รองผู้ว่ากทม.ฟันธงกรุงเทพ-กรุงเก่า-ปทุมจมอีกรอบ

รองผู้ว่ากทม.ฟันธงกรุงเทพ-กรุงเก่า-ปทุมจมอีกรอบ

เมื่อช่วงเย็นวันที่ 27 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ได้เชิญนายรอยล จิตรดอน หนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน.เข้าพบที่ห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อติดตามความคืบหน้าในการรวบรวมระบบข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับน้ำทั้งหมด มาไว้ที่ศูนย์ของคณะกรรมการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กอนช.) มีเป้าหมายดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือน พ.ค.
 

โดยนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่าได้เสนอแผนฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 3.5 แสนไร่

ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายการบริหารจัดการน้ำของประเทศต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชดูแลรับผิดชอบ ทั้งนี้แผนฟื้นฟูป่าต้นน้ำ จะเน้นการฟื้นฟูป่าในพื้นที่เสื่อมโทรมที่มีปัญหาการบุกรุก  การทำฝายชะลอน้ำ การปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการพังทลายของหน้าดิน โดยจะทำในลุ่มน้ำสำคัญ ๆ โดยเฉพาะ 8 ลุ่มน้ำ อาทิ  ปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง ป่าสัก เจ้าพระยาลงมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน เพราะต้องยอมรับว่าสาเหตุของน้ำท่วมส่วนหนึ่ง เป็นผลจากการตัดไม้ทำลายป่า และเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทางภาคเหนือ  ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จึงต้องเดินทางไปตรวจตั้งแต่ต้นน้ำลงมาจนถึงปลายน้ำ 
 

ด้านนายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงแผนงานฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ ของกรมอุทยานฯว่า
 
ตามแผนงานที่วางกรอบระยะ 5 ปี (พ.ศ.2555-2559) จะเพิ่มพื้นที่ป่ากลับมา 2 ล้านกว่าไร่ จากพื้นที่ป่าที่มีปัญหาเสื่อมโทรม 2.7 ล้านไร่ของอุทยานฯ และกรมป่าไม้ สำหรับพื้นที่เร่งด่วนที่ต้องฟื้นฟูทันทีก็คือในเขตลุ่มน้ำน่าน และ ปิง เพราะมีปัญหามากที่สุด สภาพภูเขาเป็นเขาหัวโล้น

ขณะที่นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่ากทม.เปิดเผยว่า

 จากการติดตามการกำหนดฟลัดเวย์ของ กยน. ในฐานะที่ตนเองเป็นวิศวกรโยธา และเคยอยู่ในทำงานบริหารจัดการระบายน้ำ ในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง มีความเป็นห่วงว่าการใช้แผนที่เขตปกครองมาใช้ ในการกำหนดแนวฟลัดเวย์ โดยไม่สนใจหลักวิศวกรรมที่จะต้องดูแผนที่ภูมิประเทศเป็นหลัก เท่ากับว่าจะทำผิดซ้ำรอยเดิม ที่มีการไปขวางที่คลองระพีพัฒน์ สูง 3.50 เมตร ยาว 20 กม.เหมือนในปี 2554 ที่ผ่านมา เนื่องจากตามแผนที่แนวฟลัดเวย์ที่กำหนด โดยใช้แนวเส้นแบ่งเขตพื้นที่ปกครองใน จ.ลพบุรี และสระบุรี บริเวณตอนเหนือคลองระพีพัฒน์ให้เป็นฟลัดเวย์ ทั้งที่เป็นพื้นที่เขาใหญ่นั้นไม่สามารถระบายน้ำลงมาด้านล่างได้ เพราะตามหลักธรรมชาติแล้วน้ำไม่สามารถกระโดดข้ามภูเขาลงมาได้ หากกำหนดเช่นนี้จะเป็นปัญหาต่อการระบายน้ำ และจะทำให้น้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่าง อย่างพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานีและกรุงเทพมหานครอีก 

ดังนั้น สิ่งที่ กยน. ควรให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการ คือ การพัฒนาแนวฟลัดเวย์เดิมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
อย่างเช่นการใช้แนวคลองด้านตะวันออกเร่งระบายน้ำลงปากอ่าว ซึ่งมีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่กว่าสองร้อยเครื่องของกรมชลประทานรอรับน้ำอยู่ พร้อมสถานีสูบน้ำในช่วงน้ำทะเลหนุน ส่วนด้านตะวันตกของเจ้าพระยา กยน.ควรเร่งไปดูพื้นที่แก้มลิงขนาด 76.42 ตร.กม. ที่ช่วยปกป้องถนนพระราม 2 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ จ.สมุทรสาคร และควรเพิ่มความสามารถในการดึงน้ำลงแก้มลิงผ่านคลองสนามชัย คลองราชมนตรี คลองบางบอน และรื้อฟื้นแผนการดึงน้ำจากคลองทวีวัฒนาเข้าสู่โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย ขณะเดียวกันควรเร่งขุดลอกคลองใน จ.นนทบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร เพื่อป้องกันจังหวัดปริมณฑลด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีการสร้างโครงการรถไฟฟ้าขวางน้ำอยู่ในหลายช่วง.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์