ระวังเอช5เอ็น1-2.3หวัดนกพันธุ์ใหม่


หวัดนก'เอช5เอ็น1-2.3'พันธุ์ใหม่...ตายสถานเดียว : โต๊ะรายงานพิเศษรายงาน

ปลายปี 2546-ต้นปี 2547 สัตว์ปีกจำนวน 25 ล้านตัวทั่วไทยถูกฆ่าทิ้งก่อนวัยอันควร คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 6 หมื่นล้านบาท สาเหตุที่ต้องกำจัดเกิดจากหวาดผวากลัวว่า พวกมันจะเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสมฤตยูชื่อ "ไข้หวัดนก" มาสู่คน การระบาดครั้งนั้นทำให้มีผู้ติดเชื้อเกือบ 600 คนและเสียชีวิตทั่วโลกกว่า 300 คน ส่วนในไทยพบผู้ติดเชื้อ 14 ราย องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในทวีปเอเชียมี 4 ประเทศที่เสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อร้ายตัวนี้อีกครั้งได้แก่ เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย และไทย และที่น่ากลัวไปกว่านั้น คือมีรายงานว่าเชื้อตัวเดิมอาจกลายพันธุ์เป็นตัวใหม่ร้ายกว่าเดิม และอาจแพร่กระจายจากสัตว์สู่คนได้ง่ายขึ้น พร้อมคาดการณ์ว่าในอนาคตถ้าเชื้อหวัดนกกลายพันธุ์ได้จริง จะทำให้มีผู้ป่วยทั่วโลกถึง 28 ล้านคน และเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคน!!
           
ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า ไม่มีรายงานผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในประเทศไทยมานานกว่า 4 ปีแล้ว และผู้ป่วยคนสุดท้ายพบตั้งแต่ปี 2548 อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา กลุ่มศึกษาไข้หวัดนกทั่วโลกต้องตื่นตัวอีกครั้ง หลังจาก "เอฟเอโอ" หรือองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) แถลงว่า เชื้อเอช 5 เอ็น 1 กำลังกลับมาระบาดในสัตว์ปีกอีกครั้งในหมู่นกป่าและไก่ฟาร์ม ที่น่ากังวลคือสายพันธุ์ที่พบในจีนและเวียดนาม เป็นสายพันธุ์ใหม่ชื่อ "เอช 5 เอ็น 1 กลุ่ม 2.3.2.1" (H 5 N 1-2.3.2.1) ซึ่งวัคซีนที่มีในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันได้ พวกมันกำลังแพร่กระจายอยู่ในเวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย ไทย เกาหลีและญี่ปุ่น โดยเฉพาะในกัมพูชาพบผู้ติดเชื้อหวัดนกสายพันธุ์นี้แล้ว 8 รายและเสียชีวิตทุกราย 
  
ศ.ดร.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล กรรมการฝ่ายวิชาการสมาคมไวรัสวิทยาให้ข้อมูลว่า เชื้อไวรัสหวัดนกกลายพันธุ์ตัวนี้ มีรายงานการแพร่ระบาดที่เวียดนามมาหลายปีแล้ว และยังโผล่ที่ชายแดนลาวด้วย แต่ยังไม่พบในไทยอย่างเป็นทางการ สาเหตุที่ "เอฟเอโอ" เตือนภัยไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ สืบเนื่องจากเชื้อตัวนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ทั้งวัคซีนที่ใช้กับคนและสัตว์ ขณะที่ไวรัสเอช 5 เอ็น 1 ตัวดั้งเดิมเมื่อปี 2547 ที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปกว่า 300 คนทั่วโลกนั้น มีวัคซีนป้องกันได้แล้ว

 ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.มหิดล อธิบายต่อว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดประกอบไปด้วยตัว "เอช" หรือ H แอนติเจน (antigen) อยู่ 15 ชนิดตั้งแต่  H1-H15  และ "เอ็น" หรือ N แอนติเจนอยู่ 9 ชนิดคือ N1-N9 โดยเชื้อไข้หวัดนกที่ระบาดไปทั่วโลกคือชนิด "เอช 5 เอ็น 1" (H 5 N 1) ใน เอช 5 นั้น สามารถแบ่งแยกกลุ่มย่อยหรือเคลด (Clade) ได้อีก 10 กลุ่ม แต่ที่พบเห็นบ่อยคือ เอช 5 เอ็น 1 สองจุดหนึ่ง (H 5 N1-2.1) เคยพบที่อินโดนีเซีย เอช 5 เอ็น 1 สองจุดสอง (H 5 N 1-2.2) พบอยู่แถวยุโรปและแอฟริกา และ เอช 5 เอ็น 1 สองจุดสาม (H 5 N 1-2.3) ที่จีนเป็นส่วนใหญ่

"ที่เอฟเอโอเตือนให้เฝ้าระวังคือเชื้อไข้หวัดนก "เอช 5 เอ็น 1 สองจุดสามจุดสองจุดหนึ่ง" เป็นตัวย่อยในกลุ่ม 2.3 เชื้อตัวนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ส่วนตัวเชื้อ 2.1 มีแล้ว และ 2.2 กำลังพัฒนาวัคซีนใกล้สำเร็จ แต่ 2.3 เพิ่งระบาดเป็นครั้งแรก ก็เลยไม่มีบริษัทยาทำวิจัยเชื้อตัวนี้ จากประวัติแล้วมันเคยระบาดในสัตว์ปีกที่จีนไม่กี่ปีมานี้ และพบที่เวียดนามกับลาว ส่วนประเทศไทยเคยมีรายงานข่าวตรวจพบเชื้อ เอช 5 เอ็น 1 กลุ่ม 2.3 จำนวน 1 คน อาศัยอยู่แถวชายแดนภาคอีสาน แต่ไม่รู้แน่ชัดว่าติดมาจากสัตว์เลี้ยงประเภทใด ขอเตือนว่าอย่าไปห่วงกังวัลมากเกินไป  เพราะเชื้อหวัดนกมียารักษาได้คือโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) เป็นยาต้านไวรัสตัวเดียวกับที่รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ สรุปคือเชื้อตัวนี้ไม่น่ากลัว แม้ว่าจะยังไม่มีวัคซีนแต่มียารักษาได้" 

อย่างไรก็ตาม นพ.ประเสริฐยอมรับว่า สถานการณ์น้ำท่วมต่อเนื่องหลายเดือนทั่วประเทศไทยนั้น อาจเป็นปัจจัยทำให้เชื้อไวรัสไข้หวัดนกกลับมาระบาดในสัตว์ปีกอีกครั้ง จึงขอเตือนให้คนที่สัมผัสเป็ด-ไก่ในฟาร์ม หากมีอาการตัวร้อนไม่สบายเป็นไข้ ต้องรีบไปพบแพทย์และบอกอาการอย่างละเอียด    
   
รศ.สพญ.ดร.สันนิภา สุรทัตต์ หัวหน้าศูนย์วิจัยโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำในสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ได้รับเอกสารเตือนไวรัส เอช 5 เอ็น 1 กลุ่ม 2.3 จากเอฟเอโอแล้ว จากข้อมูลเครือข่ายปศุสัตว์ทั่วประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่าพบเชื้อหวัดนกสายพันธุ์นี้ แต่เคยตรวจพบที่กัมพูชาประเทศเพื่อนบ้านของไทยแล้ว เพื่อความปลอดภัยควรเฝ้าระวังเช่นกัน 

            
"ที่ผ่านมาการระบาดของเชื้อหวัดนกในเมืองไทยเกิดจาก 3 สาเหตุด้วยกันคือ 1.เกิดจากนกอพยพจากจีนหรือประเทศอื่นๆ นำเชื้อมาเผยแพร่ 2.จากการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกตามพื้นที่ชายแดนทั่วประเทศ 3.เชื้อร้ายติดมากับอุปกรณ์ของฟาร์มปศุสัตว์ที่ไม่ได้ทำความสะอาด หากจะป้องกันการระบาดให้ได้ผล ก็ต้องเฝ้าระวังปัจจัยทั้ง 3 ตัวนี้อย่างใกล้ชิด" รศ.สพญ.ดร.สันนิภากล่าวทิ้งท้าย


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์