ผู้ดีส่งเจ้าชายแฮร์รีร่วมรบสมรภูมิอิรัก

นายเดส บราวน์ รมว.กลาโหมอังกฤษ ได้


แถลงรายละเอียดการส่งทหารชุดล่าสุดที่จะเข้าประจำการในอิรักต่อรัฐสภาในวันพฤหัสบดี (22 ก.พ.) พร้อมระบุว่าเจ้าชายแฮร์รี รัชทายาทลำดับที่ 3 แห่งราชวงศ์อังกฤษ จะได้ร่วมรบในสมรภูมิอิรักร่วมกับบลูส์และรอยัลส์ หน่วยทหารที่พระองค์สังกัดในเดือน พ.ค.และ มิ.ย.นี้ โดยจะปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 6-7 เดือน

ทำให้เจ้าชายแฮร์รี

เป็นสมาชิกราชวงศ์อังกฤษพระองค์แรกในรอบ 25 ปีที่ได้ร่วมรบในสงคราม สมาชิกราชวงศ์เมืองผู้ดีองค์ล่าสุดที่ร่วมรบในสงคราม คือเจ้าชายแอนดรูว์ พระปิตุลาของเจ้าชายแฮร์รี เมื่อปี 2525 ในสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์



ด้านปฏิกิริยาต่างๆหลังนายกฯโทนี แบลร์


ของอังกฤษประกาศถอนทหารจากอิรักจำนวนเกือบ 1 ใน 4 จากทั้ง หมดที่ประจำการอยู่ 7,100 นาย ภายในไม่กี่เดือนนี้นั้น ซีกตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯรวมทั้งรองประธานาธิบดี ดิ๊ก เชนีย์ ระบุว่าเป็นสัญญาณบวกที่บ่งชี้ว่าสถานการณ์ในอิรักกำลังดีขึ้น

แต่ก็มีความเห็นตรงข้ามจากฝ่ายค้าน

นายแฮร์รี รีด ผู้นำเสียงข้างมากพรรคเดโมแครตในวุฒิสภา กล่าวว่า อังกฤษยอมรับความจริงที่ซึ่งประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ยังไม่ยอมรับ ส่วนนางแนนซี เปโลซี ประธานรัฐสภาสหรัฐฯ ตั้งคำถามขึ้นว่าเหตุใดจึงมีการส่งทหารอเมริกันเข้าไปในอิรัก ณ เวลาเดียวกับที่อังกฤษกำลังมีแผนส่งทหารกลับบ้าน

ส่วนที่อังกฤษ นายเดวิด คาเมรอน ผู้นำพรรคฝ่ายค้านเมืองผู้ดี กล่าว


ยินดีต่อประกาศดังกล่าว ลินด์เซย์ เจอร์มัน จากกลุ่มพันธมิตรฝ่ายซ้ายรณรงค์เพื่อยุติสงคราม เผยว่า จำนวนทหารที่จะถอนจากอิรักน้อยและช้าเกินไป เคต ฮัดสัน ประธานกลุ่มรณรงค์ปลดอาวุธนิวเคลียร์ เรียกร้องให้นายแบลร์ถอนทหารจากอิรักแบบไม่มีเงื่อนไขและโดยเร็ว ขณะที่สื่อหลายฉบับของอังกฤษระบุการถอนทหารเป็นข่าวดีที่หลายคนรู้สึกผ่อนคลาย แต่ก็ระบุว่าเป็นความพ่ายแพ้ของนายแบลร์ที่สนับสนุนสงครามบุกอิรักมาตลอด


นักวิเคราะห์หลายคนระบุว่า


การถอนทหารอังกฤษจากภาคใต้อิรักไม่เพียงแต่มีผลต่อรัฐบาลสหรัฐฯเท่านั้น แต่ยังทำให้พื้นที่ส่วนหนึ่งของอิรักเกิดความคลุมเครือด้วย นอรา เบนซาเฮล ผู้เชี่ยวชาญด้านก่อการร้ายจากสถาบันแรนด์ คอร์ป เห็นว่าแม้เหตุรุนแรงในภาคใต้อิรักจะอยู่ในขั้นที่จัดการได้ แต่คาดว่าสถานการณ์ด้านความมั่นคงจะเลวร้ายลงเมื่อไม่มีทหารอังกฤษ

ไมเคิล โอฮันลอน ผู้เชี่ยวชาญด้านทหารที่สถาบันบรูกกิ้งส์ เผยว่า


การลดทหารผู้ดีในภาคใต้อิรักเป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพราะมีความรุนแรงน้อยกว่าพื้นที่อื่น แต่จัสติน โลแกน นักวิเคราะห์ที่ศูนย์วิจัยคาโต อินสติติวชั่น เตือนอาจทำให้กองกำลังก่อเหตุแย่งชิงกันเป็นใหญ่ในพื้นที่ได้.


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์