ขึ้นค่าแรงดันต้นทุนผลิตอาหารพุ่ง

ภาพจาก โพสต์ทูเดย์ภาพจาก โพสต์ทูเดย์

ขึ้นค่าแรงดันต้นทุนผลิตอาหารพุ่ง

นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร
เปิดเผยว่า จากการสำรวจของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร เรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ภูเก็ต กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี ส่วนอีก 70 จังหวัดที่เหลือขึ้นอีกประมาณ 40% หรือค่าแรงอยู่ในช่วง 222 - 273 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2555 พบว่า ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น โดยมีกลุ่มสินค้าสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นสูงที่สุด 20% สินค้าเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น 5-10% ผักผลไม้เพิ่มขึ้น 5-10% และกลุ่มขนมปังกรอบเพิ่มขึ้น 6-10%

ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 5-20% ขึ้นอยู่กับระดับความเข้มข้นการใช้แรงงานตลอดสายการผลิต เช่น ระดับฟาร์ม การเก็บเกี่ยว ตัดแต่ง การขนส่ง การผลิตบรรจุภัณฑ์ ฉลาก ส่วนผสม การแปรรูป ธุรกิจค้าปลีก เมื่อนำต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นจากทุกหน่วยมารวมกันจะทำให้ต้นทุนโดยรวมสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหากผู้ผลิตไม่สามารถรับภาระได้ก็จะผลักออกมาเป็นภาระของผู้ซื้อที่ต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้น

ขณะเดียวกันจะเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากมีการปรับค่าจ้างที่ไม่เท่ากันในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้แรงงานอาจเคลื่อนย้ายไปอยู่ในจังหวัดที่ค่าแรงสูงกว่า

นอกจากนี้ นโยบายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศอาจจะส่งผลกระทบต่อนโยบายส่งเสริมการลงทุน และการจ้างงาน โดยจะทำให้นโยบายส่งเสริมการลงทุนไปสู่ภูมิภาคด้อยประสิทธิภาพลงไป เพราะจะไม่จูงใจให้ภาคธุรกิจไปลงทุนในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าโดยมีตลาดหลักภายในประเทศจะเน้นลงทุนในหัวเมืองใหญ่เป็นหลักเพราะใกล้ตลาด ประหยัดค่าขนส่ง รวมทั้งประชาชนมีอำนาจซื้อสูง

ขณะที่ธุรกิจที่เน้นส่งออกก็จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจ เช่น ใกล้ท่าเรือหรือแหล่งวัตถุดิบเพื่อความสะดวก ประหยัดเวลาและต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งภาครัฐอาจต้องให้สิทธิพิเศษมากขึ้นเพื่อจูงใจให้ภาคธุรกิจยังคงลงทุนในพื้นที่ที่ต้องการส่งเสริมต่อไปโดยไม่เคลื่อนย้ายไปที่อื่น นอกจากนี้ยังทำให้อุปสงค์ต่อแรงงานต่างด้าวจะสูงขึ้น เกิดปัญหาการไหลทะลักของแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย

"การปรับตัวของผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะใช้วิธีปรับลดจำนวนชั่วโมงทำงานล่วงเวลา เพิ่มประสิทธิภาพและทักษะการผลิตของแรงงาน ออกนโยบายลดจำนวนวันทำงานภายใต้ และเจรจาขอปรับราคาสินค้ากับลูกค้า กรณีโรงงานขนาดใหญ่เน้นเพิ่มการใช้เครื่องจักรในระบบผลิตมากขึ้น ซึ่งในระยะยาวหากยังไม่มีความชัดเจนด้านสิทธิประโยชน์การลงทุน และมาตรการด้านภาษี อาจย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน"นายเพ็ชร กล่าว


ขอบคุณ โพสต์ทูเดย์


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์