เพ่ง ภูฏาน ผ่านแว่น สถาปนิก

ความสนใจของคนไทยที่มีต่อเจ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก


ผู้มีพระอัธยาศัยงดงาม อ่อนโยน และได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์แห่งภูฏานเมื่อกลางเดือนธันวาคม นำไปสู่ความอยากรู้อยากเห็นที่มากขึ้นเรื่อยๆ ต่อแผ่นดินภูฏาน

เห็นได้จากนักท่องเที่ยวไทยที่ไปเยี่ยมแผ่นดินภูฏาน ปีละ 800 คน เพิ่มเป็น 8,000 คน ในเวลา 6 เดือน มีหนังสือที่เกี่ยวกับความเป็นมาและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงามของภูฏานนับสิบเล่ม

เรื่องราวของสิ่งที่เห็นในแผ่นดินภูฏานที่นำมาเขียนมาเล่าในที่นี้ มองจากสายตาของสถาปนิก จึงเป็นเรื่องราวทางสถาปัตยกรรมและบ้านเมือง

ระยะเวลาที่เห็นอาจจะสั้น 4 วัน แต่ความประทับใจในความงดงามยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรม ประเพณีของชาวภูฏานที่ยังมีชีวิต งดงาม อลังการ

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้น ประโยชน์ในอดีตที่ยังคงมีชีวิตได้รับใช้ผู้คนอยู่ในปัจจุบัน ย่อมเป็นสิ่งที่ชี้ชัดถึงความยิ่งใหญ่ ความมีชีวิตชีวา

สถาปัตยกรรมหรือผลงานก่อสร้างอันยิ่งใหญ่ของชาวภูฏานคือ "ชอง" ชองคืออาคารที่เป็นวิถีชีวิตของชาวภูฏาน เป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานราชการ เป็น


ศาสนสถาน


เป็นโบสถ์และเป็นป้อมปราการ ที่ยังคงมีบทบาทรับใช้สังคมภูฏานตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

งานชิ้นแรกที่มีโอกาสไปชมคือ "ทาชอง" สร้างขึ้นในช่วงระยะเวลาของสงคราม ใช้สำหรับเป็นหอคอยสังเกตการณ์ และเมื่อปีพ.ศ. 2511 ดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติทาโรชอง

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติทาโรชอง อาคารเก่าทรงกลมไม่ใหญ่โต ที่เดิมเป็นหอสังเกตการณ์เพื่อป้องกันการรุกราน ปัจจุบันดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์

ที่ต้องยกย่องคือการดัดแปลง การจัดพื้นที่ การกำหนดแนวทางการเดินชมงานศิลปและเรื่องราวที่เกี่ยวกับความเชื่อวัฒนธรรม ศาสนา ประเพณีของชาวภูฏานทำได้ดีมาก ได้แก่ ภาพพระบฏหรือทังค่าชิ้นเยี่ยมๆ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ของชาวภูฏาน ตลอดจนภาพที่เล่าเรื่องราวของการก่อตั้งราชวงศ์ภูฏานในปัจจุบัน

แต่เนื่องจากห้ามถ่ายภาพภายในพิพิธภัณฑ์นี้ จึงไม่อาจนำรูปภาพภายในมาให้ชมได้

เมื่อเดินเข้าสู่ห้องโถงภายในซึ่งเป็นช่องโล่ง จะต้องขึ้นบันไดไปตามระเบียงเพื่อขึ้นไปสู่ศูนย์กลางบนสุดของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งประดิษฐาน รูปของคุรุริมโปเช หรือคุรุปัทมสัมภพ ที่ตกแต่งอย่างวิจิตรพิศดาร

ท่านคุรุริมโปเชมีกำเนิดในอินเดียและเดินทางเข้ามาปราบปรามภูติผีปีศาจตามความเชื่อชองชาวภูฏานเดิม และก่อให้เกิดพุทธศาสนามหายาน นิกายตันตระ ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของชาวภูฏาน รูปปั้นของท่านคุรุริมโปเชจะพบว่ามีประดิษฐานอยู่หลายแหล่งทั้งในบริเวณวัด บริเวณที่ทำการของรัฐทั่วไป


จากทาโรชองมองลงไปด้านล่างของภูเขาจะเห็นริมโปชอง


ซึ่งหมายถึงมุมหรือเหลี่ยมเพชร ริมโปชองนี้สร้างในสมัยของท่านซับดรุง นาวัง นัมเกล ปีพ.ศ. 1989 ตรงกับสมัยต้นอยุธยาของเรา ท่านซับดรุง นาวัง นัมเกล

