ค่าจ้าง300บาทแค่ขายฝันแรงงาน


ค่าจ้างขั้นต่ำ300บาท แค่ขายฝันแรงงาน : รายงานพิเศษ โดย เตชะวัฒน์ สุขรักษ์ สำนักข่าวเนชั่น

เกือบ 1 เดือนแล้วหลังรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จสิ้น ก็เร่งเดินหน้าทำในหลายโครงการที่หาเสียงไว้กับประชาชนให้เกิดความเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด เพราะมีคำครหามากมาย เยาะเย้ยว่านโยบายประชาชนหลายโครงการจะทำไม่ได้ แต่หลายโครงการก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆ และหลายครั้งที่ผู้นำอย่างน.ส.ยิ่งลักษณ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม ถึงความคืบหน้าของนโยบาย

โดยเฉพาะนโยบายที่รัฐบาลจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ที่ประกาศไว้เมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้ง แต่เมื่อจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา รัฐบาลก็กลับลำเปลี่ยนจากคำว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ" เป็น “รายได้ขั้นต่ำ" แต่รัฐบาลก็ชี้แจงว่าเป็นแค่การเปลี่ยนคำเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย แต่เมื่อดูจากหลายฝ่ายก็มีทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน


เครือข่ายองค์กรแรงงานออกแถลงการณ์เรื่องนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ต้องเท่าเทียมกันทั่วประเทศ โดยสนับสนุนให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศตามที่หาเสียง รัฐบาลก็ต้องไม่เลือกปฏิบัติกับผู้ใช้แรงงานต่างจังหวัด และรัฐบาลควรจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบค่าจ้าง ที่มีทั้งผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างทุกองค์กร และนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง มีสาระสำคัญเพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระยะยาว

โดยนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) มองว่าเป็นโอกาสดีของผู้ใช้แรงงานที่จะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เพราะที่ผ่านมามีรายได้ไม่เท่ากัน รายได้น้อย แต่ค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งผู้ใช้แรงงานไม่มีเวลาพักผ่อน เพราะต้องทำโอที แต่หากมีการขึ้นค่าแรงได้จริง ก็จะทำให้แรงงานมีเวลาไปพักผ่อกับครอบครัว หรือ ดูแลสุขภาพตัวเองได้มากขึ้น ขณะที่หากแรงงานยังมีค่าแรงต่ำจนต้องทำงานนอกเวลาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้เงินเพิ่มนั้น มองว่าแรงงานจะไม่มีโอกาสได้ใช้เงิน เพราะต้องเอาเงินไปรักษาตัว

           
ทั้งนี้ยอมรับว่ากลุ่มแรงงานจำนวนมากสนับสนุนให้เพื่อไทยเป็นรัฐบาล เพื่อให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น  แต่การเปลี่ยนคำจากคำว่า ค่าแรง เป็นรายได้ เป็นคนละเรื่องกัน เพราะค่าจ้างขั้นต่ำคือผู้แรกเข้าต้องได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทส่วนรายได้เช่นพนักงานได้ค่าแรงขั้นต่ำบวกกับค่าอื่นๆ ซึ่งการหาเสียงของรัฐบาลพูดว่าค่าแรงขั้นต่ำ จะบิดพลิ้วไม่ได้

           
“หากรัฐบาลไม่ทำตามที่หาเสียงไว้ เชื่อว่าผู้ใช้แรงงานคงจะออกมาทวงถาม เพราะตอนนี้ให้ระยะเวลา 6 เดือนในการทำให้มีความชัดเจน และวันที่ 1 มกราคม 2555 นโยบายนี้ต้องเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลทำเรื่องนี้ห้เกิดเป็นรูปธรรมได้ แต่หากทำไม่ได้ก็เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้คงอยู่ไม่ได้ แรงงานจะคิดอย่างไร และต้องออกมาขอโทษประชาชนเพราะหาเสียงไว้แล้ว และการเลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนก็ต้องคิดว่าการหาเสียงแล้วจะทำได้จริงหรือไม่ รัฐบาลต้องจริงใจในการทำงาน”

           
ส่วนการนำร่องขึ้นใน 7 จังหวัดนั้น คสรท.ไม่เห็นด้วย เพราะรัฐบาลพูดชัดเจนว่าจะทำพร้อมกันทั่วประเทศทันที แต่หากนำร่อง 7 จังหวัด รัฐบาลจะตอบประชาชนอย่างไรว่าจังหวัดที่นำร่องขึ้นค่าแรงดีกว่าจังหวัดที่ไม่ได้ขึ้น ซึ่งทุกจังหวัดมีค่าใช้จ่ายก็เหมือนกันหมด และทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายเกิน 300 บาทแล้ว

