เริ่มแล้ววันนี้!-กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก


เริ่มแล้ววันนี้ 11 ส.ค.2554 ถือฤกษ์เป็นวันแรกที่พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก 2551 กำหนดให้มีการคุ้มครองเงินฝากตามจำนวนที่ฝากไว้ รวมถึงดอกเบี้ยคงค้างจากเงินฝากดังกล่าวในวงเงินรวมไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย 

กล่าวคือไม่ว่าจะมีเงินฝากเท่าไร หากสถาบันการเงินมีปัญหาถึงขั้นปิดกิจการ ผู้ฝากเงินจะได้รับความคุ้มครองในวงเงินรวมไม่เกิน50ล้านบาท(ห้าสิบล้านบาท)เท่านั้น


และถัดจากนี้ไปอีก1ปี หรือในวันที่ 11 ส.ค.55 เป็นต้นไป จะได้รับความคุ้มครองเงินฝากวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท(หนึ่งล้านบาท)ต่อรายเท่านั้น   โดยผู้ฝากทุกคนทั้ง 100% จะได้รับความคุ้มครองเหมือนกันหมด และผู้ฝากที่ได้รับคุ้มครองเต็มวงเงินคือผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทซึ่งมีอัตราส่วนสูงถึง  98.5% ของผู้ฝากทั้งหมด (ดูตารางประกอบ)

นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่าการคุ้มครองดังกล่าวเป็นการ  “คุ้มครองประชาชนผู้ฝากเงินทุกราย”  ในระบบสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง ตามอัตราวงเงินคุ้มครองที่กฎหมายกำหนด  ซึ่งปัจจุบันบัญชีเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองโดย สคฝ. มีจำนวน 60 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 7.4 ล้านล้านบาท  ที่จะได้รับการดูแลในกรณีที่เกิดวิกฤตสถาบันการเงินปิดกิจการ    ผู้ฝากเงินจึงมั่นใจได้ ไม่ต้องตื่นตระหนก


อย่างไรก็ตาม สถาบันคุ้มครองเงินฝากยังเป็นกลไกที่จะสร้างวินัยทางการเงิน ซึ่งจะเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน  รวมทั้งยังช่วยพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันให้กับสถาบันการเงินต่างๆ ให้ดำเนินการอย่างระมัดระวัง โปร่งใส  ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายก็คือจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ฝากเงินทุกคน

สำหรับสถาบันการเงินที่ได้รับความคุ้มครอง ได้แก่  ธนาคารพาณิชย์ไทย รวมสาขาธนาคารต่างประเทศ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามรายชื่อดังนี้  ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา   ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารทหารไทย ธนาคารทิสโก้ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาต ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารยูโอบี ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)    ธนาคารไอซีบีซี (ไทย)  ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย    ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก...)

อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ไม่ครอบคลุมถึงธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งเป็นธนาคารที่รัฐถือหุ้นและดูแลผู้ฝากเงินอยู่แล้ว รวมทั้งธนาคารอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เช่น ธนาคารอิสลาม

นั่นหมายความว่าผู้ที่ฝากเงินกับสถาบันการเงินของรัฐเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนเต็มจำนวน

โดยก่อนหน้านี้ผู้บริหารธนาคารของรัฐหลายแห่งออกมาประเมินว่าจะมีเงินฝากไหลเข้าธนาคารของรัฐเหล่านี้หลายแสนล้านบาท เนื่องจากมีการคุ้มครองเงินฝากเต็มทั้งจำนวน แต่ก็อาจต้องแลกกับความไม่สะดวกสบาย เช่นจำนวนสาขาที่น้อยกว่า เป็นต้น

               

นายสิงหะกล่าวว่า สคฝ.ยังได้เตรียมจัดทำ “แผนกลยุทธ์สถาบันคุ้มครองเงินฝาก 3 ปี” ( พ.ศ. 2555-2557 ) เพื่อเป็นถ้อยแถลงเกี่ยวกับทิศทางในอนาคต และเป็นกลไกสื่อสารให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในองค์กรได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติร่วมกัน ในการกำหนดแผนงานและตัวชี้วัดต่างๆต่อไป  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสถาบันไปสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ  มีการบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อผู้เกี่ยวข้อง และมุ่งส่งเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินต่อไป  ทั้งนี้ จากแผนยุทธศาสตร์หลักๆ ดังกล่าวได้มุ่งเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนในประเด็นที่สำคัญ
 

ได้แก่ การเป็นเลิศด้านการปฎิบัติการ (Operational Excellent) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการดำเนินการกรณีที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต  มีระบบติดตามฐานะและดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินและมีแผนรองรับกรณีเกิดวิกฤติ  มีการบริหารเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด  มีกระบวนการชำระบัญชีที่มีประสิทธิภาพ   มีการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยงขององค์กร  รวมทั้งพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ครบถ้วนทันสมัย


นอกจากนี้  แผนกลยุทธ์ยังให้ความสำคัญกับการสร้างและพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถเพิ่มขึ้น และทำงานอย่างมีความสุข พร้อมดำเนินงานและบริหารสถาบันอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) รวมทั้งสถาบันฯ ยังได้ให้ความสำคัญกับการมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อสถาบัน (Effective Partnerships)  และการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบบการคุ้มครองเงินฝาก  และการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของสถาบัน (Educated & Informed Stakeholders)


ทั้งนี้ “แผนกลยุทธ์สถาบันคุ้มครองเงินฝาก 3 ปี”จะเป็นเสมือนกรอบและทิศทางการดำเนินงานของสถาบัน ที่ได้ผ่านการประเมินสภาวะแวดล้อมและปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอกองค์กรด้วยเครื่องมือต่างๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้สถาบันสามารถก้าวต่อไปโดยบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง  ตาม พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์