สุรพงษ์ ยันต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารเต็มที่

สุรพงษ์ ยันต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารเต็มที่


"สุรพงษ์" ยันต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารเต็มที่

วันที่ 4 ม.ค.  ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการต่อสู้คดีกรณีปราสาทพระวิหาร ว่ากระทรวงการต่างประเทศยังคงใช้คณะทำงานต่อสู้คดีชุดเดิมกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งมีนายวีระชัย พลาสัย เอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮก  ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าคณะทีมกฎหมายไทย ทั้งนี้ยืนยันว่ารัฐบาลพยายามต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ มีการต่อสู้ไปตามขั้นตอน ซึ่งหากศาลตัดสินว่าให้เป็นไปตามคำสั่งศาลเมื่อปี 2505 ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีทุกอย่างจบ  ไทยก็จะมีการเจรจากับทางกัมพูชาถึงเรื่องการบริหารจัดการร่วมกันของพื้นที่ทับซ้อนว่าจะใช้เป็นสถานที่อย่างไร จะใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในอนาคตอย่างไรหรือไม่  แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเพราะมีกลุ่มคนที่พยายามชี้นำสังคม และกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยรู้เห็นกับกัมพูชาในคดีดังกล่าว กล่าวหาว่าตนไปสมรู้ร่วมคิด ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ตนเองไม่เคยไปเจรจายอมความ ยึดผลประโยชน์ขงประเทศชาติประชาชนเป็นหลัก ทั้งนี้ผลลัพธ์สุดท้ายการตัดสินของศาลก็จะออกมา 2 แนวทาง คือ ไทยแพ้คดี หรือ ต้องกลับไปที่จุดเริ่มต้นในปี 2505  แต่ตนเองยังค่อนข้างมั่นใจว่าไทยจะชนะคดี

รัฐบาลก็ต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น โดยการประชุมเมื่อวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมาก็ได้มีการประชุมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับว่าจากนี้ต่อไป โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม จะต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยเร็ว ทั้งนี้จะมีการตั้งทีมงานทำหน้าที่โฆษกชี้แจงข้อเท็จจริงกับประชาชนเพื่อป้องกันการเกิดความสับสน เหมือนอย่างที่มีการนำคำพูดของตนไปตีความ ซึ่งบ่ายวันเดียวกันนี้ (4 ม.ค) จะมีการประชุมคณะทำงานคณะใหญ่เรื่องการต่อสู้คดีเขาพระวิหารที่กระทรวงการต่างประเทศ ก็จะมีชี้แจงให้ทราบถึงแนวทางการสู้คดีว่าฝ่ายไทยมีนายวีระชัย เป็นหัวหน้าทีมทนาย ส่วนฝ่ายกัมพูชานั้นมีนายฮอ นัม ฮง รมว.ต่างประเทศ เป็นหัวหน้าทีม ซึ่งทำมาตั้งแต่เริ่มต้นและตนไม่จำเป็นต้องไปนั่งเป็นหัวหน้าทีม  แต่มีคนไปวิจารณ์ว่าตนทิ้งหน้าที่ซึ่งเป็นคนละเรื่องเพราะคนที่จะเป็นหัวหน้าทีมต้องเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย

“ซึ่งบ่ายวันเดียวกันนี้ (4 ม.ค.) กระทรวงการต่างประเทศจะสรุปแนวทางการต่อสู้ในคดี  และผลลัพธ์สุดท้ายก็จะมี 2 ประเด็น คือ แพ้คดี หรือ กลับไปอยู่ที่จุดเดิมเมื่อปี 2505  แต่ไม่อยากให้สังคมเข้าใจผิดและมากล่าวหาว่าผมยอมแพ้ให้กัมพูชา ซึ่งไม่เป็นความจริง ที่ผ่านมาก็ต่อสู้อย่างเต็มที่  และหากไทยไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลโลกกรณีที่เราแพ้คดีนั้น ไทยก็อาจถูกมาตรการคว่ำบาตร(แซงชั่น) จากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็เป็นได้ รวมถึงอาจต้องเจอกับปัญหาอื่นๆอีกมาก เรื่องนี้จะมีการชี้แจงให้สังคมไทยรับรู้ร่วมกัน รวมทั้งตัดสินใจว่าประเทศไทยจะเดินหน้าอย่างไรในเรื่องดังกล่าว” นายสุรพงษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมเรามีทางเลือกแค่แพ้คดี กับ กลับไปสู่จุดเดิมเมื่อปี 2505 นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เป็นผลลัพธ์สุดท้ายคือเสมอตัว หรือไม่ก็แพ้คดี  ไม่ใช่ว่าถ้าเราชนะคดีแล้วเราจะได้เขาพระวิหารคืน เพราะปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชาตั้งแต่ปี 2505 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัช เป็นนายกฯ แล้ว  การจะไปเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมาเป็นของไทยนั้นไม่ได้แล้ว และพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรนั้น ก็เป็นพื้นที่ทับซ้อนมาตั้งแต่ปี 2505 ถ้าผลการตัดสินกลับไปเหมือนเดิมคือศาลไม่วินิจฉัยเรื่องเขตแดน พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรก็ยังคงเป็นพื้นที่ทับซ้อนเหมือนเดิม ซึ่งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เขาไม่เห็นด้วยมาตลอดไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไรอยู่แล้ว  ครั้งที่แล้วเกิดปัญหาก็เพราะ พธม.ปลุกระดมคนออกมาต่อต้านประท้วง จนเกิดปัญหา และทำจนกระทั่งล้มรัฐบาลได้ แต่ครั้งนี้เราจะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นมาอีก

