น้ำเหนือบ่าล้นเตือน7จังหวัดริมเจ้าพระยารับมือน้ำท่วม

เตือนภัย7จว.ริมเจ้าพระยา ปภ.ชี้น้ำเหนือไหลบ่าล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือน กรุงเทพฯ

พร้อมรับมือ “คุณชาย” ออกตรวจความเรียบร้อยพนังกั้นน้ำ มั่นใจรับมือได้ ผวา กรุมอุตุฯประเมิน มีพายุเข้าอีกไม่ต่ำกว่า 20 ลูก ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปี 53 “ธีระ” ห่วงพร่องน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เหตุปริมาณน้ำความจุเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ “เติ้ง” ดอดร่วมประชุมผู้บริหารกรมชลฯ จี้ถามโครงการ “แก่งเสือเต้น” เมืองสองแควอ่วม น้ำท่วมทุบสถิติปี 38 ปากน้ำโพอ่วม น้ำเหนือหนุนบรรจบแม่น้ำยม-น่าน ตาก ระทมวัวล้มป่วย เหตุน้ำท่วมไม่มีหญ้ากิน             

สถานการณ์น้ำท่วมบางพื้นที่เริ่มทุเลา เตือน 7 จังหวัดระวังภัยน้ำเหนือไหลบ่า รวมทั้งกรุงเทพมหานครครั้งนี้

เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่กรมชลประทาน นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เรียกประชุมผู้บริหารกรมชลประทาน ซึ่งมีนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา และนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีต รมว.เกษตรฯ ร่วมประชุมเพื่อวางแผนรับมืออุทกภัยปี 2554 โดยนายธีระ กล่าวว่า มวลน้ำก้อนใหญ่จากภาคเหนือที่คาดการณ์ว่าจะมาสมทบกันที่ จ.นครสวรรค์ ในปริมาณ 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ในวันที่ 7-8 ส.ค.นี้ กรมชลฯ ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำจนลดลงไปเหลือ 1,800-1,900 ลบ.ม.ต่อวินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ทำให้ผลกระทบเกิดขึ้นกับ 8 จังหวัดท้ายเขื่อน เช่น ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร แต่กรุงเทพฯ จะไม่รุนแรงเพราะพนังกั้นน้ำสูงถึง 2.5 เมตร แต่จะมีผลกระทบกับกรุงเทพฯ รอบนอกที่ยังไม่มีพนังกั้นน้ำ ที่อาจได้รับผลกระทบจากอุทกภัยนกเตนครั้งนี้ 
    
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า จากการประเมินของกรมอุตุนิยมวิทยา วิเคราะห์ว่าปริมาณน้ำฝนจะมากกว่าปี 2553 และคาดการณ์ว่าจะมีพายุเข้ามาไม่ต่ำกว่า 20 ลูก

ขณะนี้เพิ่งผ่านไป 2 ลูก แต่ในช่วงนี้จนถึงปลายเดือน พ.ย. ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากแนวร่องมรสุมจากประเทศจีนที่จะเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ดังนั้นจึงต้องวางแผนประเมินสถาน การณ์น้ำทุกวันเพื่อไม่ให้การพร่องน้ำจากเขื่อนมาซ้ำเติมในพื้นที่ได้รับอุทกภัย 15 จังหวัดในขณะนี้ ซึ่งการพร่องน้ำจะต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมพื้นที่รองรับปริมาณน้ำฝนที่จะมาใหม่ โดยขณะนี้เขื่อนสิริกิติ์มีความจุเกิน 84 เปอร์เซ็นต์ไปแล้ว จึงต้องพร่องน้ำสลับกับเขื่อนภูมิพลวันเว้นวัน รวมทั้งเขื่อนแควน้อยและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่จะต้องพร่องน้ำลงเหลือ 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะเขื่อนทั้งสองแห่งจะใช้บริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางที่คาดว่าปีนี้น้ำจะมากขึ้น ส่วนสถาน การณ์ที่น่าเป็นห่วงคือจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพราะได้รับผลกระทบจากพายุนกเตน มากที่สุด และคาดว่าจะเกิดน้ำท่วมขังในจังหวัดดังกล่าวกินเวลาเป็นเดือน
    
นายธีระ กล่าวด้วยว่า ในการประชุม นายบรรหารได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องสถาน การณ์น้ำที่ส่งผลกระทบภาคกลางหนักขึ้นทุกปี โดยสอบถามถึงความคืบหน้าในโครงการแก่งเสือเต้น โครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 60  ล้านไร่ ซึ่งจะบรรเทาปัญหาวิกฤติน้ำได้ รวม    ทั้งให้กรมชลประทานทำงานเชิงรุกมากขึ้น ในการวางแผนรับมือโดยเฉพาะการแจ้งเตือนประชาชน ควรแจ้งเตือนอย่างทั่วถึงและทันท่วงทีเพื่อลดความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้น
    
