7จังหวัดภาคอีสานแล้งหนัก!

ภาพจาก คมชัดลึกภาพจาก คมชัดลึก


แล้งหนัก! ปภ.ประกาศให้ 7 จังหวัดภาคอีสาน เป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน หลังฝนทิ้งช่วง ขณะที่หลายจังหวัดเริ่มขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง
                         
5 พ.ย.55 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยสถานการณ์ภัยแล้งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2555 จนถึงปัจจุบันมี 9 จังหวัด 64 อำเภอ 435 ตำบล 4,467 หมู่บ้าน ประกอบด้วย จ.กาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู มุกดาหาร อำนาจเจริญ และมหาสารคาม โดยขณะนี้ได้ประกาศให้พื้นที่บางแห่งเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ฝนทิ้งช่วง) 7 จังหวัด 52 อำเภอ 338 ตำบล 3,349 หมู่บ้าน ได้แก่ จ.กาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู และมุกดาหาร

นครราชสีมา - ชาวนาโอดครวญข้าวลีบจากภัยแล้ง
                         
ชาวนาในพื้นที่ อ.โนนสูง และ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ต่างพากันจ้างรถเกี่ยวข้าว เข้ามาเก็บเกี่ยวผลผลิตในที่นาของตน และนำมาตากบนลานกว้างหน้าบ้าน เพื่อไล่ความชื้นออก และเตรียมนำไปเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ตามนโยบายของรัฐบาล โดยนายบุญร่วม สันกลาง ชาวบ้านดอนขวาง หมู่ 8 ต.บิง อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ปีนี้นาข้าวในพื้นที่อำเภอโนนสูง ไม่ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากช่วงฤดูทำนาประมาณเดือนสิงหาคม เจอสภาวะฝนทิ้งช่วงนาน เพิ่มจะมีฝนตกมาช่วงฤดูเก็บเกี่ยว จึงทำให้รวงข้าวไม่สมบูรณ์ เมล็ดลีบ และต้นข้าวแห้งตายไปบางส่วน เช่นนาของตนที่ปลูกข้าวหอมมะลิทั้งหมด 30 ไร่ ได้รับความเสียหายไปกว่าครึ่ง จากเดิมที่เคยได้ข้าวกว่า 400 กระสอบ ปีนี้ได้เพียง 100 กระสอบเท่านั้น และแล้วที่ได้ก็มีเมล็ดลีบอีก เมื่อนำไปเข้าร่วมโครงการรับจำนำ ก็จะโดนหักสิ่งเจือปนออก จึงทำให้ไม่ได้ราคาเท่าที่ควร ทั้งนี้ตนเป็นหนี้ ธกส.อยู่ประมาณ 7 หมื่นบาท ปีนี้ก็คงจะมีเงินไปใช้แค่ครึ่งเดียวก่อน ที่เหลือก็จะแก้ปัญหาด้วยการตัดดอกเบี้ยแทน ซึ่งผลผลิตปีนี้ถือว่าแย่กว่าทุกปี นายบุญ ร่วมกล่าว
                        
ในขณะเดียวกันที่โรงสีพิมายการเกษตร ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา วันนี้ (5 พ.ย. 55) ก็ยังคงมีเกษตรกรนำข้าวเปลือกมาจำนำเพียงวันละ 5 - 6 รายเท่านั้น โดยนายอุดม ศรีตระกูล เจ้าของโรงสีพิมายการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเกษตรกรนำข้าวเข้าร่วมโครงการเพียง 700 ตันเท่านั้น ซึ่งถือว่ายังไม่มากนัก แต่ช่วงนี้เกษตรกรในอำเภอพิมายส่วนใหญ่ กำลังเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตอยู่ โดยจะนำข้าวไปตากไล่ความชื้นประมาณ 4 - 5 วันก่อน จึงคาดว่าสัปดาห์หน้า จะมีเกษตรกรนำข้าวมาจำนำเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งปีที่ผ่านมาโรงสีของตนรับจำนำข้าวทั้งหมดกว่า 15,000 ตัน ดังนั้นช่วงนี้จึงได้จัดเตรียมความพร้อมของเจ้าเจ้าหน้าที่ประจำจุดรับจำนำทั้ง 9 คน ซึ่งประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ตัวแทนเกษตกร 3 คน นักวิชาการเกษตร 2 คน ตัวแทน อคส. 1 คน และเจ้าหน้าที่ออกใบประทวน 1 คน
                         
