โพลเผยผู้ใช้สมาร์ทโฟนไม่กังวลถูกล่อลวงจากเฟซบุ๊ค

โพลเผยผู้ใช้สมาร์ทโฟนไม่กังวลถูกล่อลวงจากเฟซบุ๊ค


ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ (Social Innovation Management and Business Analysis, SIMBA) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยของธนาคารกรุงศรีฯ

เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง สำรวจพฤติกรรมการซื้อและใช้สมาร์ทโฟนของกลุ่มเฟซบุ๊คลิซึ่ม (Facebooklism) ที่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 641 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1-14 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา 

ผลการศึกษา พบว่า ตัวอย่างที่มีพฤติกรรมติดเฟซบุ๊คหรือชาวเฟซบุ๊คลิซึ่มส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.9 ใช้เฟซบุ๊คผ่านคอมพิวเตอร์ (PC) รองลงมาคือ ร้อยละ 65.9 ผ่านโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 43.3 ผ่านแล็ปท็อป หรือโน้ตบุ๊ค และร้อยละ 6.9 ผ่านแท็บเล็ต ที่น่าพิจารณา คือ ตัวอย่างกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25.8 มีโทรศัพท์มือถือมากกว่า 1 เครื่อง 

เมื่อสอบถามถึงประเภทของโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่ พบว่าส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 62.7 ใช้สมาร์ทโฟน เช่น ไอโฟน แบล็คเบอร์รี่ ซัมซุงกาแลคซี่ รองลงมาคือร้อยละ 37.3 ใช้โทรศัพท์มือถือประเภทหน้าจอสี (ไม่ใช่สมาร์ทโฟน) ร้อยละ 7.7 ใช้โทรศัพท์มือถือประเภท 2 ซิม และร้อยละ 5.8 ใช้โทรศัพท์มือถือประเภท หน้าจอขาว-ดำ ตามลำดับ และราคาโทรศัพท์มือถือที่ใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 9,272 บาท 

ประเด็นที่น่าพิจารณา คือ ตัวอย่างเกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 31.2 มีแผนจะซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยร้อยละ 97.5 ตั้งใจจะซื้อสมาร์ทโฟน โดยร้อยละ 45.7 เตรียมเงินไว้สำหรับซื้อสมาร์ทโฟนกว่า 15,000 บาทขึ้นไป

ดร.นพดล กล่าวต่อไปว่า ผลจากการวิจัยเชิงคุณภาพพบว่า สิ่งที่ชาวเฟซบุ๊คลิซึ่มมักทำเป็นอันดับแรกเมื่อเข้าเฟซบุ๊ค คือ การเช็คดูว่ามีเพื่อน/คนรู้จักมา Comment หรือกด Like ข้อความหรือรูปภาพที่ตนอัพเดทไว้หรือไม่ หลังจากนั้น จึงไปดูที่หน้า Home เพื่ออัพเดทข่าวสารของเพื่อน/คนรู้จัก หากเพื่อน/คนรู้จัก ได้อัพเดท Status หรือรูปภาพที่น่าสนใจ ก็มักจะคลิก Like หรือ Comment ในทันที และเมื่อสอบถามถึงการตอบรับเป็นเพื่อน (Add Friend) พบว่า ส่วนใหญ่มักดูว่ารู้จักผู้ที่มาขอเป็นเพื่อนหรือไม่ หากเป็นเพื่อน/คนรู้จัก ก็จะรับ

หากไม่รู้จักก็จะพิจารณาที่หน้าตาว่าน่าสนใจหรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาจำนวนเพื่อนในเฟซบุ๊คของคนที่ถูกศึกษากลับพบว่า มีมากเฉลี่ยอยู่ที่ 300 คน แต่ในชีวิตจริงมีเพื่อนสนิทที่พบปะสังสรรค์กันอยู่น้อยกว่า 15 คน แสดงให้เห็นว่า เพื่อนในโลกความเป็นจริงไม่ได้มีอยู่ในจำนวนมากเท่ากับโลกเฟซบุ๊ค และเมื่อสอบถามถึงความกังวลต่อปัญหาการล่อลวง หรืออาชญากรรม ที่เกิดจากเฟซบุ๊ค พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้กังวลใจอะไร เนื่องจากมั่นใจว่าสามารถดูแลความปลอดภัยของตนเองได้ แต่มีบางส่วนที่กังวลในเรื่องของข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล



โพลเผยผู้ใช้สมาร์ทโฟนไม่กังวลถูกล่อลวงจากเฟซบุ๊ค


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์