ด้านนายบรรหาร กล่าวว่า ที่มาไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องอะไรกับกรมชลประทาน แต่มาเพื่อรับทราบปัญหาและแนวทางแก้ไขอุทกภัย เพราะมีความเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ เมื่อทราบว่ารับมือสถานการณ์ได้ตนก็เบาใจ
    
วันเดียวกัน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ภาวะฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนนกเตนในขณะนี้ สถานการณ์อุทกภัยเริ่มคลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด คือ น่าน เลย หนองคาย และประจวบคีรีขันธ์ ส่วนจังหวัดที่ยังมีสถานการณ์อุทกภัย 17 จังหวัด ได้แก่ แพร่ สุโขทัย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก ตาก นครสวรรค์ นครพนม อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร เพชรบูรณ์ และพระนครศรีอยุธยา รวม 132 อำเภอ 786 ตำบล 6,270 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 320,043 ครัวเรือน 1,114,475 คน มีผู้เสียชีวิต 20 ราย เบื้องต้น ปภ.ได้สั่งการให้สำนักงาน ปภ.จังหวัดในพื้นที่ประสบอุทกภัยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เร่งบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว และเปิดสายด่วน 1784 รับแจ้งข้อมูล 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ขอเตือนประชาชนที่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง รวม 7 จังหวัด คือ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร เตรียมรับมือน้ำล้นตลิ่งจากภาวะน้ำเหนือไหลบ่าในวันที่ 8-10 ส.ค. โดยขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง รวมถึงติดตามและปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด 
   

ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ (สนน.)

 ได้ลงพื้นที่ตรวจงานเรียงกระสอบทรายป้องกันน้ำทะเลหนุน และน้ำเหนือไหลบ่า ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ บจก.ไทยอมฤตบริวเวอรี่ เขตบางซื่อ ภายหลัง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ในการประชุมสภา กทม. พิจารณางบประมาณปี 2555 ได้บรรจุวาระการสร้างแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วมบริเวณดังกล่าว งบประมาณก่อสร้าง 25 ล้านบาท และหากสภา กทม.อนุมัติ คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2555 นอกจากนี้ จะเพิ่มแนวความยาวเขื่อน จากเดิม 77 กม. เป็น 84 กม. เพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ที่ยังไม่มีเขื่อน และเป็นการเฉลิม พระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบรอบ 84 พรรษาอีกด้วย ส่วนปริมาณน้ำเหนือที่จะไหลลงมากรุงเทพฯ ในวันที่ 10 ส.ค.นี้ คาดว่าจะมีปริมาณ 2,000 ลบ.ม. หรือระดับน้ำเพิ่มขึ้นอีก 2 เมตร ซึ่งคันกั้นน้ำ กทม. ยังสามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 2.5-3 เมตร ขอให้ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวล นอกจากนี้ที่น่าห่วง คืออีก 2 เดือนถัดไป ในช่วงเดือน ก.ย. น้ำในเขื่อนสำคัญ เช่น เขื่อนสิริกิติ์เริ่มเต็มแล้ว ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ และจะมีปริมาณ       ฝนตกลงมาอีก จึงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
    
นายอเนก สีหามาตย์ รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยาที่ประสบปัญหาอุทกภัย และเป็นที่น่ายินดีเมื่อพบว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่หน้าวัดไชยวัฒนารามลดลง จากเดิมที่เกือบถึงขอบพนังกั้นน้ำ แต่พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงคือใน จ.ลำพูน เพราะมีโบราณสถานถูกน้ำท่วมหลายแห่ง อาทิ โบราณสถานบ้านท่าเชียงทอง วัดกู่ละมัก กู่คำ กู่เหลี่ยม และใน จ.แม่ฮ่องสอน คือที่โบราณสถานวัดดงสงัด อ.แม่สะเรียง ได้รับความเสียหายเช่นกัน
    

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศหลายแห่งยังน่าเป็นห่วง เริ่มจาก จ.พิษณุโลก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมใน อ.พรหมพิราม ยังไม่คลี่คลาย

 โดยเฉพาะที่ ต.ท่าช้าง ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำยมสายเก่า หรือ คลองเมม ที่ระบายมาจาก จ.สุโขทัย ได้เพิ่มระดับสูงทำลายสถิติน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2538 บ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตรในพื้นที่หมู่ 10 และหมู่ 12 ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบ้านสูงถึง 1 เมตร และระดับน้ำยังเพิ่มขึ้นทุกวัน ส่วนที่ รร.วัดเมมสุวรรณาราม มีน้ำท่วมสูง 1 เมตร โรงเรียนได้สั่งหยุดการเรียนการสอนอย่างไม่มีกำหนด
    
นางกุ่น หมั่นศรี อายุ 88 ปี ชาวบ้านหมู่ 12 ต.ท่าช้าง กล่าวเสียงสั่นเครือว่า ทุกวันนี้เดือดร้อนมาก เพราะตนไม่สามารถเดินได้ ทำให้นางอุไรวรรณ ฉิมไทย อายุ 55 ปี ลูกสาวต้องลาออกจากโรงงานจักรยานมาคอยดูแล และน้ำได้ท่วมขังที่บ้านมานานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว ทุกวันนี้ต้องอาศัยเงินทองจากญาติและอาหารแห้งจากถุงยังชีพประทังชีวิต
    
