สื่อกับการนำเสนอข่าวภาคใต้

สื่อกับการนำเสนอข่าวภาคใต้

 ทหารนาวิกโยธิน ประจำกองร้อยปืนเล็กที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 (ฉก.32) อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส

ได้กลายเป็นวีรบุรุษในชั่วข้ามคืนหลังจากประสบชัยชนะในการต่อกรกับโจรใต้ประมาณ 50 คนในชุดทหารพร้อมเสื้อเกราะกันกระสุนและอาวุธร้ายแรงที่เหิมเกริมบุกโจมตีฐานปฏิบัติการเฉพาะกิจแห่งนั้น จนโจรใต้กลุ่มนั้นต้องล่าถอยทิ้งซากศพไว้เป็นหลักฐานอย่างน้อย 16 ศพรวมทั้งศพของแกนนำคนสำคัญ นับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญในรอบเกือบ 10 ปีนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ตามด้วยการโจมตีฐานพระองค์ดำ กองร้อยทหารราบที่ 15121 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 38 อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2554  และการถล่มฐานทหารสังกัด ร้อย.ร.15123 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 ต.รือเสาะ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 แต่ละครั้งสร้างความสูญเสียไม่ใช่น้อย ไม่ใช่แค่ชีวิตของทหาร รวมทั้งอาวุธปืนหลายร้อยกระบอกที่ถูกปล้นไป หากแต่เป็นขวัญกำลังใจของประชาชนที่มีแต่เสื่อมถอยลง เพราะไม่อาจหาที่พึ่งพาที่ปลอดภัยได้ จนเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้โจรใต้นับวันยิ่งกำเริบเสิบสานมากขึ้นทุกขณะ

ชัยชนะของหน่วยทหารนาวิกโยธิน 32 อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะโชคช่วยหรือเกิดปาฏิหาริย์เหลือเชื่อ

หากเป็นเพราะทหารเริ่มประสบความสำเร็จในการดึงมวลชนมาเป็นแนวร่วม จนได้รับความร่วมมือด้านการข่าวที่แม่นยำ ดังคำเปิดเผยของพ.อ.ปราโมทย์ พรมอินทร์ และแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ที่ว่าได้รับการแจ้งเบาะแสความเคลื่อนไหวของโจรใต้กลุ่มนี้ จนนำไปสู่การเตรียมการป้องกันรับมืออย่างดี อย่างไรก็ดี การที่เจ้าหน้าที่บางคนให้ความเห็นที่ส่อไปในทางเปิดเผยข้อมูลที่อ่อนไหวโดยไม่ตั้งใจ รวมไปถึงนำเสนอข่าวโดยปราศจากความรับผิดชอบของสื่อมวลชนที่แข่งกันเจาะประเด็นอ่อนไหว ทำให้หลายฝ่ายอดเตือนด้วยความเป็นห่วงไม่ได้ว่าอาจจะกลายเป็นดาบสองคม ดีไม่ดีอาจเป็นการให้ข่าวล้ำค่าแก่โจรใต้โดยไม่รู้ตัว

 ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นที่อินเดียคราวที่ผู้ก่อการร้ายปากีสถานกลุ่มหนึ่งได้เปิดยุทธการยึดเมืองมุมไบหรืออดีตเมืองบอมเบย์เมื่อหลายปีมาแล้ว
 
ในครั้งนั้น สื่อโทรทัศน์ของอินเดียได้แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายในการนำเสนอข่าว ถึงขั้นถ่ายทอดสดการโรยตัวลงจากเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยจู่โจมที่ต้องการชิงพื้นที่คืน รวมทั้งถ่ายให้เห็นจุดที่หน่วยจู่โจมซุ่มอยู่ การสัมภาษณ์ญาติมิตรของผู้ที่กำลังซ่อนตัวอยู่ ฯลฯ ทำให้ผู้ก่อการร้ายรู้ทุกความเคลื่อนไหวของหน่วยจู่โจมผ่านรายการเรียลลิตี้ของสื่อโทรทัศน์ ทำให้แผนชิงเมืองคืนต้องยืดเยื้อไปหลายวัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ปัญหาภาคใต้นั้นคงจะยืดเยื้อไปอีกนาน อันเนื่องจากการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด

สื่อก็ควรจะกำหนดบทบาทให้ชัดเจนว่าการนำเสนอข่าวในภาวะวิกฤติควรเป็นเช่นใด
โดยเฉพาะการสนับสนุนนโยบายเชิงรุกทางด้านมวลชน ซึ่งหากประสบความสำเร็จเมื่อใดก็จะเป็นชัยชนะอันถาวรตลอดไป

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์