แฉโจ๋ไทยชิงสุกก่อนห่าม-ตั้งท้องปีละ7หมื่น

ต่ำกว่า14พุ่ง2พันคนจ้องฆ่าตัวก็เพิ่มขึ้น!


โครงการ"ไชลด์ วอชต์" เปิดผลสำรวจพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทย ช่วงปี 48-49 เผยตัวเลขน่าตระหนก วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 19 ปี ทำคลอดเพิ่มขึ้นจาก 52,000 คน เป็นกว่า 70,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กต่ำกว่า 14 ปี ถึง 2,000 คน เด็กนักเรียน-นักศึกษานิยมดูวีซีดีโป๊และเว็บโป๊มากขึ้น ด้านสุขภาพจิตพบเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 พยายามฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น และบาดเจ็บจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์สูงขึ้นเป็นเฉลี่ยวันละ 800 คน

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผอ.สถาบันรามจิตติ เปิดเผยว่า จากการที่โครงการ ไชลด์ วอชต์ (Child Watch) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินการสำรวจพฤติกรรมเยาวชน และเก็บข้อมูลที่เป็นตัวบ่งชี้สภาวะเด็กและเยาวชนจากหน่วยงานต่างๆ ในปี 2548-2549 พบข้อมูลน่าสนใจ ดังนี้ ด้านสุขภาพอนามัยพบว่าอยู่ในขั้นดีต่อเนื่อง เรื่องการอนามัยแม่และเด็ก เรื่องเสพเหล้าบุหรี่ลดลงเล็กน้อย แต่ข่าวร้ายคือ การบริโภคของเด็กประถมแย่ลง ติดขนม น้ำอัดลมมากขึ้น รวมทั้งภาวะความเครียด และอุบัติเหตุในวัยรุ่นก็มีแนวโน้มสูงขึ้น

"ผลการสำรวจ"


ภาวะด้านโภชนาการและการบริโภคพบว่า เด็กประถมที่กินขนมกรุบกรอบ และดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26 และ 20 เป็น 27 และ 23 ตามลำดับ ส่วนเด็กมัธยมถึงอุดมศึกษา ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ลดลงเล็กน้อย จากร้อยละ 39 และ 18 เหลือ 36 และ 17 ตามลำดับ

ภาวะด้านสุขภาพจิต พบว่า เยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี พยายามฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจากจำนวน 30 เป็น 34 คน ต่อจำนวนแสนประชากรในกลุ่มอายุ หรือคิดเป็น 7,800 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 21 คน แต่ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จลดลงเล็กน้อย จาก 3.69 เหลือ 3.52 คนต่อประชากรในกลุ่มอายุ หรือคิดเป็นปีละราว 800 คน หรือเฉลี่ยวันละ 2 คน

ด้านความเสี่ยงทางสุขภาพ พบเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี บาดเจ็บจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ จำนวนเพิ่มขึ้นจาก 1,183 เป็น 1,332 คนต่อแสน หรือคิดเป็นปีละกว่า 300,000 คน หรือเฉลี่ยวันละกว่า 800 คน แต่อัตราการเสียชีวิตลดลงเล็กน้อยจาก 32 เป็น 29 คนต่อแสนประชากรในกลุ่มอายุ หรือคิดเป็นปีละเกือบ 7,000 คนหรือเฉลี่ยวันละ 18 คน

"การศึกษาพบว่า"


ด้านการศึกษาพบว่า เด็กพิการและเด็กทั่วไปได้รับการศึกษาสูงขึ้น โดยเฉพาะการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาถึงร้อยละ 73 ของผู้ที่จบม.6 จากเดิมร้อยละ 67 ส่วนอัตราการเรียนต่อม.4 ยังคงที่จากปีที่แล้ว คือร้อยละ 87 ส่วนอัตราเด็กพิการที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 66 เป็น 75