          
"ขอให้รัฐบาลทำตามที่หาเสียงไปก่อน หากมีปัญหาก็ให้มาคุยกัน ซึ่งมองว่าบริษัทขนาดใหญ่จะได้ผลประโยชน์จากเรื่องนี้ด้วย เพราะบางบริษัทมีค่าจ้างเกิน 300 บาทอยู่แล้ว" นายชาลีเรียกร้อง พร้อมกับย้ำว่าการที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะกระทบกับธุรกิจSME ตนเห็นว่า SME เป็นธุรกิจที่พิเศษ มีแรงงานน้อยและเป็นคนมีฝีมือ ค่าจ้างเกิน 300 บาทอยู่แล้ว ซึ่งหากเพิ่มค่าแรง300บาทจะกระทบเอสเอ็มอีน้อยมากๆ แต่ยอมรับว่าจะกระทบกับเอสเอ็มอีที่มีขนาดกลาง

          
อย่างไรก็ตาม นายชาลี คาดว่าปลายเดือกมกราคม ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 จะสามารถประกาศขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 300 บาทได้ เพราะขณะนี้รัฐบาลได้ขอความร่วมมือกับบริษัทที่มีขนาดใหญ่ ให้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทให้กับพนักงานไปก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับธุรกิจอื่น

          
กระนั้น เมื่อหันมาดูคงามพร้อมของกลุ่มทุน โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ก่อนหน้านี้ได้ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทมาแล้ว นายพยุงศักดิ์ ชาติสิทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า ตนเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงเพื่อให้รายได้มีความเหมาะสม แต่ก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ไม่เช่นนั้นจะไม่สอดคล้องกัน แต่การฏิบัติจะทำอย่างไรให้ราบรื่น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ก็ต้องการเวลาปรับตัว ซึ่งคิดว่าการเพิ่มค่าแรงเป็นรายได้ 300 บาท เป็นแนวคิดที่ดี

           
“เมื่อดูชีวิตความเป็นอยู่ไม่ใช่ดูค่าแรงอย่างเดียว แต่ต้องดูรายได้เป็นหลัก” นายพยุงศักดิ์ เห็นว่าการดูแลแรงงานก็จะมีกลไกในการดูแล มีระบบเพื่อให้ทำงานอยู่ด้วยกัน มีสวัสดิการต่างๆ ที่กฎหมายไม่ได้กำหนด เพื่อดูแลพนักงาน และจูงใจ ซึ่งหากเปลี่ยนแบบก้าวกระโดดก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัว

          
 นายพยุงศักดิ์ บอกว่าเมื่อสำรวจภาคเอกชนมีคนที่ได้รับผลกระทบ เพราะใช้สัดส่วนแรงงานมีฝีมือน้อย มีจำนวนน้อยมาก แต่เอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบมาก ที่หนักมากก็เป็นการเกษตร เกษตรแปนรูป อาหารแปรรูป ซึ่งอยู่ที่รัฐบาลจะทำอย่างไรเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะเอกชนก็จะแบกภาระส่วนหนึ่งได้ แต่จะมีผลกระทบมาก เพราะภาคธุรกิจจะมีการทำแผนไว้ล่วงหน้า ขณะเดียวกันการประเมินผลกระทบที่ภาคเอกชนจะได้รับนั้น ก่อนหน้านี้ก็เสนอปัญหาไปว่าจะต้องดูแลผลกระทบ ซึ่งหากมีขึ้นทั่วประเทศพร้อมกันก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจ กระทบผู้ประกอบการและต่อประชาชน โดยเฉพาะราคาสินค้า

          
"การขึ้นค่าแรงนำร่องเพียง 7 จังหวัด อาจจะมีจังหวัดที่มีค่าแรงสูงแต่ขาดแคลนภาวะแรงงาน ซึ่งขอให้ขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป คำนึงถึงผู้ประกอบการด้วย อาจจะทำให้ธุรกิจล้มได้ เพราะหากขึ้นจังหวัดนำร่อง ทุกภาคส่วนอย่าตึงเกินไป อะไรที่พอช่วยเหลือกันก็ควรทำเพื่อให้เกิดความราบรื่น ซึ่งเรื่องพวกนี้หากทำแล้วมีการเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบก็ขอให้รัฐบาลดูผลกระทบนี้ด้วย ซึ่งคิดว่าหากเลยระยะเวลา 3-4 ปีที่ภาคเอกชนเคยขอไว้ก็จะมีการปรับตัวในอัตราปกติ” ประธานสภาอุตสาหกรรมกล่าว

