เมื่อผู้ให้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ผู้รับมีสิทธิที่จะได้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และที่สำคัญ พระพายัพ ก็บวชไม่นาน พระคู่แข่งในตำแหน่งนี้ ก็ไม่น่าจะมีความวิตกกังวลอะไร"

พระพยอม กล่าวย้ำว่า "ปัญหานี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย ถ้าพระพายัพ ไม่ได้เป็นน้องชายของ คนชื่อทักษิณ"

เมื่อถามว่า แต่หลักการกำหนดให้พระที่จะได้รับการแต่งตั้ง เป็น พระฐานานุกรม ต้องบวชหลายพรรษา พระพยอม ระบุว่า “อาตมา เห็นว่า เราไม่ควรจะไปยึดเรื่องพรรษากันได้แล้ว เพราะพระบางรูปบวชมานานหลายพรรษา แต่ไม่เคยทำคุณงามความดี หรืออะไรที่เป็นประโยชน์แก่พระศาสนา ก็ไม่ควรเลื่อนตำแหน่งอะไรให้เลย”

ข้อมูลจากเว็บไซต์ วิกิพีเดีย ระบุว่า ฐานานุกรม คือ ชื่อเรียกลำดับตำแหน่งสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ไทย
 
ซึ่งภิกษุผู้มีตำแหน่งทางการปกครองหรือมีสมณศักดิ์สูงบางตำแหน่งมีสิทธิตั้งพระรูปอื่นให้เป็นฐานากรมได้ตามศักดิ์ที่ได้รับพระบรมราชานุญาต เช่น พระสงฆ์ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ สามารถตั้งฐานานุกรมได้ 3 ตำแหน่ง พระราชาคณะชั้นสามัญตั้งฐานานุกรมได้ 3 ตำแหน่ง เป็นต้น ไปจนกระทั่งถึงสมเด็จพระสังฆราชทรงตั้งฐานานุกรมได้ 15 ตำแหน่ง

ฐานานุกรมนั้นมีตำแหน่งที่เป็นหลัก 3 ตำแหน่ง คือ พระปลัด พระสมุห์ พระใบฎีกา หากพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ที่มีสิทธิ์ตั้งฐานานุกรมเป็นผู้ที่มีสมณศักดิ์ตั้งแต่พระราชาคณะชั้นราชขึ้นไป พระฐานานุกรมที่ท่านเหล่านั้นตั้ง จะเรียก "พระครู" นำหน้าตำแหน่งฐานานุกรมนั้นทุกตำแหน่ง เช่น พระครูปลัด พระครูสังฆรักษ์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งในลักษณะนี้เรียกว่า พระฐานานุกรม ทุกรูปจัดเป็นพระมีสมณศักดิ์เหมือนพระสมณศักดิ์ที่ทรงแต่งตั้ง

พระในตำแหน่งเหล่านี้บางทีเรียกประทวนสัญญาบัตร บ้าง ฐานาประทวน บ้าง และเนื่องจากสมณศักดิ์เหล่านี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้พระราชทานเอง ดังนั้นเมื่อพระสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์ที่ได้ตั้งฐานานุกรมไว้มรณภาพ ตำแหน่งฐานานุกรมต่างๆ ก็ถือว่าเป็นอันสิ้นสุดไปด้วย เรียกกันในภาษาปากว่า พระครูม่าย หรือ ฐานาม่าย จนกว่าจะได้รับแต่งตั้งฐานานุกรมใหม่



ข้อมูลจาก isranews.org


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์