อ.กรมปศุสัตว์จี้เพิ่มบทลงโทษทารุณสัตว์

20 ส.ค.54 นายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และคณะนำขบวนคาราวานอาหารสุนัข-เวชภัณฑ์จากเมืองกรุง น้ำหนักกว่า 6 ตัน

มาช่วยสุนัขที่ด่านกักกันสัตว์นครพนม เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสคนรักสุนัขที่เฝ้าติดตามข่าวโดยต่างหวังว่าอาหารและเงินบริจาคจะตกสู่สุนัขทั้งหลายเหล่านี้ และได้รับการดูแลเอาใจใส่ห่วงใย มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี อันเนื่องจากความผูกพันซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรู้ที่ใกล้ชิดมนุษย์มากที่สุด

นายปรีชา กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้คือต้องเร่งรักษาดูแลไม่ให้สุนัขตายเพิ่มอีก ส่วนเจ้าของสุนัขผู้ที่มารับสุนัขกลับบ้านไปแล้วซึ่งมีอยู่ 7 ถึง 8 ราย
 
ให้คอยสังเกตอาการของสุนัขด้วย ถ้าหากมีอาการเซื่องซึมให้รีบส่งตัวให้สัตวแพทย์ใกล้บ้านตรวจรักษาทันทีเนื่องจากสุนัขกินอยู่ปะปนกันเป็นจำนวนมากอาจมีดรคระบาดถึงกันได้ง่าย นายปรีชา กล่าวต่อไปว่า ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทั่วประเทศต้องตรวจสอบตั้งด่านเคลื่อนย้ายสัตว์ให้เข้มงวดกว่าเดิม ล่าสุดกรมปศุสัตว์เตรียมยื่น พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์เข้าสภาซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้สามารถบังคับใช้ ก็จะสามารถลดปัญหาการค้าและทารุณกรรมต่อสัตว์ลงได้ และจะมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนที่หนักขึ้นสุนัขต้องดูแลให้ดี ไม่ปล่อยปะละเลย ฉีดวัคซีนให้กินอาหาร รักษาสุขภาพตามสมควร ซึ่ง พ.ร.บ.นี้จะมีการเพิ่มบทลงโทษหนักและครอบคลุมเนื้อหามากขึ้น

            
หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าว อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้ส่งมอบสุนัขเพศเมียชื่อ “จักจั่น” คืนให้แก่ นายพอดี ศรีศักดิ์ ชาวบ้านสว่างพัฒนา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ซึ่งสูญหายไปกว่า 20 วันก่อนตามพบที่คอกสุนัขแห่งนี้ 

            
ล่าสุด นายไพรัช ปทุมสุวรรณ ปศุสัตว์จังหวัดนครพนม กล่าวว่า ได้มีประชาชนเดินทางมาเยี่ยม และ ตามหาสุนัขของตนเองเป็นจำนวนมาก

ซึ่งสุนัขแต่ละตัวร่างกายเข็งแรงขึ้น ขณะนี้มียอดสุนัขที่เหลืออยู่ จำนวน 967 ตัว และตายเพิ่มอีก 6 ตัว รวมตายสะสมตั้งแต่วันรับมาคือ 295 ตัว และมีสุนัขที่เจ้าของมารับกลับบ้านไปจำนวน 13 ตัว ส่วนยอดเงินบริจาคเพื่อซื้ออาหารสุนัขและเวชภัณฑ์จำนวน 17 ล้านบาท

            
ด้านนายมงคล ตันสุวรรณ ประธานหอการค้า จ.นครพนม กล่าวว่า กรณีสุนัขที่จับได้ในพื้นที่ จ.นครพนม ต้องมองเป็น 2 ส่วน

ส่วนหนึ่งในแง่การค้า ที่เอาผลประโยชน์จากสุนัข เรื่องนี้ไม่เห็นด้วย และคนนครพนมทั้งจังหวัดก็ไม่เห็นด้วย แต่ในกรณีที่ 2 กรณีสุนัขที่เราอยากจะกำจัดอย่างสุนัขจรจัด หากสามารถจัดการได้ก็จะเป็นเรื่องดี เพราะหากปล่อยไว้ก็จะเป็นอันตรายต่อคนในพื้นที่ แต่ขณะนี้ไม่มีกฎหมายอันไหนที่จะมาดูแลตรงนี้หรือ เปิดช่องให้ดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะหากดำเนินการก็ผิดกฎหมายแค่ขนย้ายออกก็ผิดแล้ว เพราะประเทศไทย สุนัข คือ สัตว์เลี้ยง เลี้ยงเอาไว้เพื่อเป็นเพื่อน 
 
ขณะที่ เพื่อนบ้านเรา สุนัขคือปศุสัตว์สามารถเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารได้ซึ่งแตกต่างกัน ที่ผ่านมาการส่งสุนัขออกจากชายแดนไทย - ลาว เยอะไหม เยอะมาก

แต่ละปี มีการค้าขายกันไม่ต่ำกว่า 100 ล้าน แต่มีจับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ครั้งนี้ที่จับได้ เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมต้องการปราบปรามและบอกเอาไว้ตั้งแต่ครั้งก่อนว่า จะไม่ยอมให้นครพนมเป็นจุดผ่านเพื่อส่งสุนัขออกไปขายยังต่างประเทศก็เลยทำให้จับได้

            
"ต้องชื่นชม ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และ รองผู้ว่าทั้งสองท่าน เพราะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก
ซึ่งชัดเจนว่าหากผู้ว่าฯท่านไม่เข้มงวด สุนัขทั้ง 2 พันตัวก็จะต้องออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ เพราะมีการค้ากันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครเอาจริงเอาจังกับมันเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น รัฐบาลควรจะออกมาเล่น และดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม มีกฎหมายออกมาให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้น เห็นก็จับ ไม่เห็นก็ปล่อยไป เพราะมีอะไรที่จะเอาผิดแบบเข็ดหลาบได้ จะหวังให้คนในท้องถิ่นดำเนินการ ก็แก้ปัญหาได้ไม่มากนัก เพราะไม่มีอำนาจในมือมาก หากภาครัฐเสนอกฎหมายออกมาบังคับใช้ เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวจะดีกว่า" นายมงคล กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์