ที่ จ.นครสวรรค์ ได้มีน้ำจากภาคเหนือหนุนลงมา ทำให้ชาวบ้านหมู่ 5 บ้านปากคลอง ต.เกยไชย อ.ชุมแสง 

ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นตลิ่งอย่างต่อเนื่อง เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดไหลรวมกันระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านจาก จ.พิจิตร โดยขณะรายงานระดับน้ำได้เพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว ทำให้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนแล้วหลายสิบหลังคาเรือน ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ตลอดจนไหลท่วมพื้นที่ทางการเกษตรและยังขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน เทศบาลเมืองชุมแสงได้เตรียมการป้องกันโดยอุดท่อระบายน้ำทิ้งทั้งหมด เพื่อป้องกันน้ำจากใต้ดินเข้าท่วมพื้นที่กั้นน้ำที่ยังสร้างไม่เสร็จ ไม่ให้ไหลท่วมในเขตเศรษฐกิจของอำเภอ ส่วนชาวบ้านต่างหวาดวิตกว่าอาจเกิดน้ำท่วมเขตเทศบาลเหมือนปี 2549 ต่าง ย้ายข้าวของไว้ที่ชั้นสองของตัวบ้าน
    
ที่ จ.สุโขทัย เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองสวรรคโลก เร่งกำจัดเศษไม้ เศษขยะที่ลอยมากับน้ำจำนวนมากบริเวณสะพานพัฒนาท้องถิ่น 3


 หลังระดับน้ำได้ลดลง ชาวบ้านต่างทำความสะอาดบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมขัง รวมถึงตลาดเทศบาลเมืองสวรรคโลก ที่ขณะนี้เริ่มมีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งแผงขายสินค้ากันตามปกติแล้ว  เช่นเดียวกับพื้นที่ จ.แพร่ นายชวน ศิรินันท์พร ผวจ.แพร่ เปิดเผยว่า หลังน้ำลดและสถาน การณ์คลี่คลายสู่ปกติแล้ว ตนได้กำชับให้ส่วนที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานราชการสำรวจบ้านเรือนประชาชนที่ถูกน้ำท่วมเสียหายอย่างละเอียด เพื่อเร่งเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย
    
ที่ จ.แม่ฮ่องสอน ทางจังหวัดได้เชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคเงินและสิ่งของ

 เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง น้ำดื่ม ไฟฉายและถ่านไฟฉาย เทียน ไฟแช็ก ถุงดำ  ยากันยุง เสื้อผ้า ยกเว้นเสื้อผ้ามือสอง เครื่องเวชภัณฑ์ และยารักษาโรค เป็นต้น เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สามารถบริจาคเงินผ่านเลขที่บัญชี 508-0-21088-5 ชื่อบัญชีช่วยเหลือผู้ประสบภัยสาธารณภัย ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาแม่ฮ่องสอน ส่วนที่ จ.ตาก สถานการณ์น้ำท่วมใน อ.สามเงาและบ้านตาก ระดับน้ำได้ลดลงประมาณ 10 ซม. แต่ยังมีน้ำจากแม่วังทะลักท่วมพื้นที่บ้านคลองไม้แดง หมู่ 1 ต.ยกกระบัตร อ.สามเงา ระดับน้ำสูงกว่า 1.5 เมตร รถยนต์ไม่สามารถแล่นผ่านไปมาได้ ขณะเดียวกัน เกษตรกรที่เลี้ยงวัวจำนวนมาก กำลังเดือดร้อนเพราะไม่มีหญ้าให้วัวกิน เนื่องจาก ทุ่งหญ้าถูกน้ำท่วมหมด วัวควายต้องกินใบไม้แทนหญ้า ทำให้วัวหลายตัวป่วยด้วยโรคปากและเท้าเปื่อยร่างกายซูบผอม
    
ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่วัดตะกู อ.บางบาล พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1


 เปิดเผยภายหลังตรวจสอบสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ว่า หากสิ่งใดที่ทหารช่วยเหลือเพิ่มเติมจากจังหวัดได้ ทหารยินดีช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เรามีแผนปฏิบัติพร้อมทั้งกำลังคนและอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรือท้องแบนรถครัวสนาม รถส่องไฟสว่าง และชุดแพทย์เคลื่อนที่ นอกจากนี้ ยังสั่งการให้ทหารบกสระบุรี รับผิดชอบพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และมณฑลทหารราบที่ 13 ดูในภาพรวมพื้นที่ภาคกลาง   ตอนบน เพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังพลแล้ว ล่าสุดได้ส่งกำลังพลไปร่วมก่อกระสอบทราย และทำแนวกั้นน้ำที่พระที่นั่งศิริยาลัย

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์