ต่อข้อถามว่าหากศาลตัดสินพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรตกเป็นของกัมพูชาจริง ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบระหว่างรัฐบาลชุดปัจจุบัน รัฐบาลชุดที่ผ่านมา หรือกลุ่ม พธม. นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หากศาลวินิจฉัยเป็นไปตามที่กัมพูชาร้องขอ ก็ต้องกลับมาถามคนไทยว่าเราจะยอมรับคำวินิจฉัยศาลหรือไม่ แล้วถ้าไม่ยอมรับอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยบ้างก็จะมีการชี้แจงให้ทราบอีกครั้งในบ่ายวันเดียวกันนี้ โดยเราต้องตัดสินใจร่วมกันแต่ไม่ใช่การโยนหินถามทาง แต่เราต้องชี้แจงให้เกิดความเข้าใจร่วมกันก่อน

เมื่อถามว่าทำไมไทยไม่ใช้มาตรการเชิงรุก หรือขอความร่วมมือจากมิตรประเทศ มากกว่าการนิ่งเฉยเหมือนในปัจจุบัน รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ขั้นตอนทุกอย่างอยู่ในชั้นศาลเป็นการต่อสู้ทางคดีความ ไทนและกัมพูชามีการหารือกันมาตลอดเพื่อให้เกิดความสงบขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็ไม่มีการปะทะกันอยู่แล้วในบริเวณพื้นที่โดยรอบพระวิหารหรือในพื้นที่ 17 ตารางกิโลเมตร แต่ขั้นตอนในชั้นศาลกัมพูชาได้ร้องขอให้มีการตีความเรื่องของเขตแดน เมื่อปี 2505 ด้วย ซึ่งฝ่ายไทยก็ได้มีการต่อสู้ในทุกรูปแบบแล้วตามที่คณะทำงานทั้ง 3 คณะ คือทีมทนาย ทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และคณะทำงานชุดใหญ่ ให้คำแนะนำ แต่มีนักวิชาการบางคนไม่เข้าใจ เหมือนที่ฝ่ายค้านพยายามค้านทุกเรื่อง

“ปัญหาที่เกิดขึ้นถ้ารัฐบาลในขณะนั้นคือพรรคประชาธิปัตย์สามารถมีความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ไปเที่ยวทะเลาะกับกัมพูชาปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น สมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ก็เคยบอกกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าถ้าขณะนั้นเป็นรัฐบาลชุดปัจจุบันปัญหาก็ไม่มีทางเกิดขั้น นายกรัฐมนตรี พยายามใช้ความสัมพันธ์ที่ดีพูดตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งแล้วว่าอยากให้มีการถอนเรื่องดังกล่าวออกไป แต่ทางกัมพูชาเขาก็บอกว่าอยากเห็นคดีความเป็นไปตามรูปคดี เพื่อที่เขาจะได้มีคำตอบให้สังคมของกัมพูชาด้วยเช่นกัน และเรื่องอยู่ในชั้นศาลตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วพวกผมเข้ามาทีหลังอย่ามาโยนภาระว่าเป็นเพราะพวกผม ยืนยันว่าถ้าพวกผมเป็นรัฐบาลในขณะนั้นไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นแน่นอน” นายสุรพงษ์ กล่าว

เมื่อถามว่าจุดยืนของรัฐบาลยังเหมือนกับกองทัพหรือไม่ที่จะไม่ยอมเสียดินแดนไทยให้กับใคร นายสุรพงษ์ กล่าวยืนยันว่า ตนก็ไม่ต้องการให้ไทยเสียดินแดน ทหารว่าอย่างไรรัฐบาลก็ว่าอย่างนั้น เพราะวันนี้รัฐบาลกับกองทัพนั้นเป็นเอกภาพไปไหนไปด้วยกัน ไม่มีความคิดที่แตกต่างเราอยู่ได้ด้วยเหตุผลข้อเท็จจริง วันนี้ไม่อยากเห็นสังคมไทยถูกบิดเบือนจากปากคนไม่กี่ปากและเป็นปากที่พูดไม่เป็นความจริงด้วย


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์