เร่งพร่องน้ำ33เขื่อน 1พ.ค.ต้องลดต่ำสุด ธีระสั่งรับมือมรสุม

"มท.1"ขอร้อง"สมิทธ"อยู่ช่วยงาน กยน.ต่อ เขื่อนภูมิพลปรับยุทธศาสตร์ระบายน้ำ เตรียมรับมือมรสุม "ธีระ"เร่งทำแผนบริหารจัดการน้ำ

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2555 ที่กระทรวงมหาดไทย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีมีการชุมนุมแสดงความไม่พอใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำในหลายพื้นที่ว่า ถ้ามีการอธิบายทำความเข้าใจใช้มาตรการพูดคุยกันน่าจะได้ข้อยุติ กรณีที่ จ.สิงห์บุรี พูดคุยกันจนจบตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 26 มกราคม เรื่องนี้เป็นสภาพปกติของบ้านเมืองเมื่อใครมีความเดือดร้อนต้องแสดงออกถึงความรู้สึกตามสิทธิ เป็นหน้าที่ของรัฐและข้าราชการเข้าไปรับฟังความคิดเห็นและแก้ไขปัญหา โดยมาตรการสำคัญที่ใช้คือเข้าอกเข้าใจกัน

นายยงยุทธกล่าวถึงกรณี นายสมิทธ ธรรมสโรช กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) จะลาออกว่า
 
ขอร้องอย่าลาออก ให้อยู่ช่วยงานกันต่อไป เพราะนายสมิทธมีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ หากน้ำท่วมทุกคนเดือดร้อน ตัวนายสมิทธและครอบครัวก็จะเดือดร้อนด้วย หากนายสมิทธอยู่ทำงานต่อจะเป็นประโยชน์มากกว่า

สำหรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลนั้น ในระดับนโยบายได้ให้ไปบริหารจัดการแล้ว
 
ถ้าจะกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรหรือการผลิตกระแสไฟฟ้า คงต้องลดลงก่อนเพราะขณะนี้น้ำในเขื่อนมีมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงสามเท่า ในการประชุม กยน.เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ได้แจ้งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปดำเนินการพร่องน้ำออกแล้วŽ นายยงยุทธกล่าว


เร่งพร่องน้ำ33เขื่อน 1พ.ค.ต้องลดต่ำสุด ธีระสั่งรับมือมรสุม

ด้านนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า
 
ในการประชุม กยน.ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ กระทรวงเตรียมเสนอแผนบริหารจัดการเขื่อนเก็บน้ำหลักและแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศปี 2555 โดยแผนดังกล่าวมีการปรับปรุงเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ โดยเปรียบเทียบฐานข้อมูลย้อนหลัง 30 ปี มาคำนวณเพื่อทำแผนดังกล่าว

ซึ่งเป็นการพร่องน้ำล่วงหน้าในฤดูแล้ง เพื่อช่วยลดการระบายในฤดูฝน โดยรักษาสมดุลการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ในการป้องกันน้ำท่วม

การอุปโภค-บริโภค การเกษตร และป้องกันภัยแล้ง โดยมีการเสนอให้ปรับลดเกณฑ์กักเก็บน้ำปริมาณสูงสุดและต่ำสุด โดยวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูฝนปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ 33 แห่งทั่วประเทศ จะต้องมีน้ำอยู่ในระดับต่ำสุด และระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีความจุเก็บกักมากกว่า 10 ล้านลูกบาศก์เมตร 119 แห่งนั้น ขณะนี้จัดทำรายละเอียดว่าจะให้ลดลงเหลือปริมาณเท่าใดŽ นายธีระกล่าว

นายธีระกล่าวว่า ในแผนการบริหารจัดการน้ำนั้น ทางกระทรวงได้สร้างแบบจำลองเพื่อการตัดสินใจในกรณีต่างๆ ไว้ 5 กรณี
 