           
“ที่สภาอุตฯ ออกแถลงการณ์ ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย แต่เพียงให้ข้อคิดเห็นในเรื่องผลกระทบ ซึ่งต้องการคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานที่ดีด้วย ซึ่งขอให้ใช้เวลาในการทำ”

           
ส่วนความเคลื่อนไหวในส่วนกลุ่มแรงงานที่เรียกร้องให้ขึ้นทั่วประเทศนั้น นายพยุงศักดิ์แสดงความเห็นว่าแต่ละฝ่ายมีหลัก มีเหตุผล ควรช่วยเหลือกันและสุดท้ายคงไปถึงเป้าหมาย เพียงอาจจะใช้เวลา เพื่อให้ราบรื่นมีเหตุผล มีเป้าหมายเหมือนกัน ก็อยู่ที่ว่าจะปฏิบัติอย่างไร ซึ่งขณะนี้บริษัทไหนที่พร้อมก็เดินหน้าไปก่อนได้ และการขึ้น 300 บาทแล้วในปีหน้าหลังจากนั้นก็จะเป็นไปตามกลไกตลาด ส่วนค่าครองชีพที่หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงนั้น เชื่อว่าจะเป็นไปตามกลไกต้นทุน ซึ่งรัฐจะต้องดูช่วงที่มีความผันผวน พร้อมปรับให้เข้าที่และปล่อยให้เป็นไปตามกลไก หากตรึงราคาสินค้ามากเกินไปกลายเป็นโครงสร้างต่างๆ จะไม่เป็นไปตามกลไกและสุดท้ายแล้วจะควบคุมไม่อยู่

          
ขณะที่ ในส่วนกลุ่ม SME ที่มีทั้งมุมบวกที่มองว่ากลุ่มนี้ไม่ได้รับผลกระทบ กับมุมลบที่หลายฝ่ายมองว่าไม่ได้รับผลกระทบมากนั้น นายนายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เห็นว่าตามหลักจากการวิเคราะห์มีต้นทุนของผู้ประกอบการ ที่ต้องมีการปรับต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มค่าแรงที่คาดว่าจะทำให้ต้นทุนเพิ่มประมาณ 35-80 % ขณะที่ในภาพรวมต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 6-13 % แต่ก็เชื่อว่าการขึ้นค่าแรง 300 บาทจะไม่ทำให้ถึงขั้นที่ผู้ประกอบการต้องปลดพนักงาน ส่วนทางออกของผู้ประกอบการก็ต้องยกระดับ ความรู้ความสามารถ ประสิทธิภาพของพนักงาน พร้อมเพิ่มทักษะของแรงงานให้สูงขึ้น รวมไปถึงการปรับผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น และการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ให้ศักยภาพสูงขึ้น ทั้งนี้มาตรการรองรับผลกระทบของการขึ้นค่าแรง 300 บาท มีการเตรียมยกระดับประสิทธิภาพแรงงานโดยการเตรียมโครงการไว้ฝึกอบรมและการปรับปรุงเทคโนโลยี รวมทั้งปรับปรุงเครื่องจักรซึ่งเป็นหลักการในระยะสั้น ส่วนระยะยาวจะต้องมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม

           
กระนั้นดูเหมือนว่า การรอคอยของบรรดาแรงงานในขณะนี้ยังต้องรอไปก่อน เพราะการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างล่าสุด ยังไม่มีข้อสรุปที่เห็นตรงกัน โดยนพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) เสนอให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาหาแนวทางสนองนโยบายรัฐบาลว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้ต้องพิจารณาว่าจะทำเรื่องนี้อย่างไร เช่นการขึ้นค่าแรงในรูปแบบ ขั้นบันได ที่อาจจะใช้ระยะเวลา 4 ปีก็จะขึ้นถึง 300 บาท

