กล้วยไม้ ไม้เงินล้าน

กล้วยไม้เป็นไม้เศรษฐกิจอย่างหนึ่งที่ส่งออกทำรายได้เป็นอันดับต้น ๆ ให้กับเมืองไทย ไม่เพียงเท่านั้น แต่กล้วยไม้ยังสร้างความร่ำรวยให้กับคนปลูกมาจำนวนไม่น้อย พลิกชีวิตของชาวสวนจน ๆ ให้กลับกลายเป็นเศรษฐีเพียงข้ามวัน จนกลายเป็นเรื่องเล่าขานกันในวงการถึงคนโชคดีที่จับกล้วยไม้แล้วกลายเป็นเงินและสามารถขายกล้วยไม้ได้ถึงต้นละ 2 ล้านบาทเมื่อ 30 กว่าปีก่อน



ยุคแรกของกล้วยไม้เมืองไทย


กล้วยไม้มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ของโลก สำหรับเมืองไทยนั้นมีการสำรวจว่ามีกล้วยไม้กว่า 1,000 ชนิด แต่คนไทยเพิ่งจะมารู้จักการเล่นกล้วยไม้อย่างจริงจังและเป็นอาชีพเมื่อ 50 กว่าปีมานี้เอง

แต่เดิมนั้นการเลี้ยงกล้วยไม้ในเมืองไทยจะอยู่เฉพาะในหมู่เชื้อพระวงศ์ซึ่งเล่นกันเป็นงานอดิเรก โดยส่วนมากจะเป็นการสั่งซื้อกล้วยไม้พันธุ์พ่อแม่จากประเทศอังกฤษมาปลูกเลี้ยงกัน ซึ่งกล้วยไม้ที่นิยมเล่นกันในยุคแรกจะเป็นแคทรียาและแวนด้า

ที่รู้จักกันดีคือวังบางขุนพรหมของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตที่ทรงเล่นเป็นงานอดิเรกอย่างจริงจัง โดยสมัยรัชกาลที่ 6 นั้น วังบางขุนพรหมจะสร้างเรือนกล้วยไม้ขนาดใหญ่ขึ้น 2 หลัง นอกจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ แล้วยังมีก๊วนที่ชอบเล่นกล้วยไม้อีก อาทิ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ , พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช , หม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถสุประดิษฐ์ เป็นต้น

ในยุคนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ ทรงสนใจเรื่องกล้วยไม้มากจนทรงแต่งตำรากล้วยไม้เล่มแรกของไทย ตีพิมพ์เมื่อปี 2459 โดยทรงศึกษาตำรากล้วยไม้ของฝรั่งที่ได้ประทานจากกรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ

ในภายหลังกล้วยไม้เริ่มจะแพร่ขยายออกจากวังไปอยู่บ้านของเศรษฐีที่มีเงิน โดยถือว่าเป็นไม้มงคลหรือไม้ศักดินา เนื่องจากกล้วยไม้ในยุคนั้นยังมีราคาแพงและต้องนำเข้ามาจากเมืองนอกเท่านั้น


ยุค "มือสมัครเล่น"


ในปี 2478 เริ่มมีการเปิดฝึกอบรมการเลี้ยงกล้วยไม้ให้กับประชาชนทั่วไป และมีการจัดตั้งชมรมกล้วยไม้ขึ้นในปี 2498 ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมาคมกล้วยไม้เมื่อปี 2500 ซึ่งถือเป็นยุคเริ่มแรกของ "มือสมัครเล่น " กลุ่มใหม่ที่เปลี่ยนโฉมหน้าจากเดิมที่ต้องเป็นคนมีเงินเท่านั้นจึงจะเล่นกล้วยไม้ได้

"มือสมัครเล่น"ในยุคแรก ๆ นั้นสนใจที่จะเล่นกล้วยไม้เพื่อเป็นงานอดิเรกถือเป็นความสุขทางใจ กิจกรรมหนึ่งของสมาคมฯคือการจัดการประกวดกล้วยไม้ประจำปีขึ้นซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจากบรรดามือสมัครเล่นทั้งหลาย

ไกรฤทธิ์ เวศย์วรุตม์ นายกสมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยฯ เขาใช้ชีวิตกับกล้วยไม้มากว่า 30 ปี จนปัจจุบันมีสวนกล้วยไม้ของตนเองในย่านนครชัยศรี ชื่อ LAKE LAND ORCHID ไกรฤทธิ์ได้เล่าย้อนประสบการณ์เกี่ยวกับกล้วยไม้ในยุคมือสมัครเล่นว่า