ซึ่งเป็นผู้รวบรวมแว่นแคว้นต่างๆ เข้าเป็นอาณาจักรภูฏาน สร้างชองไว้หลายแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีความงดงามยิ่งใหญ่ และที่สำคัญก็คือยังคงใช้ประโยชน์ได้ตลอดมา ปัจจุบันเป็นที่ทำการรัฐบาลและเป็นวัด

ริมโปชองนั้นตั้งอยู่เชิงเขา ริมแม่น้ำพาโร ตัวสะพานที่ข้ามแม่น้ำพาโรที่ใสเย็นเป็นสะพานไม้ ที่ตัวโครงสร้างและหอคอยน่าสนใจมาก

คานสี่เหลี่ยมที่ซ้อนยื่นออกไปรับคานที่พาดขนาดใหญ่คู่บึกบึน ประกอบกับตัวป้อมสะพาน 2 ข้าง ที่รูปแบบสอดรับกัน เป็นสะพานที่งดงามสะพานหนึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วเรามักจะไม่เห็นความงามของสะพานกันมากนัก

ติดกับสะพานก็มีกลุ่มเจดีย์ 5 หลัง ที่ว่ากันว่าเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงชัยชนะในการรบกับประเทศข้างเคียง

ตัวเมืองพาโร เป็นเมืองเล็กๆ มีถนน 2 สาย พาดผ่านกลางเมืองซึ่งกำลังมีการสร้างอาคารร้านค้า ด้านหลังอาคารร้านค้าเป็นตลาดเช้า ที่มีแม่ค้าพ่อค้าเอาสินค้ามาขายแบบตลาดนัดเคลื่อนที่ของเรา ที่น่าสนใจก็คือ แผงขายเนื้อสัตว์ที่ห้อมล้อมไปด้วยฝูงสุนัขที่รอเศษเนื้อ


จากพาโร เดินทางไปยังเมืองหลวงทิมพู


ระยะเวลาเดินทางประมาณชั่วโมงครึ่งถึง 2 ชั่วโมง แล้วแต่สภาพอากาศ เส้นทางถนนขนาด 2 ทางวิ่งกำลังขยายให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น

กรุงทิมพู เมืองหลวงของราชอาณาจักรภูฏานเป็นเมืองเล็กที่กำลังขยายตัว มีการก่อสร้าง ก็เลยทำให้เมืองดูไม่สะอาด และไม่เป็นระเบียบเท่าใดนัก หากมีภูมิสถาปนิกมาช่วยออกแบบ จัดองค์ประกอบของเมืองให้สะอาดสวยงามไม่แพ้เมืองใดในโลก

เมืองที่มีถนน 2 สาย ขนานกัน เมืองที่มีผู้คนมากกว่าที่พาโร เมืองที่ดูจะมีชาวอินเดียวเข้ามาทำมาหากินอยู่ไม่น้อย ซึ่งก็ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงานในการก่อสร้าง มีอาคารกำลังก่อสร้างหลังหนึ่งเป็นโรงแรมจำนวน 64 ห้อง ออกแบบภายในและประโยชน์ใช้สอยโดยสถาปนิกไทย บริษัท A 49 กับบริษัท KTGY

แม้จะเป็นเมืองหลวง แต่ก็เป็นเมืองเล็กๆ จราจรไม่ติดขัด จึงเป็นเมืองที่ไม่ต้องมีสัญญาณไฟจราจร สถาปัตยกรรมที่งดงามน่าสนใจมีพอสมควร แต่ในที่นี้มีภาพให้ดูเพียง 2 อาคาร คือ

อาคารแรกคือ อนุสรณ์สถานชอรเดน ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงกษัตริย์องค์ที่ 3 ที่นอกจากเก็บพระอัฐิของพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังมีภาพปริศนาธรรมที่เพดาน

ถัดจากอนุสรณ์สถานก็มาถึงอาคารขนาดใหญ่ที่ยิ่งใหญ่ ทาชิโฮชองเป็นทั้งทำเนียบรัฐบาล วัด ที่ตั้งของราชบัลลังก์ของกษัตริย์ภูฏาน เป็นทั้งที่ตั้งของกระทรวงทบวงกรมของประเทศ และเป็นตำหนักฤดูร้อนของสังฆราชด้วย

น่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสเข้าไปได้ชมงานสถาปัตยกรรมภายใน เพราะติดเวลาราชการ แต่เมื่อมองเฉพาะที่ตั้ง ขนาดและความสำคัญของอาคารแล้ว ต้องยกย่องการจัดวางอาคาร รูปแบบอาคารมีความสมบูรณ์งดงามอย่างยิ่ง


ลำธารน้ำใสไหลผ่านด้านหน้าที่มีเนินลาดไปสู่ตัวอาคารสร้างความสง่าให้อาคารเป็นที่สุด