ด้านนางสาวพัตถาภรณ์ ไชยานุพงศ์ การค้าภายในจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการรรับจำนำข้าวเปลือก ของจังหวัดนครราชสีมา ได้เปิดจุดรับจำนำเพิ่มขึ้นเป็น 31 จุด จากทั้งหมด 43 จุด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 12 อำเภอ มีเกษตรกรนำข้าวมาจำนำแล้วประมาณ 4,300 ตัน และคาดว่าในสัปดาห์นี้จะสามารถเปิดจุดรับจำนำข้าวเปลือกได้ครบทั้ง 43 จุด ใน 20 อำเภอ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกรส่วนใหญ่ ซึ่งวันพรุ่งนี้ (6 พ.ย. 55) เวลา 09.00 น. ทางจังหวัดนครราชสีมา จะประชุมชี้แจงระเบียบต่างๆ ของโครงการฯ ให้เกษตรกรทราบอย่างถูกต้อง ที่บริเวณหอประชุมที่ว่าการอำเภอปักธงชัยเป็นแห่งแรก หลังจากนั้นก็จะเดินสายชี้แจงให้ครบทั้ง 32 อำเภอ เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ และเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตด้วย
 
พิจิตรแล้งหนัก! ชาวบ้านหันมาปลูกแตงไทย
                         
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนาในพื้นที่ตำบลหนองโสน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร เปลี่ยนมาปลูกแตงไทย แทนการทำนาหลังจากประสบปัญหาภัยแล้งขาดน้ำในการทำนา โดยเกษตรกรเปลี่ยนพื้นที่ซึ่งเคยทำนา มาปลูกแตงไทยซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าการทำนา 2-3 เท่า โดยเกษตรกรใช้การเดินท่อระบบน้ำหยดเป็นการประหยัดน้ำเป็นการปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาเนื่องจากเกษตรกรเกรงว่าปีนี้จะแล้งจัด เนื่องจากขณะนี้แม้จะเพียงย่างเข้าเดือนพฤศจิกายนพื้นที่เริ่มประสบปัญหาภัยแล้งผิดกับทุกปีที่จะเริ่มประสบปัญหาในช่วงต้นปี
                         
สำหรับการปลูกแตงไทย นับว่าเป็นการสร้างรายได้งามเนื่องจากใช้เวลาเพียง2 เดือนก็สามารถเก็บผลผลิตขายได้ โดยรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ไร่ล่ะ 20,000 บาท มีพ่อค้าเดินทางมารับซื้อถึงที่ การปลูกแตงไทย จึงสามารถสร้างรายได้งามให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งได้เป็นอย่างดี
 
อุตรดิตถ์ - เกษตรกรสูบน้ำบาดาลปลูกข้าวโพด
                         
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกษตรกรปลูกข้าวโพดอ่อนตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ต้องใช้เครื่องสูบน้ำสูบน้ำจากบ่อบาดาลที่เจาะไว้ เพื่อนำน้ำมารดหน้าดินให้เดินความชุ่มชื้นก่อนนำเมล็ดข้าวโพดอ่อนลงปลูก หลังฝนทิ้งช่วง แหล่งน้ำแห้งขอด น้ำไม่เพียงพอที่จะใช้ปลูกข้าวโพด ซึ่งถือว่าภัยแล้งปีนี้มาเร็วและวิกฤติกว่าทุกที่ปีที่ผ่านมา
                         
นางรำพึง มาทำมา เกษตรกรปลูกข้าวโพดอ่อนตำบลคุ้งตะเภา กล่าวว่า ภัยแล้งที่มาเร็วกว่าทุกปี ส่งผลให้แหล่งน้ำแห้งขอด ไม่มีน้ำใช้เพื่อนการเกษตร แม้จะเลือกปลูกพืชอายุสั้น อย่างข้าวโพดอ่อนที่ 2 เดือนก็สามารถเก็บฝักอ่อนส่งขาย แต่ไม่มีน้ำตั้งแต่เริ่มปลูก จำเป็นต้องเพิ่มต้นทุนในการผลิต ด้วยการเจาะบ่อบาดาล เพื่อสูบน้ำใต้ดินมารดแปลง ตั้งแต่ขั้นตอนการลงเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ดินชุ่มชื่น เมล็ดข้าวโพดจะได้งอก นอกจากนี้ต้องสูบน้ำจากบ่อบาดาลทุก 3 วันมารดแปลงข้าวโพดอ่อน เป็นช่วงที่ต้องการน้ำในการเจริญเติบโต เพื่อจะได้เก็บผลผลิตข้าวโพดขายเป็นรายได้ช่วงหน้าแล้ง หลังไม่สามารถทำนาปรังรอบ 2 ได้ เพราะน้ำไม่เพียงพอ
                         
