รถคันแรกสตาร์ตแล้ว ทุกค่ายเร่งผลิตลุยชิงเค้ก

นโยบายคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรก ซึ่งถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะเริ่มดำเนินการในปีแรก เริ่มขึ้นแล้ว

โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ได้อนุมัติหลักเกณฑ์การคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรก ดังนี้

1. เป็นรถยนต์คันแรกของผู้ซื้อที่ซื้อตั้งแต่ วันที่ 16 ก.ย.54 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.55

2. เป็นรถยนต์ราคาขายปลีกไม่เกิน 1 ล้านบาท/คัน

3. เป็นรถยนต์นั่ง ขนาดความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,500 ซีซี/ รถยนต์กระบะ (ปิกอัพ)/รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (ดับเบิลแค็บ)

4. เป็นรถยนต์ที่ผลิตขึ้นในประเทศ ไม่รวมรถยนต์ที่ประกอบจากชิ้นส่วนนำเข้าใช้แล้วจากต่างประเทศ (รถยนต์จดประกอบ)

5. คืนเงินเท่ากับค่าภาษีสรรพสามิตตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท/คัน

6. ผู้ซื้อต้องมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

7. ผู้ซื้อต้องครอบครองรถยนต์ไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือห้ามโอนภายใน 5 ปี

8. การคืนเงินจะคืนให้เมื่อครอบครองรถยนต์ 1 ปี ไปแล้ว จ่ายคืนเป็นเช็ค

การคืนเงินผู้ซื้อรถยนต์คันแรกต้องมีเอกสาร 7 อย่างแนบไปด้วยคือ

1.แบบคำขอคืนภาษีเงินสำหรับรถยนต์คันแรก 2.สำเนาบัตรประชาชน 3.สำเนาทะเบียนบ้าน 4.สำเนาหนังซื้อเช่าซื้อ (ในกรณีเช่าซื้อ) 5.สำเนาคู่มือการจดทะเบียนรถ

6.หนังสือยินยอมสละสิทธิ์การโอนภายใน 5 ปี และ 7.หลักฐานการซื้อรถยนต์ ให้ที่กรมสรรพสามิตพื้นที่ทั่วประเทศ โดยกรมจะใช้เวลา 7 วัน ยืนยันการได้รับคืนภาษี และผู้ซื้อรถจะได้รับเงินคืนภายหลัง 1 ปี ที่ซื้อรถยนต์

ขั้นตอนการคืนเงิน แบบคำร้องขอคืนเงินดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์กรมสรรพสามิต www.excise.go.th

สำหรับผู้ที่จะได้รับสิทธิ์คืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรกจะต้องมีการจองซื้อรถยนต์หลังจากวันที่ 16 ก.ย.54 เป็นต้นไป ถ้าจองซื้อก่อนหน้านี้ไม่ได้รับสิทธิ์ แต่ช่วงปิดโครง การวันที่ 31 ธ.ค.55 จะต้องมีการจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกแล้ว จึงขอใช้สิทธิ์ได้

ส่วนผู้ที่ต้องผ่อนกับไฟแนนซ์รัฐบาลจะจ่ายคืนเงินให้กับผู้ซื้อรถ ไม่ใช่ไฟแนนซ์ แต่ถ้าผู้เช่าซื้อผ่อนต่อไปไม่ไหวถูกยึดรถ บริษัทไฟแนนซ์จะช่วยทวงภาษีคืนจากผู้ซื้อรถ

แต่ถ้าเป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆ กรมสรรพสามิตจะตามทวงเงินคืนเอง และจะใช้กฎหมายแพ่งตามฟ้องเรียกเงินคืนจากผู้ซื้อรถเป็นรายๆ ไป ส่วนรถดังกล่าวกรมสรรพสามิตจะพิจารณาคืนสิทธิ์การห้ามโอนให้กับไฟแนนซ์เพื่อให้สามารถนำไปขายต่อได้

และเพื่อลดความเสี่ยงจากการที่ผู้ซื้อจะทิ้งรถหลังได้คืนเงินแล้ว ทางไฟแนนซ์จึงออกตัวมาแล้วว่าการปล่อยกู้คงเข้มข้นขึ้น และคงต้องให้ผู้ซื้อวางเงินดาวน์เพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนที่เป็นประเด็นให้คนอีกกลุ่มใหญ่ได้ลุ้นคือ กรณีที่ นายเทียนโชติ จงพีร์เพียร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ระบุว่า กรมได้เก็บสถิติการยื่นจดทะเบียนรถตั้งแต่ช่วงหลังปี"49 เป็นต้นมาเท่านั้น ซึ่งอาจจำเป็นต้องยกประโยชน์ให้จำเลยสามารถใช้สิทธิ์ขอลดหย่อนภาษีได้

นั่นหมายความว่า หากผู้ที่เคยยื่นจดทะเบียนการซื้อรถยนต์ก่อนหน้าปี"49 ถ้าซื้อรถใหม่ก็อาจได้รับสิทธิ์คืนเงินด้วย

