สั่งศึกษา 4 เดือน รับขึ้นค่าแรง 300 บาท

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่กระทรวงแรงงาน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน  ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง)

เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมยังไม่ได้พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แต่ได้มอบให้ทุกฝ่ายไปรวบรวมข้อมูลผลกระทบถ้าหากต้องมีการปรับขึ้น เช่น ต้นทุนสินค้า อัตราเงินเฟ้อ ตัวเลขจีดีพี โดยให้เวลา  4 เดือนก่อนที่จะถึงเส้นตายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ตามนโยบายรัฐบาลในช่วงเดือน ม.ค.  2555  เพื่อให้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลกระทบน้อยที่สุด ส่วนกรณีนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงานสั่งให้สำรวจข้อมูลแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 300 บาท ทุกพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อนำมาเป็นฐานในการปรับขึ้นค่าจ้างนั้น ล่าสุดได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ทุกจังหวัด สำรวจ คาดว่าจะสามารถนำเสนอข้อมูลดังกล่าวได้ภายใน 1-2 วันนี้
   
ด้านนายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ กรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า เมื่อพรรคการเมืองหาเสียงด้วยนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน

ถ้าพรรคการเมืองมีความสามารถก็ต้องทำให้ได้จริง ทำไมต้องโยนภาระมาให้พวกตนรับผิดชอบเพราะเท่ากับเป็นการช่วยพรรคการเมืองไม่ให้ถูกยุบพรรคตามกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 53 (5) ในเรื่องของการผิดสัญญาหาเสียง ขณะที่นายอรรถยุทธ ลียะวณิช  กรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า อยากให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปตามกลไกระบบไตรภาคี ไม่อยากให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง รวมทั้งต้องไม่ทำเพื่อสนองนโยบายของพรรคการเมือง ไม่เช่นนั้นเลือกตั้งครั้งหน้าหากมีพรรคการเมืองบอกว่า จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 500 บาท คณะกรรมการค่าจ้างกลางก็ต้องทำตามนโยบายฝ่ายการเมือง
   
นายชัยพร จันทนา กรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ทุกวันนี้ลูกจ้างไม่ได้ดีใจกับนโยบายค่าจ้าง 300 บาท

 
เพราะหลังจากที่มีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายดังกล่าวส่งผลให้ราคาสินค้าได้พุ่งเกินค่าจ้าง 300 บาทไปแล้ว ทั้งนี้ค่าจ้างปัจจุบันควรอยู่ที่ 400 บาทต่อวัน ทั้งนี้ฝ่ายลูกจ้างไม่พอใจเรื่องการสำรวจค่าครองชีพซึ่งได้สำรวจกันหลายรอบแล้ว ตนมองว่าเป็นเรื่องการเมืองที่รอดูทิศทางลมมากว่า  ดังนั้นขอเสนอรัฐบาลให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและจังหวัดที่มีสภาพเศรษฐกิจดีเพราะผลกระทบมีน้อยกว่าการปรับขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม มีลูกจ้างที่อยู่ในข่ายรับค่าจ้างขั้นต่ำในกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณกว่า 5 ล้านคน ถ้าทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคน ไม่รวมแรงงานต่างด้าว.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์