ชำแหละงบรัฐบาลบานปลาย


“กรณ์” วิเคราะห์นโยบายรัฐบาลส่งผลปีงบ 55 มีรายจ่ายเพิ่มอีก 330,610 ล้านบาท หวั่นกระทบกรอบรายจ่าย-รายได้ และการขาดดุล

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบทางงบประมาณที่เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาล โดยพบว่า นโยบายต่าง ๆ ที่จะเริ่มดำเนินการทันทีนั้น น่าจะส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้เงินโดยตรงจากงบประมาณปี 55 เพิ่มขึ้นอีก 330,610 ล้านบาท แต่ขณะที่ รายได้กลับคาดว่าจะลดลง 133,500 ล้านบาท จากมาตรการปรับลดภาษีต่าง ๆ โดยยังไม่รวมโครงการที่ซุกไว้นอกงบประมาณอีก 577,166 ล้านบาทด้วย

ทั้งนี้ พบว่า รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากการใช้เงินเยียวยาจากการชุมนุมทางการเมือง 910 ล้านบาท ในกรณีที่แจกเงินให้ศพละ 10 ล้านบาท โดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจแต่อย่างใด การปรับรายได้ขั้นต่ำ 300 บาท และการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ลูกจ้าง 15,000 บาทต่อเดือน 861,186 ราย ที่รับเงินเดือนเฉลี่ย 10,640 บาทอยู่ขณะนี้ รวมเป็นเงิน 45,000 ล้านบาท การเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต้องใช้งบเพิ่มอีก 15,000 ล้านบาท การเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ต้องใช้เงินอีก 80,000 ล้านบาท จาก 80,000 หมู่บ้าน

นอกจากนั้น ยังมีงบส่วนของการตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอีก 7,600 ล้านบาท ทั้ง 76 จังหวัด การจัดตั้งกองทุนตั้งตัวได้ ต้องใช้เงินกว่า 169,000 ล้านบาท จาก 169 มหาวิทยาลัย เพิ่มเงินกองทุนเอสเอ็มแอลอีก 3,200 ล้านบาท ที่เฉลี่ยหมู่บ้านละ 400,000 บาท ทั้ง 80,000 หมู่บ้าน การใช้งบแจกแท็บเล็ต ซึ่งต้องใช้งบอีก 4,000 ล้านบาท เฉพาะเด็ก ป.1 ทั่วประเทศ 800,000 คน เฉลี่ยราคาแท็บเล็ตเครื่องละ 5,000 บาท การเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า 10 เส้นทางใน กทม. และค่าเดินทาง 20 บาทตลอดสาย ใช้งบอีก 900 ล้านบาท โครงการฟรีไวไฟท์ ใช้งบอีก 5,000 ล้านบาท จากสถานศึกษาทั่วประเทศ 39,600 แห่ง สถานพยาบาล 14,438 แห่ง แหล่งท่องเที่ยว 5,678 แห่ง ที่มีต้นทุนต่อหนึ่งจุดเชื่อมสัญญาณ 85,000 บาท

อย่างไรก็ตาม โครงการเบื้องต้นนี้ เป็นเพียงการใช้เงินในงบประมาณ แต่ยังมีอีกหลายโครงการที่ซุกไว้นอกงบประมาณ รวมเป็นเงินกว่า 577,166 ล้านบาท ขณะที่ รายได้ที่หายไป 133,500 ล้านบาท ในปี 55 นั้น มาจากการลดภาษีนิติบุคคล 23% ปีแรก เป็นเงิน 112,500 ล้านบาท ซึ่งคิดผลกระทบช่วง 9 เดือนเท่านั้น และจากการยกเว้นภาษีบ้านหลังแรก-รถยนต์คันแรกอีก 21,000 ล้านบาท จากที่คาดว่ารถใหม่คันแรกจะมีปีละ 70,000 คัน และภาษีบ้านหลังแรก 3,000 ล้านบาท แต่เป็นโครงการต่อเนื่องจากรัฐบาลเดิม

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้งบประมาณปี 55 ที่กำลังจัดทำ อาจต้องปรับเปลี่ยนใหม่อีกครั้ง จากที่ตั้งกรอบวงเงินรายจ่ายไว้ 2.25 ล้านล้านบาท อาจเพิ่มเป็น 2.58 ล้านล้านบาท รายได้จากกรอบเดิม 1.9 ล้านล้านบาท อาจลดลงเหลือ 1.766 ล้านล้านบาท ส่งผลให้การขาดดุลอาจเพิ่มไปถึง 814,110 ล้านบาท จากที่ตั้งไว้เดิม 350,000 ล้านบาท ขณะที่ กรอบขาดดุลให้อำนาจไว้ที่ 553,095 ล้านบาท จึงอาจเกินกรอบวงเงินถึง 261,015 ล้านบาท ที่รัฐต้องหาเงินมาใช้จ่ายตามโครงการที่ประกาศไว้.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์