ค่าจ้าง300บาททั่วประเทศ

ค่าจ้าง300บาททั่วประเทศ


ค่าจ้าง300บาททั่วประเทศ

ค่าจ้าง300บาททั่วประเทศ กระตุกนายจ้าง-แรงงานเตรียมเข้าสู่เออีซี : เรื่อง/ภาพ ธรรมรัช กิจฉลอง /สมภพ ศีลบุตร

เริ่มต้นปีมะเส็ง วันที่ 1 มกราคม 2556 แรงงานไทยได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทครบ 77 จังหวัด โดยคาดว่ามีแรงงานในสถานประกอบการต่างๆ ที่ได้รับอานิสงส์จากนโยบายนี้ไม่เกิน 6.9 ล้านคน ทำให้นโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย (พท.) ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกิดผลเป็นรูปธรรม แม้จะล่าช้าไปกว่าที่เคยได้ประกาศหาเสียงไว้ 1 ปีก็ตาม


เนื่องจากคณะกรรมการค่าจ้างมีมติเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ใน 77 จังหวัดโดยเริ่มนำร่อง 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี และภูเก็ต มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 อีก 70 จังหวัดให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ทำให้มีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยประมาณกว่า 3,800-5,000 ล้านบาท

“นโยบายปรับขึ้นค่าจ้างของรัฐบาลมุ่งยกระดับรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงาน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพราะทุกวันนี้แรงงานทุกจังหวัดต้องซื้อไข่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หนังสือพิมพ์ราคาเท่ากัน แต่ค่าจ้างกลับไม่เท่ากัน” นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อธิบายเป้าหมายนโยบายค่าจ้าง 300 บาท

หากมองเผินๆ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ก็คงเป็นแค่การที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ แต่ถ้ามองในมุมเศรษฐศาสตร์แล้ว การปรับขึ้นค่าจ้างให้เหมาะสมกับ ”ผลิตภาพแรงงาน” นั้น เป็นสิ่งที่ควรดำเนินการมานานแล้ว

ดร.สมศจี ศิกษมัต ผอ.สำนักสถิติ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) บอกถึงผลการศึกษาผลกระทบการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้าง ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยเกิดอาการช็อกครั้งใหญ่ เนื่องจาก 15 ปีที่ผ่านมาระบบเศรษฐกิจไทยกดค่าจ้างไว้ให้ต่ำมาโดยตลอดเพื่อลดต้นทุนการผลิตสินค้าส่งออกต่างประเทศ

ช่วงหลายปีนี้ผลิตภาพแรงงานของแรงงานไทยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3-4 แต่แรงงานไทยกลับได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผลิตภาพแรงงาน โดยในปี 2554 ค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 176 บาท แต่ค่าจ้างที่เหมาะสมกับผลิตภาพแรงงานควรอยู่ที่วันละ 211 บาท

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานได้คำนวณว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดในช่วงปี 2555-2556 โดยภาพรวมค่าจ้างปรับเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50-70 เช่น ค่าจ้าง จ.พะเยา ซึ่งต่ำสุดในประเทศ เดิมปี 2554 อยู่ที่วันละ 159 บาท เดือนเมษายน 2555 เพิ่มเป็นวันละ 222 บาท และเดือนมกราคม 2556 เพิ่มเป็นวันละ 300 บาท

หลายหน่วยงานได้ออกมาคาดการณ์ถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น สิ่งทอ รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า รวมไปถึงธุรกิจเอสเอ็มอี เช่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีอยู่กว่า 2.3 ล้านรายจะได้รับผลกระทบและทำให้แรงงานตกงานอยู่ที่ 2.6-3.4 แสนคน ซึ่งรัฐบาลก็ได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือภาคธุรกิจแล้ว 11 มาตรการ เช่น การลดภาษีนิติบุคคล การปล่อยสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้าง และเตรียมคลอดมาตรการเพิ่มเติมเกือบ 10 มาตรการในช่วงเดือนมกราคมนี้

