ค่าแรง300ทำสอท.แตก2ขั้ว เอสเอ็มอียัวะ

ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทพ่นพิษ ทำสมาชิก ส.อ.ท.แตก 2 ขั้ว รายใหญ่หนุนเต็มที่เพราะได้ประโยชน์ลดภาษี แต่กลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของ ส.อ.ท.ไม่เอา ลือหึ่งเตรียมหาคนใหม่มาแข่งชิงประธานสมัยหน้า ที่กำลังหมดวาระในต้นปี 2555 เผย หากหาคนที่ยอมรับได้ พยุงศักดิ์žอาจแห้วต่ออายุสมัยที่ 2

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท

 ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย และกำลังจะกลายเป็นนโยบายที่กำลังจะประกาศในรัฐสภาในวันที่ 23 สิงหาคม ทำให้สมาชิกของ ส.อ.ท.แตกออกเป็น 2 ขั้ว โดยฝ่ายหนึ่งเป็นบริษัทใหญ่ที่สนับสนุนการขึ้นค่าแรงทันที เพราะมีความสามารถในการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และยังได้ประโยชน์จากนโยบายลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 23% จากปัจจุบัน 30% ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงทันที เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจึงต้องการให้รัฐบาลทยอยปรับค่าแรงภายใน 3-4 ปี เพื่อให้ธุรกิจมีเวลาปรับตัว ซึ่งกลุ่มเอสเอ็มอีนั้นมีสัดส่วนการเป็นสมาชิกของ ส.อ.ท.ประมาณ 80% จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 7,000 ราย


แหล่งข่าวกล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้กลุ่มทุนที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. หลายรายเริ่มไม่ให้การสนับสนุนนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. ต่อวาระอีกสมัย

เนื่องจากไม่พอใจกับบทบาทผู้นำของ ส.อ.ท.ที่อ่อนแอจนไม่สามารถรวมกลุ่มสมาชิกเพื่อคัดค้านนโยบายขึ้นค่าแรงและเสนอข้อมูลผลกระทบเชิงลึกได้ ซึ่งต่างกับผู้บริหารของสภาหอการค้าไทยที่รวมกลุ่มสมาชิกในการต่อต้านเรื่องต่างๆ อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่มองว่านโยบายการขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดจะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทัน


ขณะนี้สมาชิก ส.อ.ท.หลายกลุ่มกำลังมองหาบุคคลที่จะมาลงสมัครชิงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. ครั้งหน้าที่จะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2555 ซึ่งหากมีบุคลากรที่เป็นที่ยอมรับของสมาชิก นายพยุงศักดิ์อาจจะไม่ได้ต่อวาระอีก 1 สมัย เพราะตามธรรมเนียม ส.อ.ท.จะให้โอกาสผู้บริหารดำรงตำแหน่ง 2 วาระซ้อน หากประธานไม่มีข้อบกพร่องต่อหน้าที่

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ สมาชิกที่เป็นเอสเอ็มอี


อาทิ กลุ่มผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม เกษตรแปรรูป อาหาร รองเท้า และเฟอร์นิเจอร์ แสดงความกังวลว่าภาคเอกชนอาจไม่มีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลให้การปรับค่าแรงเป็นแบบขั้นบันได ไม่ใช่แบบก้าวกระโดดในอัตราเดียวกันทั่วประเทศ เพราะคณะกรรมการไตรภาคีที่มีตัวแทนจากลูกจ้าง ภาครัฐ และเอกชน ในส่วนของลูกจ้างและภาครัฐพร้อมจะสนับสนุนรูปแบบการขึ้นดังกล่าว ทำให้เสียงจากตัวแทนนายจ้างสู้ไม่ได้


กระแสการไม่ยอมให้นายพยุงศักดิ์กลับมาเป็นประธาน ส.อ.ท.เป็นวาระที่ 2 แรงมาก แต่ก็เชื่อว่าขณะนี้ยังมีสมาชิกอีกมากสนับสนุนนายพยุงศักดิ์และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับนายพยุงศักดิ์ เพราะเป็นบุคคลที่ตั้งใจทำงานและลงพื้นที่ดูแลเอสเอ็มอีตลอดเวลา แม้จะมีท่าทีที่อ่อนแอในสายตาของสมาชิก


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์