แต่คงต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มข้น

แน่นอนว่าผลพวงจากนโยบายนี้ย่อมตกแก่ค่ายรถยนต์ต่างๆ นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายรถยนต์ "โตโยต้า" เปิดเผยว่า นโยบายนี้เป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากกระตุ้นยอดขายรถยนต์แล้ว ยังรวมไปถึงเศรษฐกิจโดยรวมด้วย เนื่องจากไม่ใช่แค่กับผู้ผลิตรถยนต์ แต่ยังรวมไปถึงซัพพลายเออร์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายเล็ก รายใหญ่ทั้งหมด และกลุ่มรถยนต์ที่จำกัดไว้ที่ 1,500 ซีซี เป็นการเน้นผู้ที่ใช้งานรถคันแรก แม้กลุ่มคอมแพ็กจะได้สิทธิจากภาษีสูงสุด เพราะจ่ายอยู่ที่ 25% ส่วนอีโคคาร์ จ่ายภาษีอยู่ที่ 17%

สำหรับรถปิกอัพอาจจะได้รับประโยชน์ตรงนี้ค่อนข้างน้อย เพราะเสียภาษีอยู่ที่ 3% และ 12% สำหรับรถแบบดับเบิลแค็บ แต่ก็ถือว่าได้กันทั้งหมด เพราะสุดท้ายขึ้นอยู่กับลูกค้าเป็นผู้ตัดสินใจเลือกซื้ออยู่ดี ขณะที่กรอบระยะเวลา 15 เดือน นับว่าเหมาะสม ช่วยให้ผู้ผลิตมีเวลาในการปรับไลน์ผลิต ให้ตรงกับความต้องการที่เกิดขึ้น ซึ่งของโตโยต้า ขณะนี้ได้เดินสายการผลิตเต็มที่อยู่แล้ว การได้แรงส่งตรงนี้ อาจทำให้ต้องเพิ่มการทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้นอีก

นายพิทักษ์ พฤธิสาริกร รองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายรถยนต์ "ฮอนด้า" กล่าวว่า การตัดสินใจของรัฐบาล จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อรถ ถือว่าเป็นผลบวกกับอุตสาหกรรม และสิ่งที่น่ายินดีขึ้นไปอีก คือการเลื่อนกำหนดวันเริ่มบังคับใช้ ขึ้นมาเป็นวันที่ 16 ก.ย.54 จากเดิมคาดว่าจะเป็นวันที่ 1 ต.ค.54 เพราะไม่ทำให้ช่วง 2 สัปดาห์ที่รอผลบังคับใช้ เกิดความวุ่นวาย รวมถึงการชะลอการตัดสินใจของลูกค้า

สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ จากนี้ไปต้องเฝ้าประเมินผลอย่างใกล้ชิด และรอบคอบกับการปรับเปลี่ยนกำลังการผลิต เนื่องจากยังประเมินยากถึงความต้องการ และจำนวนที่แท้จริงที่มาจากโครงการนี้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มรถขนาดเล็กได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ และอาจมีไหลมาจากรถขนาดกลางอย่างแน่นอน ด้านกำลังการผลิตของฮอนด้า ปัจจุบันเร่งเต็มที่จึงทำให้พร้อมรองรับ และมีความยืดหยุ่นในการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ามาโดยตลอดอยู่แล้ว

ส่วน นายประพัฒน์ เชยชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายรถยนต์ "นิสสัน" เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เนื่องจากเป็นการกระตุ้นตลาด และสร้างโอกาสให้ประชาชนได้เป็นเจ้าของรถยนต์ได้ง่ายขึ้น สำหรับนิสสัน อยู่ระหว่างการ เตรียมความพร้อม เพื่อรองรับลูกค้าที่ได้รับสิทธิ และไม่ได้รับสิทธิ รวมทั้งเตรียมกลยุทธ์การตลาด เพื่อรองรับกับราคาส่วนลดที่ต่างกัน ของอีโคคาร์ กับเครื่องยนต์ 1,500 ซีซี โดยนิสสันมาร์ช จะชูเรื่องความคุ้มค่าระยะยาว ทั้งราคาขายต่อ ประหยัดน้ำมันตลอดอายุรถ ค่าบำรุงรักษาที่ต่ำกว่า มาเป็นจุดขาย

ในส่วนของโรงงานผลิต ยังคงต้องดำเนินตามแผนเดิมที่วางไว้ เนื่องจากที่ผ่านมาค่อนข้างเต็มกำลังการผลิต อีกทั้งการขยายกำลังการผลิต ต้องมีการเตรียมความพร้อม และระยะเวลาพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นรถเก๋ง หรือรถปิกอัพก็ตาม