           
แต่นายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง มองว่าการขึ้นค่าแรง 300 บาทต้องพิจารณาตามกรอบที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ โดยขึ้นเท่าไหร่ก็ควรทำตามนั้น ขณะที่ส่วนต่างกับ 300 บาท รัฐบาลก็ควรรับผิดชอบเอง เพราะได้หาเสียงไว้กับประชาชน จึงควรรับผิดชอบ  อีกทั้งการขึ้นค่าแรง 300 บาทนำร่องใน 7 จังหวัดตามแนวทางของรัฐบาลก็ไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะคำนวนอย่างไรก็ไม่ถึง 300 บาท เนื่องจากดัชนีค่าครองชีพกับเงินเฟ้อไม่ถึง 300 บาท

           
ขณะที่นายสุรเดช ชูมณี กรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง บอกว่าทุกภาคส่วนพยายามจะช่วยให้การขึ้นค่าแรง 300 บาทมีความเป็นไปได้ ซึ่งสิ่งที่ขาดไปคือองค์กรนายจ้างควรระบุว่าการที่ได้รับผลกระทบนั้น ได้รับผลกระทบเท่าไหร่ กระทบอย่างไร รัฐจะต้องมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไรและช่วยเท่าไหร่ ถึงจะขึ้นค่าแรง 300 บาทได้

           
ความเห็นของแรงงานระดับล่างอย่างนายมณี หอมจันทึก ชาวจ.นครสวรรค์ ที่เป็นรปภ.ของบริษัทแห่งหนึ่ง บอกว่าทุกวันนี้จะได้ค่าแรงต่อกะในการเข้าเวร 12 ชั่วโมงอยู่ที่วันละ 270 บาท ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าอาหารประมาณ 120 บาท แต่ละวันจะมีเงินเหลือเพียง 150 บาท รวมแล้วแต่ละเดือนจะใช้จ่ายค่าอาหารประมาณ 2,000 บาท นอกจากนี้ยังต้องเก็บไว้จ่ายค่าห้องพัก ค่าน้ำ ค่าไฟ และแต่ละเดือนจะมีเงินเหลือประมาณ 5,000 บาทเท่านั้น ซึ่งนายมณี เห็นด้วยที่รัฐบาลจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทให้กับแรงงาน แต่ขณะนี้เห็นว่าเรื่องนี้ยังเงียบหายอยู่ส่วนบริษัทที่ทำงานอยู่ก็หารือกันแล้วว่าจะมีการขึ้นค่าแรงให้พนักงานรปภ.ในสังกัดด้วย

           
จากนโยบายดังกล่าวที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนนั้น นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็พูดชัดเจนว่า การขึ้นรายได้ 300 บาท ต้องรอกระบวนการที่ต้องได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่ายก่อน ซึ่งการทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 คาดว่าจะผ่านในปีหน้า และมาตรการลดภาษีนิติบุคคล จากร้อยละ 30 ก็จะลดลง ร้อยละ 23 ในปีต่อไปจะลดภาษีนิติบุคคลให้เหลือ ร้อยละ 20 รัฐบาลจะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยยืนยันจะนำร่องใน 7 จังหวัดก่อน ส่วนอีก 3-4 ปีคาดว่าจะจ่ายรายได้ 300 บาท ได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

          
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจของเครือข่ายองค์กรแรงงาน ที่มีกลุ่มตัวอย่าง 3,660 ชุด ที่สำรวจภูเก็ต สมุทรปราการ ระยอง นครปฐม สมุทรสาคร ชลบุรี กรุงเทพฯ สงขลา นครราชสีมา อยุธยา นนทบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา อ่างทอง ปราจีนบุรี และปทุมธานี ยังพบว่ามีแรงงานที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำกว่า 300 บาทกว่า 68.61 % ซึ่งสวนทางกับค่าใช้จ่ายรายวันของผู้ใช้แรงงานคนเดียว ที่ไม่รวมค่าใช้จ่ายบุตร ค่าผ่อนบ้าน รถ ค่ารักษาพยาบาล มีรายจ่าย 348.39 บาท และค่าใช้จ่ายรายวันของผู้ใช้แรงงานและครอบครัวรวม 3 คน มีค่าใช้จ่าย 561.79 บาท

          
หากรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้แรงงานก็ต้องรอต่อไปด้วยความหวัง แต่รัฐบาลก็ระมัดระวังด้วยว่า หากเป็นเพียงนโยบาย “ลม” ที่ใช้แค่หาเสียงเท่านั้น ก็อาจจะเป็นศรย้อนกลับมาสู่รัฐบาลได้ และเมื่อถึงวันนั้นผลกระทบที่ได้รับก็อาจจะมากกว่าการขึ้นค่าแรงก็เป็นได้


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์