หวั่นน้ำเสียอุตสาหกรรมปนเปื้อน

หวั่นน้ำเสียอุตสาหกรรมปนเปื้อน


คพ.หวั่นน้ำเสียอุตสาหกรรม 26 ล้านลบ.ม.ปนเปื้อนสารพิษ   ชี้คุณภาพน้ำปากแม่น้ำ 4 สายเริ่มมีปัญหา

เมื่อวันที่ 16 พ.ย. นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แถลงว่า คพ.เป็นห่วงสถานการณ์น้ำจืดและน้ำเสีย ที่จะไหลลงสู่อ่าวไทย ประมาณ 2 หมื่นล้านลบ.ม. หรือเท่ากับปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์รวมกัน ถือเป็นตัวเลขที่ผิดปกติอย่างมากที่อ่าวไทยไม่เคยเจอปริมาณน้ำมหาศาลในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งน้ำทะเลจะต้องจืดอย่างแน่นอน แต่ก็ยอมรับว่าในเรื่องของเทคโนโลยียังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ต้องให้ธรรมชาติบำบัดตัวเอง และอ่าวไทยก็มีระบบหมุนเวียนของน้ำตามธรรมชาติบำบัดตัวเองอยู่แล้ว คาดว่าต้องใช้เวลา 1-2 เดือนจะเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวสัตว์น้ำและระบบนิเวศส่วนใหญ่ในพื้นที่จะต้องเสียหาย ซึ่ง คพ.และกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำข้อมูล เพื่อแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่แล้ว 

นายวรศาสน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจวัดคุณภาพน้ำใน 4 พื้นที่ คือบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปากแม่น้ำท่าจีน และปากแม่น้ำแม่กลอง พบว่ามีปัญหาเกือบทั้งหมด โดยแม่น้ำบางปะกงมีค่าความเค็ม 2.3 พีเอสยู  ค่าออกซิเจนละลายในน้ำ 1.8 มิลลิกรัม/ลิตร  ค่าความเป็นกรดด่าง 6.6 ปากแม่น้ำเจ้าพระยาค่าความเค็ม 0.3 พีเอสยู ค่าออกซิเจนละลายในน้ำ 1.3 มก./ล. ค่าความเป็นกรดด่าง 6.7 ปากแม่น้ำท่าจีนค่าความเค็ม 16.5 พีเอสยู ค่าออกซิเจนละลายน้ำ 0.8 มก./ล. ค่าความเป็นกรดด่าง 6.8 และปากแม่น้ำแม่กลองค่าความเค็ม 22.3 พีเอสยู ค่าออกซิเจนละลายน้ำ 3.7มก./ ล. ค่าความเป็นกรดด่าง 7 

นายวรศาสน์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ คพ. ยังเฝ้าระวังน้ำเสียจากอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 26ล้านลบ./ม. ที่ท่วมขังอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 6 แห่ง โดยกรมควบคุมมลพิษได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการเพื่อจะตรวจสอบคุณภาพน้ำก่อนที่จะระบายออกมาภายนอก ตามกฎหมายการควบคุมมลพิษหากคุณภาพน้ำไม่ได้มาตรฐานก็จะไม่สามารถปล่อยออกมาได้ สำหรับวิธีการดำเนินการนั้นเจ้าหน้าที่ของ คพ.จะไปตรวจการปนเปื้อนของสารเคมีต่างๆ คราบน้ำมัน ก่อนที่จะระบายน้ำออกมา หากไม่ได้มาตรฐานก็จะบำบัดให้ได้มาตรฐานก่อนหลังจากนั้นเมื่อจะมีการปล่อยก็จะมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจอีกรอบเพื่อยืนยันและเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่าคุณภาพน้ำได้มาตรฐานจริง 

ด้านนายเนติภูมิ นวรัตน์ โฆษก ทส. กล่าวว่า ขณะนี้มีประชาชนให้ความสนใจเรื่องการนำขยะโฟมและขวดน้ำดื่มมาแลกไข่ไก่และข้าวที่  ทส. ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ขอชี้แจงว่าสาเหตุที่ ทส. ได้ให้ประชาชนนำโฟมและขวดน้ำมาแลกไข่และข้าวกล้องนั้น เพราะโฟมเป็นขยะที่กำจัดยากและไม่มีใครต้องการในเวลานี้ โดยประมาณการว่ากล่องโฟม 2,000 กล่อง จะหนักประมาณ 1 ก.ก. และหน่วยงานต่างๆ ที่ทำอาหารสดแจกจ่ายประชาชน ก็จะใช้โฟมบรรจุอาหารเฉลี่ยมีผู้ประสบภัยใน กทม. 1 ล้านคน  จะได้อาหารที่บรรจุในกล่องโฟมเฉลี่ยวันละ 2 กล่อง ในแต่ละวันจึงมีขยะกล่องโฟมราว 2 ล้านกล่อง ถือเป็นจำนวนมหาศาล การที่ คพ.ให้เอาโฟมมาแลกกับไข่เป็นการลดปริมาณขยะโฟมได้จำนวนหนึ่ง โดยทางเครือปูนซีเมนต์ไทยจะมาเก็บขยะโฟมไปกำจัดในเตาเผาที่ได้มาตรฐานทุกวัน ทั้งนี้ ทส. ได้รับการอนุเคราะห์ไข่และข้าวสารจากภาคเอกชนเพื่อนำมาให้บริการประชาชนอย่างไม่จำกัด  โดยโฟม 20 กล่องแลกไข่ได้ 1 ฟอง ขวดน้ำ 40 ใบแลกไข่ได้ 6 ฟอง หรือข้าวสาร 2 ก.ก.



เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์