นายสุรชัย ธัชกวิน ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า จังหวัดอุตรดิตถ์ เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมาปีนี้คาดว่าจะแล้งมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ร้อยละ 68.99% หรือ 6,560 ล้าน ลบ.เมตร แต่เป็นน้ำที่สามารถใช้งานได้เพียงร้อยละ 55 หรือ 3,710 ล้าน ลบ.เมตรเท่านั้น แตกต่างจากปีที่ผ่านมาที่เขื่อนสิริกิติ์สามารถเก็บกักน้ำได้ในช่วงเวลาเดียวกันสูงถึงร้อยละ 99.70 หรือ 9,486 ล้าน ลบ.เมตร
                         
ทั้งนี้เขื่อนสิริกิติ์ได้ระบายน้ำตามแผนจากมติที่ประชุมของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ซึ่งเป็นการระบายตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งต้องการกักเก็บน้ำในเขื่อน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้ง วันละ 10-12 ล้าน ลบ.เมตร  อย่างไรก็ตาม ได้ประสานไปยังอำเภอและ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่จะทำนาปรังก็ควรงด และหันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยทดแทน และเร่งสำรวจผลกระทบความเดือนร้อน เพื่อเตรียมประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้งต่อไป
 
อ่างทองน้ำเจ้าพระยาลด-ปลากระชังทยอยตาย
                         
ที่บริเวณสะพานป่าโมกข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ ม. 6 ต. บางปลากด อ. ป่าโมก จ. อ่างทอง ผู้สื่อข่าวพบนางทองหล่อ ช. เจริญยิ่ง อายุ 72 ปี อยู่บ้านเลขที่ 65/2 ม. 6 ต. บางปลากด จ. อ่างทอง เกษตรกรเลี้ยงปลากระชังอยู่จำนวน 40 กระชังกระชังละ 1,500 ตัว ซึ่งกำลังให้ลูกชายไปเก็บปลาทับทิบที่ทยอยตายจากกระชังนำขึ้นไว้โดยช่วงเช้ามีปลาทับทิมตายประมาณ 100 กิโลกรัม โดยปลาทับทิมจะทยอยตายทั้งวันโดยเฉลี่ยวันละ 300-400 กิโลกรัมสาเหตุมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงอย่างรวดเร็วจนน้ำขาดออกซิเจนจึงทำให้ปลาทยอยตายลงอย่างต่อเนื่อง
                         
นางทองหล่อ กล่าวว่า ตนเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังมา 6 ปีแล้ว ไม่เคยเห็นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงอย่างรวดเร็วแบบปีนี้ที่ปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงเดือนเดียวเหลือ 3 เมตรเหมือนหน้าแล้งเดือนเมษายนเลย ซึ่งส่งผลกระทบกับปลาทับทิมที่ตนเลี้ยงอยู่ 40 กระชังๆละ 1,500 ตัว หลังจากน้ำลดลงปลาทับทิมที่จะจับในสัปดาห์หน้าต่างทยอยตายมาเป็นเดือนแล้ว โดยเฉลี่ยวันละ 300-400 กิโลกรัม ซึ่งต้องขาดทุนอย่างแน่นนอนเพราะตนเองไม่ทราบว่าน้ำจะลดลงอย่างรวดเร็วแบบนี้ ซึ่งถ้าจับปลาทับทิมหมดแล้วคงไม่เลี้ยงปลาทับทิมจนกว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะสูงขึ้นก่อนเพราะขาดทุนจนเข็ดแล้ว
 
ขอนแก่น - สวนสัตว์เขาสวนกวางเตรียมน้ำรับมือแล้ง
                         
นายเทวินทร์ รัตนะวงสะวัต ผอ.สวนสัตว์เขาสวนกวางเปิดเผยว่า สวนสัตว์ปะสบปัญหาภัยแล้งเนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขา โดยเฉพาะปีนี้ค่อนข้างจะแล้งมากเป็นพิเศษแต่ ทางเราได้มีการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการบริการภายในสวนสัตว์อย่างเต็มที่ โดยตอนนี้มีอ่างเก็บน้ำ 2 อ่าง ขนาดความจุดรวมกันกว่า 2 แสนคิว นอกจากนี้ยังจัดทำแห่งน้ำบาดาลที่เจาะไว้ทั้งหมด 4 บ่อ ซึ่งตอนนี้ใช้ทุกวันอย่างน้อยวันละ 200 คิว
                         
ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่ไม่มากนักเนื่องจากปัจจุบันสวนสัตว์เขาสวนกวางยังเป็นสวนสัตว์ใหม่ ก่อตั้งยังไม่สมบูรณ์แบบ มีนักท่องเที่ยวยังไม่มากนัก ส่วนสัตว์ที่นำมาแสดงในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นสัตว์ทนความแห้งแล้งจากแอฟริกา อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีน้ำเต็มอ่างและน้ำบาดาลที่คาดว่าจะมีใช้ได้จนถึงหน้าฝนปีหน้า แต่เพื่อความไม่ประมาท ได้มีแผนสำรองถ้าเกิดขาดแคลนโดยเตรียมรถน้ำสำหรับนำน้ำจากแหล่งภายนอกมาเสริมอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ทางสวนสัตว์ได้มีการเตรียมที่จะจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมเพื่อรองรับอนาคต ที่จะมีการนำสัตว์มาแสดงเพิ่มอีกจำนวนมาก รองรับความเป็นอยู่ของพนักงาน และรองรับประชาชนที่จะเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ทีสำคัญเป็นการปรับภูมิทัศน์ภายในสวนสัตว์เองด้วย
                         
นายเทวินทร์ กล่าวว่า ตอนนี้หลีกเลี่ยงการนำสัตว์ที่ต้องการน้ำเป็นพิเศษมาแสดงโดยเฉพาะฮิปโป ที่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก ต้องเปลี่ยนน้ำสัปดาห์ละ 3 ครั้ง แต่ละครั้งต้องใช้น้ำอย่างน้อย 200 คิว ตามกำหนดเดิมจะต้องนำเข้าในช่วงปลายปีนี้แต่ต้องเลื่อนออกไปก่อนเพื่อให้สถานการณ์พร้อมกว่านี้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสัตว์อีกจำนวนมากที่จะนำเข้ามาจะสามารถนำเข้ามาได้ทันที่จะเปิดบริการเต็มตัว ซึ่งขณะนี้ทางสวนสัตว์ได้ดำเนินการก่อสร้างสถานที่ทั้งงานส่วนแสดงและโซนการศึกษา คืบหน้าไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มั่นใจว่าจะสามารถเปิดบริการเต็มรูปแบบตามกำหนดคือวันที่ 12 สิงหาคม 2556 อย่างแน่นอน
                        
 สำหรับสวนสัตว์เขาสวนกวางเป็นอุทยานสัตว์ป่าอีสานตอนบน รูปแบบสวนสัตว์เปิด เนื้อที่กว่า 3,300 ไร่ครอบคลุมพื้นที่อุทยาน 2 จังหวัดขอนแก่นและอุดรธานี โดยการผลักดันของนายสุวิทย์ คุณกิตติ ตามแผนมีงบประมาณสูงกว่า 3,300 ล้านบาท เริ่มก่อสร้าง ปี 2552 โดยตามกำหนดจะแล้วเสร็จ ปี 2555 และเปิดให้บริการอย่างไม่เต็มรูปแบบมาตั้งแต่ปี 2553 นอกจากนี้ยังเป็นสวนสัตว์แห่งเดียวในประเทศไทยที่มีการก่อสร้างสกายวอล์คความสูง 18 เมตร เป็นพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมสัตว์ได้อย่างใกล้ชิด ในโซนการศึกษา ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการเฉลี่ยวันละ 200-300 คนและ 500-600 คนสำหรับวันหยุดนักขัตฤกษ์หรือวันเสาร์อาทิตย์
                         
นอกจากนี้ยังมีบ้านพัก เข้าค่ายสำคัญนักเรียนนักศึกษาซึ่งมีเข้ามาใช้บริการไม่น้อยกว่า 40,000 คน ส่วนสัตว์ที่มีอยู่ในสวนสัตว์ที่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว มียีราฟ จิงโจ้ ม้าลาย อูฐ ลา ล่อ และสัตว์ประเภทกวาง ซึ่งมีการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนมากบางชนิดมีมากกว่า 80 ตัวเช่นกวางซิกก้า นอกจากนี้ได้มีเตรียมกรงนกขนาดใหญ่ที่เริ่มปล่อยนกหลากชนิดแล้ว 300 ตัว และระยะต่อไปจะเริ่มนำเข้าสิงโตขาว 1 คู่ หมีควาย 8 ตัว เสือโคร่งขาว กวางดาว แรดขาว ฟามิงโก้ ที่จะตามแผนจะนำมาในช่วงปลายปี

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์