ก.ย.นี้ค่าทางด่วนขึ้นอีก5บาท คมนาคมส่งสัญญาณไฟเขียว

ก.ย.นี้ค่าทางด่วนขึ้นอีก5บาท คมนาคมส่งสัญญาณไฟเขียว


พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พิจารณาเรื่องการปรับขึ้นค่าผ่านทางด่วนตามสัญญาสัมปทานที่จะครบกำหนดในเดือน ก.ย. 2556 นี้ โดยให้เป็นไปตามสัญญาสัมปทานระหว่าง กทพ.กับ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ หรือบีอีซีแอล

ซึ่งมีเงื่อนไขกำหนดให้ปรับทุก ๆ 5 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อและดัชนีผู้บริโภค (CPI) ที่เพิ่มขึ้น หากผลพิจารณาออกมาว่าต้องปรับขึ้น ก็ต้องยอมรับคงไม่สามารถยับยั้งได้ เพราะต้องคำนึงถึงสัญญาสัมปทานด้วย
ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นกรณีที่ไม่ให้ปรับขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญา นอกจากนี้ทางผู้บริหารบีอีซีแอลได้มาพบตนแล้ว โดยแจ้งให้ทราบว่าในปีนี้ครบ 5 ปีที่จะต้องขอปรับขึ้นค่าผ่านทาง ซึ่งตนให้ไปหารือในรายละเอียดสัญญากับ กทพ. และให้เสนอมาตามขั้นตอน ที่ผ่านมายอมรับว่าฝ่ายการเมืองไม่ให้ปรับขึ้น เพราะกลัวว่าจะกระทบคะแนนเสียง และทำให้ กทพ.ถูกเอกชนฟ้องที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งนโยบายของตนเห็นว่า หากต้องปรับก็ต้องปรับเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ
     
 พล.อ.พฤณฑ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่กทพ.ต้องแบกรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat 7%) แทนผู้ใช้ทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 คิดเป็นเงินกว่า 800 ล้านบาทต่อปี สะสมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นเงินกว่า 12,000 ล้านบาทนั้น ต้องมีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อนว่าจะเหมาะสมหรือไม่กับการผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ใช้ทางในขณะนี้ จะกลายเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ใช้ทางมากเกินไปหรือไม่ เนื่องจากเป็นช่วงที่จะมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางด้วย ทั้งนี้เห็นว่า กทพ.ยังพอรับภาระนี้ต่อไปได้ไม่เสียหายและก่อนหน้านี้เคยรับภาระมาตลอด

ด้านนายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า เบื้องต้นการพิจารณาตามดัชนีผู้บริโภค พบว่าจะต้องปรับขึ้นค่าผ่านทางประมาณ  5 บาท  ซึ่งตามหลักการจะต้องเริ่มเจรจากับบีอีซีแอลตั้งแต่เดือน มี.ค.นี้ เนื่องจากมีขั้นตอนที่ต้องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ  (บอร์ด) กทพ.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) และต้องประกาศล่วงหน้า โดยตามสัญญาอัตราใหม่จะมีผลวันที่ 1 ก.ย. 2556 ซึ่งจะทำให้อัตราค่าผ่านทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ จาก 45 บาท ปรับเป็น 50 บาท รถยนต์ 6-10 ล้อ จาก 70 บาท เป็น 80 บาท และรถยนต์ตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไปจาก 100 บาทเป็น 115 บาท ส่วนกรณีที่อีก 9 ปี สัญญาสัมปทานทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) และทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ระหว่าง กทพ.กับบีอีซีแอลที่จะสิ้นสุดลงนั้น กทพ.ยังไม่ได้พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ เพราะต้องขึ้นกับนโยบายว่าจะให้ กทพ.บริหารจัดการทางด่วนเอง หรือจะเจราจรกับบีอีซีแอลเพื่อต่อสัญญา แต่ในสัญญาระบุไว้ว่าเมื่อหมดสัญญาแล้ว กทพ.ต้องเจรจาต่อสัญญากับบีอีซีแอลก่อนวิธีการอื่น ๆ อย่างไรก็ตามการบริหารสัญญาเอง จะมีข้อดีที่รัฐจะกำหนดหรือลดราคาค่าผ่านทางได้ง่าย โดยไม่ต้องเจรจากับเอกชนก่อน

สำหรับปริมาณจราจรบนทางด่วนล่าสุดเมื่อเดือน ธ.ค. 2555 เฉลี่ย 1.7 ล้านคันต่อวัน โดยเคยสูงสุดถึง 1.8 ล้านคันต่อวัน ถือว่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีประมาณ 5 แสนคันต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 2 ล้านคันต่อวันภายในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งจะส่งผลให้กทพ.มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 58 ล้านบาทต่อวันเป็น 61 ล้านบาทต่อวัน.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์