ยิ่งท้องฟ้าที่สดใสเป็นฉากหลังแล้ว อาคารหลังนี้ต้องยกย่องว่าเป็นเลิศ โดยเฉพาะงานทางภูมิสถาปัตย์ทีเดียว

ในบริเวณที่ไม่ห่างจากทาชิโฮชอง นี้มากนัก มีตัวอย่างบ้านอยู่อาศัยดั้งเดิมของชาวภูฏานที่ยังคงมีสภาพเดิม และเก็บรักษาไว้ให้ศึกษาถึงสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อความเหมาะสมแก่การดำรงชีพ บ้านที่รวมประโยชน์ใช้สอยทั้งหมดเข้าด้วยกันตั้งแต่

ชั้นพื้นดิน เลี้ยงสัตว์, ชั้นที่ 2 ยุ้งข้าว เก็บของ ครัว ชั้นที่ 3 ห้องนอน ห้องสวดมนต์ ชั้นหลังคา ตากเมล็ดพืช

ชองสุดท้ายที่จะเขียนถึงก็คือปูนาคาชอง

เมืองปูนาคาเป็นเมืองหลวงเก่าของราชอาณาจักรภูฏาน ดังนั้นปูนาคาชอง จึงเป็นศูนย์กลางของการบริหารจัดการมาก่อน มีความอลังการยิ่งใหญ่ งดงามมาก

สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยซับดรุง นาวัง นัมเกล ผู้รวบรวมราชอาณาจักรภูฏานขึ้น ความอลังการและงดงามนั้นแทบจะไม่ต้องบรรยายเป็นตัวหนังสือ เพราะภาพที่ปรากฏนี้จะอธิบายถึงความรู้สึกนั้นได้ชัดเจน

สิ่งที่จะเขียนพอเพิ่มเติมก็คือ ปูนาคา ชองตั้งอยู่บนฝั่งริมแม่น้ำสองสายที่เรียกกันว่า มังกรชายและมังกรหญิงมาบรรจบกัน มุมมองที่เริ่มต้นจากแนวถนนที่อ้อมเนินเขา อันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนประจำเขต เปิดให้ค่อยๆ เห็น ปูนาคาชอง ที่ตั้งสงบอยู่ที่ปลายแหลมของแม่น้ำที่บรรจบกัน ดูสงบและยิ่งใหญ่จริง

ในวันที่ไปถึงปูนาคาชอง เป็นวันที่พระสังฆราชของภูฏานจะกลับมาพักที่ปูนาคาชอง ในฤดูหนาวผู้คนจึงออกมาตั้งแถวรับเสด็จกันตลอดทางและลำน้ำตัวชองจึงเปิดให้ประชาชนเดินเข้าไปด้านในได้

ปูนาคาชองจะแบ่งสัดส่วนภายในเป็น 3 ส่วน โดยมีลานกว้างเพื่อใช้ทำพิธีทางศาสนา 2 ลานใหญ่ ด้านหน้าเป็นที่ทำการของรัฐบาล หอคอยหรืออาคารกลางเป็นที่อยู่ของลามะ รวมทั้งอาคารสำคัญที่เก็บอัฐิบริขารของท่านซับดรุง นาวัง นัมเกล


อาคารชุดสุดท้ายคือ


วิหารอันใหญ่ที่ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ 2 ข้าง เป็นรูปของท่านริมโปเช และท่านซับดรุง นาวัง นัมเกล ที่ประดับประดาและให้สีอย่างอลังการ

ราชอาณาจักรภูฏาน ประเทศที่มีความสงบและร่ำรวยด้วยธรรมชาติ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่และงดงาม ผู้คนที่ยิ้มแย้มเป็นมิตร เป็นดินแดนที่น่าจะไปชื่นชม เป็นสวรรค์ที่อยู่บนโลก เป็นพื้นที่ที่น่าจะไปสัมผัสและประทับความรู้สึก อบอุ่นของผู้คน

บ้านเมืองเราก็เคยเป็นเช่นนี้ แต่สภาพของการเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ผู้คนให้เปลี่ยนไป เราไม่อาจหันประเทศกลับไปได้ แต่เราก็อาจจะหันกลับไปรู้สึกถึงความงามของประเทศเราได้ เมื่อเราได้มาเห็นได้สัมผัสความยิ่งใหญ่ งดงามของภูฏาน

ปิติสุขที่เกิดขึ้นทำให้เราระลึกถึงความยิ่งใหญ่และงดงามในอดีตของเราได้เช่นกัน

ขอขอบคุณ :


เนื้อหาข่าวและภาพประกอบที่มีคุณภาพ
จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์