ชี้การเจาะปิโตรเลียมที่เขตทวีวัฒนา ไม่ยืนยันโอกาสเจอปิโตรเลียม

ชี้การเจาะปิโตรเลียมที่เขตทวีวัฒนา ไม่ยืนยันโอกาสเจอปิโตรเลียม

นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

กล่าวชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ว่าการดำเนินการในโครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่  10/2551/101 ลงวันที่ 21 มกราคม 2551 แปลงสำรวจบนบก หมายเลข L 45/50  ซึ่งกระทรวงพลังงานโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีได้ออกให้แก่ บริษัท มิตรา เอ็นเนอร์ยี่  ลิมิเต็ด (ประเทศอังกฤษ)

การดำเนินงานในพื้นที่เขตทวีวัฒนา เป็นการเจาะหลุมสำรวจเพื่อตรวจสอบว่ามีโอกาสเจอปิโตรเลียมหรือไม่

โดยในอดีตเคยมีการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในแอ่งย่อยธนบุรี จำนวน 2 หลุม  คือ Wat Sala Daeng -1X  โดยบริษัท Gulf Oil  ในปี  2517  ผลการเจาะไม่พบปิโตรเลียม  และหลุม B1-1  โดยบริษัท Brit Oil  ในปี  2531  ผลการเจาะพบเพียงร่องรอยน้ำมันดิบเล็กน้อย  และสำหรับบริเวณเขตทวีวัฒนาได้มีการสำรวจในพื้นที่ เมื่อเดือนพฤศจิกายน  2552 – มกราคม 2553  พบว่ามีโครงสร้างธรณีวิทยาที่น่าสนใจ   จึงกำหนดจะเจาะหลุมสำรวจ จำนวน 1 หลุม เขตทวีวัฒนา ซึ่งในการดำเนินการเป็นไปตามการประกอบกิจการปิโตรเลียมภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม  พ.ศ. 2514  และหลักปฏิบัติภายใต้พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535  และในการดำเนินโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  ซึ่งครอบคลุมถึงการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญด้วย   ซึ่งบริษัทฯ ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อชี้แจง และรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนไปแล้ว จำนวน 2 ครั้ง คือเมื่อเดือนมิถุนายน และเดือนกันยายน  2553   ขณะเดียวกันสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปเมื่อวันที่  12 กันยายน 2554

ก่อนการดำเนินการเจาะสำรวจในพื้นที่ดังกล่าว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ประสานกับสำนักผังเมือง  กองควบคุมสำนักผังเมือง
 
เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม พ.ศ.2549 ได้ข้อสรุปว่า การใช้ประโยชน์ที่ดีเพื่อสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมโดยการเจาะหลุมสำรวจของบริษัท มิตรา เอ็นเนอร์ยี่  ลิมิเต็ด ในที่ดินประเภท ก.2 -9 นั้น  สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการเจาะสำรวจปิโตรเลียมไม่ใช่การประกอบกิจการประเภทโรงงานลำดับที่  50  ตามบัญชีท้ายกฎหมายกระทรวง (พ.ศ. 2535)  ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 

สำหรับการดำเนินการขุดเจาะสำรวจ บริษัทฯ จะมีการก่อสร้างฐานเจาะ มีพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ 

ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน  โดยในการดำเนินการดังกล่าวจะต้องดำเนินงานอย่างรอบคอบรัดกุมตามมาตรฐานสากล  มีแผนงานชัดเจนในทุกขั้นตอน  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้ปฏิบัติงานและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดต่อบุคคลภายนอกและสิ่งแวดล้อม โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะหน่วยงานตามกฎหมายปิโตรเลียม  จะเป็นผู้กำกับดูแลเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  และมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดี.- สำนักข่าวไทย

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์