ดร.อานนท์ ชี้ปีนี้น้ำท่วมแน่แต่ไม่รุนแรงรับมือได้

ดร.อานนท์ ชี้ปีนี้น้ำท่วมแน่แต่ไม่รุนแรงรับมือได้

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 29 พ.ค. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า

ที่ห้องเลิศวนาลัย โรงแรมสวิสโซเทล นายเลิศ ปาร์ค ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) กล่าวในงาน "ความจริงประเทศไทย..(ที่คุณไม่อาจรู้)" เรื่องภัยพิบัตทางธรรมชาติและการเตรียมรับมือว่า ปีนี้ยืนยันว่าน้ำจะท่วมแน่ แต่น้ำท่วมปีนี้ไม่รุนแรงมากนัก ยังอยู่ในวิสัยที่ป้องกันได้

ดร.อานนท์ กล่าวว่า หลายคนอาจยังไม่รู้สาเหตุว่าทำไมดอนเมืองถึงถูกน้ำท่วม
 
ซึ่งจากข้อมูลของ สทอภ.พบว่าดอนเมืองมีอัตราการทรุดตัว 2-3 เซนติเมตรต่อปี รวมถึงกรุงเทพมหานครก็มีอัตราการทรุดตัวที่เร็วขึ้น แต่ข้อมูลตรงนี้ไม่เคยมีใครนำมารายงาน ซึ่งขณะนี้สทอภ.กำลังพัฒนาเรื่องหการดูความชื้นในดิน รวมถึงข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลต่อทิศทางการไหลของน้ำ จึงต้องมีการอัพเดตข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เวลา ล่าสุดเตรียมตั้งสถานีเรดาร์ชายฝั่งรวม 18 สถานี เพื่อติดตามการเคลื่อนตัวของคลื่นที่เป็นสาเหตุของการกัดเซาะดินชายฝั่ง

ดร.อานนท์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด

แต่บางครั้งการกระทำของมนุษย์เป็นปัจจัยที่ช่วยเร่งหรือเสริมให้เกิดเร็วขึ้น ที่ผ่านมาประเทศไทยยังโชคดีที่เกิดภัยพิบัติน้อยกว่าประเทศอื่น แต่ข้อเสียคือทำให้เราละเลยการเตรียมความพร้อมและความตระหนักใจ ต่อไปนี้เราต้องแก้ปัญหาและรับมือในเชิงรุกมากขึ้น โดยสิ่งแรก คือ ต้องเข้าใจพื้นที่ๆเราอยู่ให้ดีก่อน และสำรวจขีดความสามารถของตนเอง เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น 

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีวิธีการรับมือน้ำอย่างไร ดร.อานนท์ ระบุว่า การป้องกันไม่มีสูตรสำเร็จ จะอยู่ที่ความเข้าใจของแต่ละชุมชนว่าจะมีวิธีการอย่างไร

และจะสามารถยอมรับกันได้หรือไม่ ซึ่งบางครั้งเราต้องยอมให้น้ำท่วมในส่วนหนึ่ง เพื่อป้องกันส่วนใหญ่เอาไว้ แล้วจะทำอย่างไรให้คนมาพูดกันได้ คือ การนำแผนที่หรือภาพมาวิเคราะห์ ว่าจะมีวิธีการจัดการน้ำอย่างไร จะผันน้ำไปทางไหน เพื่อให้ได้ประโยชน์กับทุกฝ่ายจนนำมาสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยไม่เกิดความขัดแย้ง

"หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรคาดการณ์ทิศทางน้ำให้ดีและคำนวนปริมาณฝนที่จะตกว่ามีเท่าใด พร้อมทำแบบจำลองสถานการณ์และการพยากรณ์อากาศควบคู่กัน ซึ่งดาวเทียมก็มีส่วนช่วยได้อีกทางหนึ่ง คือ สามารถใช้ดูว่าน้ำมาจากทิศทางใด มีสิ่งปลูกสร้างอยู่ตรงไหน และกระแสน้ำจะไหลไปอย่างไร เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาวิธีการคำนวนฝนจากดาวเทียม ร่วมกับประเทศญี่ปุ่น แต่ยังไม่พร้อมที่จะนำมาใช้ในขณะนี้" ดร.อานนท์ กล่าว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์