ได้แก่ 1.ปีเฉลี่ย 2.ปีน้ำมาก 3.ปีน้ำน้อย 4.เหตุการณ์ปี 2552 และ 5.เหตุการณ์ปี 2554 ของกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยคาดว่าแบบจำลองดังกล่าวจะแล้วเสร็จในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2555 และทั้งประเทศจะแล้วเสร็จในช่วงสิ้นเดือนเมษายน 2555

นายธีระกล่าวว่า ได้ปรับปรุงระบบพยากรณ์ จากการปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำมาเป็นการเชื่อมต่อการปฏิบัติการ

กับแผนการบริหารจัดการน้ำในกรณีต่างๆ แบบองค์รวม ตลอดลุ่มน้ำ แบ่งการพยากรณ์เป็น 2 ส่วน คือ น้ำฝน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นหน่วยงานหลัก และน้ำท่า โดยกรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลัก ดำเนินการใน 2 ระยะ คือ 1.ระยะเร่งด่วน ภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2555 และ 2.ระยะยาว ปรับปรุงเชิงเทคนิค ให้มีความละเอียดถูกต้องสูงขึ้นกว่าระยะเร่งด่วน

สำหรับสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 27 มกราคม 2555 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ รวม 60,189 ล้านลูกบาศก์เมตร
 
คิดเป็น 81% ของปริมาณน้ำในอ่างรวมกันทั้งหมด โดยปริมาณน้ำในช่วงนี้มีมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่อยู่ที่ 9,928 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปัจจุบันเรามีระบบปฏิบัติการแบบซิงเกิ้ล คอมมานด์ ในการรวบการบริหารจัดการไว้ ณ จุดเดียว ดังนั้น เชื่อว่าจะทำให้การบริหารจัดการได้ดีŽ นายธีระกล่าว

ขณะที่นายณรงค์ ไทยประยูร ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพลว่า

ขณะนี้มีการพร่องน้ำลงไปเหลืออยู่ที่ร้อยละ 85 โดยรับแผนการระบายน้ำจากคณะอนุกรรมการจัดสรรน้ำ เพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้ง กำหนดว่าจากเดือนธันวาคม 2554 จนถึงปลายเดือนเมษายน 2555 ต้องระบายน้ำออก 7,000 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเตรียมรอรับน้ำใหม่ ขณะเดียวกันเขื่อนภูมิพลจำเป็นต้องเดินเครื่องทุกเครื่องอย่างเต็มที่ โดยมีเป้าหมายในเดือนมกราคมนี้ ต้องระบายน้ำออก 1,650 ล้าน ลบ.ม. เดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม มีปริมาณที่จะให้ระบายได้อยู่ที่ 1,500 ล้าน ลบ.ม. และในเดือนเมษายนจะระบายได้ 800 ล้าน ลบ.ม.

ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2555 ต้องปล่อยน้ำไปตามที่กำหนดไว้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะมีช่องว่างของพื้นที่รับน้ำใหม่ได้ 6,500 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะสามารถรองรับต่อมรสุมที่จะเข้ามา 3-4 ลูก ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคมได้Ž นายณรงค์กล่าว

ที่โรงเรียนเตรียมทหาร (ตท.) จ.นครนายก พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ให้สัมภาษณ์ถึงการบริหารจัดการน้ำที่รัฐบาลมอบหมายให้กองทัพเข้าไปช่วยดูแลในการขุดลอกท่อระบายน้ำและคูคลองในกรุงเทพมหานครว่า ในช่วงที่ผ่านมากองทัพได้ทำงานให้เห็นถึงศักยภาพ ในฐานะที่เป็นกลไกหนึ่งของรัฐ กองทัพรู้สึกดีใจที่รัฐบาลมอบหมายให้กองทัพเข้าไปช่วยในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งนี้ รัฐบาลจะเป็นผู้วางแผน กองทัพเป็นเพียงผู้ปฏิบัติ สำหรับงบประมาณที่มอบให้ 770 ล้านบาทนั้น รัฐบาลคงพิจารณาแล้วว่ากองทัพจะดำเนินการอะไรบ้าง คงไม่มีปัญหาอะไร


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์