ไม่พบสารอันตรายเกินมาตรฐานเหตุไฟไหม้โรงกลั่นบางจาก

ไม่พบสารอันตรายเกินมาตรฐานเหตุไฟไหม้โรงกลั่นบางจาก

เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 4 ก.ค. นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีเหตุไฟไหม้โรงกลั่นน้ำมันบางจาก ซ.สุขุมวิท 64 เขตพระโขนง ว่า กรมควบคุมมลพิษได้ส่งเจ้าหน้าที่ 2 ชุดเข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดยมีความเป็นห่วงในเรื่องมลพิษอากาศและน้ำ เพราะโรงกลั่นตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาและมีชุมชนโดยรอบ  อาจจะมีน้ำมันไหลลงปนเปื้อนในแม่น้ำเจ้าพระยาได้  อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบไม่พบคราบน้ำมันไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ส่วนคุณภาพทางอากาศนั้นผลการตรวจวัดก็ไม่พบสารเคมีใดเกินค่าปฏิกิริยาตอบสนองในการป้องกันเหตุฉุกเฉิน
 
ทั้งนี้ในส่วนของโรงกลั่นน้ำมันเองก็มีเครื่องมือมาตรฐานในการตรวจวัดสารเคมีต่างๆ อยู่แล้ว โดยในช่วงเกิดเหตุระหว่าง 07.20-07.30 น. เครื่องมือตรวจสภาพอากาศของโรงกลั่นน้ำมันบางจากสามารถตรวจวัดค่าฝุ่นละอองในอากาศได้สูงสุด 71 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งค่ามาตรฐานอยู่ที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  ไนโตรเจนไดออกไซด์ 108 ppb (ส่วนในล้านส่วน) จากค่ามาตรฐาน 170 ppb และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 5 ppb จากค่ามาตรฐาน 120 ppb ซึ่งสารทั้งหมดต่ำกว่าค่ามาตรฐานมากและไม่เป็นอันตรายจนต้องมีการอพยพประชาชน อย่างไรก็ตามกรมควบคุมมลพิษยังจะเฝ้าระวังคุณภาพอากาศและมลพิษอื่นๆ ในพื้นที่เกิดเหตุต่อไปอีก 24 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

นายวรศาสน์ กล่าวว่า  สิ่งที่เรากังวลคือตัวซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้หากมีค่าสูง
 
และไปสัมผัสกับความชื้นในอากาศจะเกิดเป็นฝนกรดที่เข้มข้นได้ ทั้งนี้น้ำฝนในเขตอุตสาหกรรมบ้านเราค่าเฉลี่ยก็มีความเป็นกรดเล็กน้อยอยู่แล้วโดยมีค่าพีเอชประมาณ 4.5-5.6 อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัจจุบันเป็นช่วงต้นฤดูฝนที่ในเขตกทม.และปริมณฑลมีฝนตก 70 % ของพื้นที่เมื่อฝนตกลงมาก็จะช่วยให้สารเหล่านี้สลายตัวไปเร็วขึ้น อีกทั้งมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านด้วยความเร็ว 15-30 กม./ชั่วโมง ก็ยิ่งทำให้การสลายตัวของสารอันตรายเกิดเร็วขึ้น  นอกจากนั้นเรายังมีความเป็นห่วงในเรื่องสารอินทรีย์ระเหยง่ายจำพวกเบนซีนถ้าหากมาทำปฏิกิริยากับสารไนโตรเจนไดออกไซด์และแสงอาทิตย์จะเกิดเป็นสารโอโซนที่อันตรายต่อสุขภาพได้ แต่จากการตรวจวัดค่าสารเหล่านี้ก็ยังถือว่าอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์กำหนดค่าความเข้มข้นในการป้องกันเหตุฉุกเฉินกรณีการรั่วไหลของสารเคมีมาก

รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ยังกล่าวถึงแนวคิดในการย้ายโรงกลั่นน้ำมันออกจากย่านชุมชนว่า

เรื่องนี้ต้องดูกว่าโรงกลั่นน้ำมันหรือชุมชนเข้ามาอยู่ก่อนหรือหลัง และเป็นเรื่องยากที่จะย้ายโรงกลั่นน้ำมันมูลค่าหลายแสนล้านบาทออกไปจากพื้นที่  อย่างไรก็ตามเรื่องการอนุญาตให้ตั้งโรงกลั่นไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมควบคุมมลพิษ เรามีหน้าที่ดูว่าคุณภาพน้ำ อากาศ  และเสียงอยู่ในมาตรฐานและกระทบกับชุมชนหรือไม่  ปัจจุบันอุตสาหกรรมต่างๆ กับชุมชนอยู่ใกล้ชิดกันมากจนแยกไม่ออก ซึ่งข้อดีคือชุมชนจะเป็นฝ่ายรายงานให้เราทราบเมื่อเกิดความไม่ชอบมาพากลต่างๆ หากโรงงานอุตสาหกรรมไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม  ซึ่งแต่ละฝ่ายก็ต้องปรับตัวเข้าหากันและอยู่ร่วมกันให้ได้.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์