มองไปทางฝั่งแรงงานครั้งที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างเริ่มนำร่อง 7 จังหวัดในเดือนเมษายน 2555 นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) บอกว่า เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลค่าใช้จ่ายรายคนในช่วงเดือนสิงหาคม 2554 กับเดือนพฤษภาคม 2555 ใน 8 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ อ่างทอง ปราจีนบุรีพบว่า ค่าใช้จ่ายรายวันในปี 2554 คิดเป็นรายคนเท่ากับ 348.39 บาทต่อวัน ส่วนปี 2555 คิดเป็นรายคนเท่ากับ 462.31 บาทต่อวัน เพิ่มขึ้น 113.92 บาทต่อวัน และแรงงานมีหนี้สินเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 30-40% โดยเป็นหนี้กู้เงินนอกระบบมากที่สุด

“แรงงานต่างคาดหวังว่าจะนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นนำมาชำระหนี้ให้ลดลง แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะต้องนำเงินมาจ่ายค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคได้ หากจะให้แรงงานเลี้ยงตัวเองและครอบครัวอีก 2 คนได้ ตามหลักองค์การแรงงานระหว่างประเทศไทย (ไอแอลโอ) จะต้องปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 561 บาทต่อคน” ประธาน คสรท.สะท้อนผลการปรับขึ้นค่าจ้าง

หากมองเชิงลบทั้งนายจ้างและแรงงานต่างฝ่ายเสมอตัว แต่ถ้ามองแง่บวกการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ก็เปรียบเสมือนตะแกรงช่วยคัดกรองสถานประกอบการที่เข้มแข็งและแรงงานที่มีคุณภาพโดยทางอ้อม รวมทั้งช่วยกระตุ้นให้สถานประกอบการและแรงงานปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558

ผลการศึกษาผลกระทบการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทของ ธปท.ได้แนะมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ คือ “การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน” ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 4 ให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละร้อยละ 8 พร้อมกับเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษ ไอที คณิตศาสตร์ และความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าโดยรวมอย่างน้อยปีละร้อยละ 2.5 เพื่อให้สอดคล้องผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่ง ธปท.คาดการณ์ว่า จีดีพีในปี 2556 จะอยู่ที่ร้อยละ 5.7 และปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 4.6 และมีมาตรการช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น การส่งเสริมการนำเข้าเครื่องจักรทันสมัยมาใช้ในการผลิตและขยายตลาดขายสินค้าทั้งในและต่างประเทศ

“ควรปรับโครงสร้างค่าจ้างให้เหมาะสมกับผลิตภาพแรงงาน ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ หากไทยต้องการขยับจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางมาเป็นรายได้สูง หน่วยงานรัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิต” ดร.สมศจี แนะทิ้งท้าย

ทว่าในความเป็นจริง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงาได้รับงบปี 2556 มากกว่า 2,000 ล้านบาท และได้จัดงบมาใช้พัฒนาฝีมือแรงงานกว่า 400 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายจะพัฒนาแรงงานไทยให้ได้ 2.5 หมื่นคน ขณะที่แรงงานไทยในปัจจุบันมีอยู่กว่า 10 ล้านคน และเมื่อปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทแล้ว สถานประกอบการย่อมต้องให้แรงงานทำงานหนักขึ้น แต่ละสัปดาห์แทบไม่มีวันหยุดและไม่มีเวลาอบรมพัฒนาฝีมือ

หากยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ทั้งรัฐบาลและภาคธุรกิจคงต้องย้อนถามตัวเองว่า ได้อะไรกลับมาบ้างจากนโยบายค่าจ้าง 300 บาท และถึงเวลาหรือยังที่จะผนึกกำลังกันวิเคราะห์ วางแผนพัฒนาศักยภาพการผลิตของสถานประกอบการและพัฒนาแรงงานไทย รวมทั้งทุ่มงบสนับสนุนอย่างจริงจังเพื่อให้เกิด ”แรงงานคุณภาพ” และ ”สินค้าคุณภาพ” สามารถแข่งขันในเวทีเออีซีได้


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์