"ในยุคนั้นถ้าใครเล่นกล้วยไม้แล้วนำเข้าประกวดได้รางวัลจะเป็นที่ฮือฮากันมาก คนจะคอยตามคิวจองเล่น อย่างแคทรียาที่ชนะการประกวดนั้น ถ้าใครอยากได้ต้องซื้อหน่อละเป็นหมื่นบาท ( ทองราคาบาทละ 400 บาท ) "


ตลาดกล้วยไม้บ้านเราจึงกลายเป็นไม้ราคาแพงมากในยุคนั้น


และก็เริ่มมีคนพยายามหากล้วยไม้พันธุ์แปลกใหม่เข้ามาเล่นกันมากขึ้นจากเดิมที่เล่นแต่แคทรียาและแวนด้า เมื่อมีการดิ้นรนหากล้วยไม้แปลกใหม่จึงเริ่มมีพ่อค้าหัวใสที่นำกล้วยไม้ออกมาจากป่ามากองขายที่สนามหลวง

"ตอนนั้นมีคนเข้าไปเก็บกล้วยไม้ป่ามากันเป็นเข่ง ๆ แล้วก็เอามากองขายที่สนามหลวง พวกที่ชอบกล้วยไม้ก็จะนิยมเดินหาซื้อกันในราคาถูกมาก เลือกไปเลือกมาจนอาจารย์ระพี ค้นพบกล้วยไม้ช้างแดงที่สนามหลวงนี่เอง" ไกรฤทธิ์กล่าว

แต่เดิมนั้นนักเล่นกล้วยไม้รู้จักแต่ช้างกระ ช้างเผือก แต่พอดร.ระพีค้นพบ "ช้างแดง" ก็สร้างความฮือฮาให้กับวงการมาก เพราะสีแดงที่งดงามให้ช่อใหญ่ มีกลิ่นหอม ทำให้ราคาช้างแดงพุ่งไปต้นละเป็นหมื่นบาท

ในยุคเริ่มแรกของกล้วยไม้นั้น กลุ่มผู้บุกเบิกที่ทำให้วงการกล้วยไม้ขยายตัวและเติบโตมาจนถึงปัจจุบันมีอาทิ ศ.ดร. ระพี สาคริก , ทองหล่อ รักษ์ไพบูลย์สมบัติ ,ไพโรจน์ ลีนะวัต และลุงเย็น เป็นต้น บุคคลเหล่านี้อุทิศเวลาให้กับการพัฒนาวงการกล้วยไม้ มีการนำเข้ากล้วยไม้พันธุ์ใหม่ ๆ เพื่อนำมาผสมพันธุ์ให้ได้สายพันธุ์ที่แปลกขึ้น ถือเป็นการวางรากฐานวงการกล้วยไม้ไทยให้เข้มแข็งมาจนถึงปัจจุบันนี้


"มาดามปอมปาดัวร์" ยุคทองของกล้วยไม้


หวายปอมปาดัวร์ หรือที่นิยมเรียกว่า "มาดามปอมปาดัวร์" เป็นกล้วยไม้สกุลหวายที่นำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากประเทศออสเตรเลียตอนเหนือ นำไปผสมพันธุ์ยังประเทศฝรั่งเศส แล้วมีการนำเข้ามาปลูกเลี้ยงในเมืองไทยเพื่อดูเล่น เมื่อเกือบ 30 กว่าปีที่แล้ว

ตำนาน "มาดามปอมปาดัวร์" ถือเป็นกล้วยไม้เงินล้านยุคแรก ๆ เริ่มจากมีผู้นำเข้าจากประเทศฝรั่งเศสมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และจากการทดลองตัดดอกก็ปรากฏว่าให้ดอกใหญ่ สวยงาม ดอกคงทนจึงเริ่มมีการตัดดอกเพื่อส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยส่งไปที่ยุโรป ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่าเริ่มเป็นที่นิยมของเมืองนอกมากจึงทำให้คนเริ่มฮือฮาอีกครั้งหนึ่ง เพราะต้องนับดอกขายกันเลย ราคาช่อละ 12 - 20 บาท บางฤดูกาลต้องนับดอกขายกันดอกละ 2 บาท

