กฟผ. ยืนยันเขื่อนใหญ่พร้อมรับมืออุทกภัย-ภัยแล้ง

กฟผ. ยืนยันเขื่อนใหญ่พร้อมรับมืออุทกภัย-ภัยแล้ง

กรุงเทพฯ 4 พ.ค.-นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า
 
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ. ปัจจุบัน (2 พ.ค. 2555 เวลา 24.00 น.) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ร้อยละ 59 ของความจุ หรือ 36,031 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันร้อยละ 6 หรือ 2,184 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำในภาคเหนือ (เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์)  มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ร้อยละ 51 หรือ 11,644 ล้าน ลบ.ม.  มากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 7 หรือ 776 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำในภาคตะวันตก (เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนท่าทุ่งนา และเขื่อนวชิราลงกรณ์) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ร้อยละ 66 หรือ 17,557 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 10 หรือ 1,665 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย โดยมีปริมาณน้ำในอ่างฯ ร้อยละ 42 หรือ 1,999 ล้าน ลบ.ม. และร้อยละ 68 หรือ 4,832 ล้าน ลบ.ม.  ตามลำดับ
 
ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ. กล่าวต่อไปว่า อ่างเก็บน้ำทุกแห่งอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีช่องว่างในอ่างฯ มากพอสำหรับรองรับน้ำในช่วงฤดูฝน

ขณะเดียวกันยังมีปริมาณน้ำในอ่างฯ พอเพียงสำหรับการใช้น้ำเพื่อการเกษตรในช่วงต้นฤดูฝนที่อาจเกิดฝนทิ้งช่วงได้ สำหรับอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ระบายน้ำในช่วงฤดูแล้ง (พ.ย.54-เม.ย.55)  ไปทั้งสิ้น 13,279 ล้าน ลบ.ม. เป็นการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล 7,679 ล้าน ลบ.ม. จากเขื่อนสิริกิติ์ 5,600 ล้าน ลบ.ม.  และในปีนี้การปลูกข้าวนาปี (ฤดูฝน) ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้เริ่มเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับฤดูนาปรัง ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมากกว่าปกติ ประกอบกับระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลงมาก จนไม่สามารถส่งน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกได้

คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำซึ่งดูแลการบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา
 
จึงพิจารณาให้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์  ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งให้สามารถส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูกของโครงการเจ้าพระยาได้โดยเหมาะสม ในช่วงวันที่ 29 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2555   โดยเขื่อนภูมิพลปรับเพิ่มการระบายน้ำจากวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. ขึ้นเป็นวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. ระหว่างวันที่ 29-30 เมษายน   และปรับเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 40 ล้าน ลบ.ม. ระหว่างวันที่ 1-2 และ วันที่ 5-6 พฤษภาคม  โดยระหว่างวันที่ 3-4 พฤษภาคม เขื่อนภูมิพลจะปรับการระบายน้ำเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 60 ล้าน ลบ.ม.  สำหรับเขื่อนสิริกิติ์ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากวันละ 20 ล้าน ลบ.ม.ขึ้นเป็นวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2555  หลังจากนั้นจะกลับเข้าสู่การระบายน้ำตามแผนที่กรมชลประทานประเมินความต้องการใช้น้ำจากอ่างฯ เบื้องต้นเพื่อการทำนาปี ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ประมาณ 3,000 ล้าน ลบ.ม.

ปัจจุบัน (2 พฤษภาคม 2555 เวลา 24.00 น.)  เขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำร้อยละ 50 หรือ 6,727 ล้าน ลบ.ม.

เป็นปริมาณน้ำใช้งานได้ 2,927 ล้าน ลบ.ม. มีช่องว่างรับน้ำได้อีก 6,735 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาตรน้ำ ร้อยละ 52 หรือ 4,917 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 2,067 ล้าน ลบ.ม. มีช่องว่างรับน้ำได้อีก 4,593 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำใช้งานได้ของทั้งสองเขื่อน 4,994 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอที่จะระบายเพื่อการทำนาปีในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และมีช่องว่างสำหรับรับน้ำในฤดูฝนรวมกัน 11,328 ล้าน ลบ.ม.

ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กล่าวเพิ่มเติมว่า 

แม้ว่า กฟผ. และคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ปี 2555 อย่างรอบคอบ แต่ยังมีความเสี่ยงเรื่องน้ำแล้ง หรือน้ำท่วม  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อไป  เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนปี 2555  เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดในด้านการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย และการป้องกันภัยแล้งอย่างสมดุล. -สำนักข่าวไทย


เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์