นายสาโรช เกียรติเฟื่องฟู รองประธานฝ่ายการตลาด การขาย และการบริการ ฟอร์ด ประเทศไทย ผู้ผลิต และจำหน่ายรถยนต์ "ฟอร์ด" เปิดเผยว่า เป็นมาตรการที่ดี เพราะช่วยกระตุ้นให้ตลาดรถยนต์คึกคักมากขึ้น แต่ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่า มาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นยอดขายได้มากน้อยแค่ไหน ต้องรอดูผล อย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ที่ได้ประโยชน์เป็นรถขนาดเล็ก ซึ่งอาจทำให้ลูกค้าเปลี่ยนเซ็กเมนต์รถที่จะซื้อ โดยมาจากกลุ่มเดิมที่ต้องการซื้อรถที่ใช้เครื่องยนต์ 1,600 ซีซี บ้าง แต่จำนวนอาจจะไม่มากนัก ขณะที่ลูกค้าที่ต้องการซื้อรถที่เครื่องยนต์ใหญ่กว่านั้น มองว่าไม่น่าจะเปลี่ยนใจมาซื้อ แม้จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นก็ตาม

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เป็นกลุ่มบริษัทเช่าซื้อ ไฟแนนซ์ เนื่องจากปล่อยสินเชื่อไปแล้ว เมื่อลูกค้าเข้ามาซื้อรถยนต์ แต่หากไปขอคืนภาษีไม่ได้ เชื่อว่าจะมีลูกค้าบางคนที่นำรถมาคืน หรือไม่ผ่อนต่อ เนื่องจากไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ ซึ่งต้องมีการพิจารณาในจุดนี้อย่างรอบคอบ

ด้าน น.ส.สุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จำหน่ายรถยนต์ "มาสด้า" กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้แจ้งให้ตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ เตรียมความพร้อม ในการให้ความรู้กับลูกค้าในนโยบาย ทั้งด้วยการอธิบาย และเอกสาร โดยจัดทำเป็นพื้นที่เฉพาะ อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่ารถยนต์นั่งขนาด 1,500 ซีซี หรือบีคาร์ จะได้รับความตอบรับจากนโยบายนี้มากที่สุด เพราะได้รับการคืนภาษีสูงสุด

ทั้งนี้ บริษัทได้แจ้งไปยังออโต้อัลลายแอนซ์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์มาสด้า 2 ให้เพิ่มยอดส่งกับบริษัท เพิ่มเป็น 3,500 คัน ต่อเดือน จากเดิมที่ส่งให้อยู่ 3,000 คันต่อเดือน อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่ายอดขายตลาดรวมรถยนต์ในปีนี้จะอยู่ที่ 9.2-9.3 แสนคัน โดยยอดขายที่เติบโตขึ้นมากนี้ เป็นเพราะราคาน้ำมันที่ลดลง ประกอบกับอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ขยายตัวมาก ส่วนนโยบายการคืนภาษีเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ขณะที่ในปีหน้าตลาดรวมรถยนต์มีโอกาสทะลุ 1 ล้านคัน จากปัจจัยบวกที่มีอยู่ รวมถึงรถยนต์รุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นปิกอัพ และอีโคคาร์ ที่หลายค่ายเตรียมทยอยเปิดตัวอย่างต่อเนื่อง จะกระตุ้นตลาดได้เป็นอย่างดี

น.ส.ศศินันทร์ ออลแมน ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย จำกัด และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายรถยนต์ "เชฟโรเลต" เปิดเผยว่า นโยบายดังกล่าวจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้บริโภค และเป็นการกระตุ้นยอดจำหน่ายให้อุตสาหกรรมยานยนต์อีกทางหนึ่งด้วย โดยในส่วนของเชฟโรเลต มีรถที่สามารถได้รับผลประโยชน์นี้ ทั้งจากรถอาวีโอ 1.4 รถกระบะ เชฟโรเลต โคโรลาโดปัจจุบัน และที่กำลังจะออกสู่ตลาดเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม ด้วยกรอบเวลาและเงื่อนไขของนโยบาย บริษัทเห็นว่าประโยชน์จากการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ

ดังนั้น เพื่อประโยชน์สูงสุดกับประเทศในภาพรวม บริษัทสนับสนุนการผลักดันให้เกิดนโยบายนำรถเก่ามาแลกซื้อรถคันใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายๆ ประเทศ โดยผู้บริโภคจะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากภาครัฐ เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคเป็นเจ้าของรถคุณภาพดีได้ง่ายขึ้น

และนโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการควบคุมมลภาวะอันเกิดจากการที่รถเก่าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออก ไซด์อีกด้วย

ขณะที่ นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สรุปว่า นโยบายนี้คาดว่าจะกระตุ้นยอดขายรถยนต์ในประเทศในปี"55 จะมีมากกว่า 1 ล้านคัน จากปี"54 ที่อยู่ระดับ 9 แสนคัน

แต่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศของปีหน้าด้วยว่าจะดีขึ้นหรือไม่



เปรียบเทียบเงินคืนภาษี

ประเภทรถยนต์ อัตราภาษี (%) เงินคืนภาษี (บาท)

รถยนต์นั่ง (1,500 ซีซี) 25 93,500 - 100,000

ปิกอัพ 3 11,000 - 22,200

ดับเบิลแค็บ 12 58,600 - 99,000

อีโคคาร์ 17 51,000 - 69,100

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์