ส่งผลให้คนแห่กันมาหาซื้อกล้วยไม้มาดามปอมปาดัวร์กันมากมาย ตอนนั้นใครมีกล้วยไม้พันธุ์นี้ถือว่าจับเงินจับทองทีเดียวเพราะมีเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย ชาวสวนกล้วยไม้ลืมตาอ้าปาก ปลูกบ้านหลังใหญ่โตกันเป็นแถว ยิ่งตอนนั้นมาดามปอมปาดัวร์นิยมปลูกเป็นไม้กระถางมีจำนวนไม่มาก เมื่อมีออร์เดอร์เข้ามามาก เจ้าของต้นจึงต้องล้มต้นแล้วปล่อยให้แตก"ตะเกียง" ( คือการขยายพันธุ์ด้วยด้วยวิธีการตัดลำต้นตรงส่วนตาเป็นข้อ ๆ เพื่อให้ต้นแตกออกมา ) แต่กว่าต้นใหม่จะให้ดอกก็ต้องเสียเวลาเลี้ยงอีก 1 - 2 ปี ดังนั้นการผลิตจึงไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด


ยุคนั้นถือเป็นยุคทองของมาดามปอมปาดัวร์เลย


"ถ้าใครอยากจะเลี้ยงตัดดอกต้องลงทุนซื้อยกสวนกันเลย แล้วค่อย ๆ ขยายพันธุ์กันต่อไปอีกก็ยิ่งได้เงินเพิ่มขึ้นอีก" ไกรฤทธิ์กล่าว

ต่อมาเริ่มมีคนนำหวายสกุลซีซาร์จากฝรั่งเศสเป็นหวายกลีบบิด มาผสมกับหวายจากฮาวายชื่อโตมิเดรค ที่ฟอร์มดอกกลมโต ได้เป็น "โซเนีย" แต่คนนิยมเรียกว่า "BOMB" เพราะออกมาครั้งแรกก็ตูมตามในวงการกล้วยไม้เลย เนื่องจากดอกโต ผึ่งผาย ให้สีสวยงาม จึงทำให้คนหันมานิยม BOMB แทนมาดามปอมปาดัวร์

ช่วงที่ BOMB เกิดขึ้นใหม่ ๆ นั้นแทบทุกสวนกล้วยไม้จะต้องสั่งจองต้นกันเลย และจะไม่ขายกันต้นสองต้น แต่จะต้องซื้อกันเป็นล็อตใหญ่ เพราะเจ้าของกลัวว่าใครที่ซื้อไปแล้วจะนำไปตัดข้อขายแข่งด้วย

มาดามปอมปาดัวร์และ BOMB จึงถือว่าเป็นไม้เศรษฐกิจที่เปิดตลาดส่งออกกล้วยไม้ของไทยในยุคแรกที่สามารถนำรายได้เข้าประเทศ จนถึงปัจจุบันที่กล้วยไม้ไทยยังคงเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศ


Lab จุดผลิกผันวงการฯ


ในยุคกล้วยไม้กำลังบูมทำรายได้มหาศาลให้กับเจ้าของนั้น กล้วยไม้แต่ละต้นที่โด่งดังจะมีราคาแพงมาก เพราะการขยายพันธุ์ในยุคนั้นทำได้ช้ามาก วิธีการเดียวที่เร่งขยายพันธุ์คือการแยกต้นแยกหน่อมาปลูกใหม่ แต่วิธีการนี้จะสามารถขยายพันธุ์ได้ครั้งละไม่เกิน 5 - 10 ต้น และต้องใช้เวลาอีก 1 - 2 ปีจึงจะสามารถขยายพันธุ์ได้อีก ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด

แต่เมื่อฮาวายซึ่งเป็นผู้นำเรื่องกล้วยไม้ยุคนั้นเริ่มรู้จักการทำLab มาช่วยในการผสมพันธ์และขยายพันธุ์กล้วยไม้ จึงมีคนไทยเดินทางไปศึกษาและนำความรู้นี้กลับมาเปิดให้บริการที่เมืองไทยบ้าง

"ตอนนั้นผมอายุประมาณ 16 ปี เพิ่งจะเริ่มเข้าวงการกล้วยไม้ จำได้ว่ามาหา Lab ที่กรุงเทพฯ เจ้าของ Lab บอกว่าขยายเนื้อเยื่อให้ได้ แต่ไม่การันตีว่าจะได้สายพันธุ์ที่ถูกต้องหรือเปล่า" ไกรฤทธิ์ เล่าย้อนถึงยุคการก่อเกิด Lab ขึ้นมาในเมืองไทย


หลายคนหันมาพึ่งพาความก้าวหน้าของ Lab


เพื่อหวังจะให้มาช่วยขยายพันธุ์กล้วยไม้ให้ได้ปริมาณมากขึ้น การทำงานของ Lab นั้นคือการเพาะเนื้อเยื่อจากกล้วยไม้ที่ผสมพันธุ์แล้ว และนำไปเพาะเลี้ยงในขวด การ "ปั่นตา" ด้วย Lab นั้นจะได้ต้นกล้าของกล้วยไม้ครั้งละหลายพันต้นซึ่งดีกว่าวิธีการเดิมมาก

จากการกำเนิดของLab ในเมืองไทยส่งผลให้กล้วยไม้บูมขึ้นไปอีก เพราะเมื่อสามารถขยายพันธุ์ได้ครั้งและหลายพันต้น จึงทำให้ต้นไม้ที่เดิมมีราคาแพงนั้นกลับถูกลง ส่งผลให้วงการกล้วยไม้เปลี่ยนโฉมหน้าไปเช่นกัน

"ตอนมี Lab นั้น ก็จะมีพวกเล่นกล้วยไม้สั่งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากเมืองนอกมาผสมแล้วปั่นตามาเพาะเลี้ยงในขวด ตอนนั้นจำได้ว่าพ่อค้าแม่ค้าที่สนามหลวงหันมาขายกล้วยไม้ที่เพาะเลี้ยงในขวดกันเป็นแถวเลย ใครตาดีก็ได้ไม้พันธุ์ดี ๆ จากขวดเหล่านี้ไปขายทำกำไรได้อีก" ไกรฤทธิ์กล่าว

เมื่อ Lab ได้รับความนิยมและมีมาตรฐานมากขึ้นจึงพลิกโฉมหน้าของวงการกล้วยไม้ไทยไปอีกก้าวหนึ่ง เนื่องจากมีปริมาณกล้วยไม้เพิ่มมากขึ้นในตลาดจึงเริ่มมีสงครามตัดราคากัน มีการสั่งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากเมืองนอกที่มีราคาสูงมาเพาะเนื้อเยื่อได้ไม้แปลกใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ


Pot Plant เสน่ห์ของไม้กระถาง


ในยุคเริ่มแรกของวงการกล้วยไม้ไทยก็เริ่มจาก Pot Plant หรือไม้ที่ปลูกลงกระถาง ซึ่งเมื่อก่อนยังมีราคาแพงอยู่ซึ่งจะต้องสั่งนำเข้ามากเมืองนอกมาขยายพันธุ์เท่านั้น

Pot Plant มาบูมจริงจังเมื่อ Lab ได้รับความนิยมและมีการขยายพันธุ์กล้วยไม้จนกลายเป็น Mass Product จึงเริ่มมีบรรดานักเลี้ยงนำกล้วยไม้ที่เพาะพันธุ์ได้แล้วไปวางขายแถวสนามหลวง จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ชาวบ้านมาซื้อกล้วยไม้ไปปลูกกันตามบ้านบ้างกลายเป็นตลาดของนักเล่นมือใหม่

เมื่อก่อนนี้ตลาด Pot Plant จะนิยมแห่กันเล่นไม้ซ้ำ ๆ เดิม ๆ ใครที่สามารถเป็นผู้นำที่หาพันธุ์แปลกใหม่เข้ามาได้จะกลายเป็นผู้นำตลาด Pot Plant ไปทันที แต่จะต้องขายในจำนวนมากเพราะราคาไม้กระถางนั้นไม่แพงเหมือนสมัยก่อนแล้ว

ตลาด Pot Plant ในปัจจุบันเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นทุกปี และเริ่มกลายเป็นกระแสของทั่วโลกที่นิยมเลี้ยงกล้วยไม้เพราะเสน่ห์ของไม้กระถางอยู่ที่ความสวยงามของต้นและดอก อยู่ได้คงทน ซึ่งไกรฤทธิ์กล่าวว่าเทรนด์ของ Pot Plant ในอนาคตจะสนุกสนานเร้าใจกว่านี้เพราะทุกคนจะเริ่มหันไปหาของแปลกใหม่ที่ในวงการไม่มีกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้นำตลาด Pot Plant ที่จะต้องออกไปแสวงหากล้วยไม้สายพันธุ์แปลกใหม่จากเมืองนอก ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามผสมพันธุ์ใหม่ ๆ ให้ได้ดอกและสีที่แปลกและฉีกกว่าท้องตลาดจึงจะสามารถทำกำไรได้

การเดินทางของ "กล้วยไม้" มาจนถึงวันนี้นอกจากมนต์เสน่ห์ที่งดงามของสีสันและช่อดอกแล้ว ยังช่วยสร้างฐานะให้หลายคนร่ำรวยจนกลายเป็นเศรษฐีกันมาแล้ว


ขอขอบคุณ


ข้อมูลที่มีคุณภาพ
จาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์