นอกจากนี้ ยังพบภาวะด้านพฤติกรรมการเรียนพบว่า ทั้งเด็กประถมและมัธยมใช้เวลาอ่านหนังสือเรียนและทำการบ้านโดยเฉลี่ยคงเดิม คือประมาณวันละ 150-170 นาที อีกทั้งยังพบว่าพฤติกรรมการโดดเรียนมีแนวโน้มลดลง โดยเด็กประถมลดลงจากร้อยละ 12 เหลือร้อยละ 11 และเด็กมัธยมลดลงจากร้อยละ 39 เหลือเพียงร้อยละ 25 ที่มีพฤติกรรมโดดเรียนอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ สำหรับเด็กประถมและมัธยมที่ใช้เวลาเรียนพิเศษ เพิ่มจากวันละ 100-140 นาที เป็นวันละ 160-170 นาที

ขณะที่ภาวะการหย่าร้าง ซึ่งดูจากอัตราส่วนการจดทะเบียนสมรสต่อการหย่าร้าง ดีขึ้นเล็กน้อยจาก 4.27 : 1 เป็น 4.51 : 1 แต่กลับพบว่าจำนวนเด็กประถมและเด็กมัธยมที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24 และ 30 เป็นร้อยละ 25 และ 33 ตามลำดับ

"ผลสำรวจด้านสื่อ"


สำหรับเด็กกับสื่อ พบว่าเด็กมัธยมถึงอุดมศึกษาที่ดูวีซีดีโป๊และเว็บโป๊เป็นครั้งคราวถึงเป็นประจำ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 39 และ 27 เป็นร้อยละ 41 และ 30 ตามลำดับ ด้านพฤติกรรมเสี่ยงทางสังคมพบว่า เด็กมัธยมถึงอุดมศึกษาที่เล่นพนันบอล และหวยบนดินเป็นครั้งคราวถึงเป็นประจำ มีจำนวนค่อนข้างคงที่คือร้อยละ 17 และ 20 ตามลำดับ

สำหรับภาวะด้านพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เด็กมัธยมถึงอุดมศึกษาที่ยอมรับว่ามีเพศสัมพันธ์แล้ว เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 20 โดยเฉพาะเด็กระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ยอมรับว่าเคยมีเพศสัมพันธ์แล้วถึงร้อยละ 28 และ 30 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 19 ปีที่มาทำคลอด มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 52,000 คน ในปีที่แล้ว เป็นกว่า 70,000 คนในปีนี้ หรือเฉลี่ยวันละเกือบ 200 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กต่ำกว่า 14 ปี จำนวนราว 2,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 5 คน

"ชุดของปัญหา"


ดร.อมรวิชช์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสภาวการณ์เด็กในรอบปี 48-49 ที่ผ่านมายังได้ชี้ให้เห็นแนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาหรือสภาวการณ์เด็กด้านต่างๆ ที่สัมพันธ์กันเป็น"ชุดของปัญหา"อีกด้วย เช่น กรณีจังหวัดใดมีอัตราเด็กดื่มสุรามาก ก็มักมีอัตราเด็กเสพสื่อลามก และเด็กมีเพศสัมพันธ์สูงตามไปด้วย หรือจังหวัดใดมีเด็กเล่นพนันบอลมาก ก็มักมีอัตราการขู่กรรโชกและทำร้ายร่างกายในโรงเรียนสูงตาม เช่นเดียวกับข้อมูลในรอบปี 47-48

ที่การวิเคราะห์ทางสถิติดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าถ้าสถาบันครอบครัวอ่อนแอ เด็กอยู่ห่างไกลพ่อแม่ พื้นที่อบายมุขขาดการควบคุม ล้วนส่งผลต่อการใช้ชีวิตเสี่ยงแบบต่างๆ และนำมาซึ่งปัญหาเด็กและเยาวชนมากมาย อาทิ ปัญหาความรุนแรง การทำร้ายกันของวัยรุ่น การละเมิดทางเพศ การท้องไม่พร้อม การทำแท้ง การทอดทิ้งทารก ปัญหาอุบัติเหตุที่คร่าชีวิตวัยรุ่นไปมากมาย เป็นต้น ส่งผลให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่เจ็บป่วยจนกระทบเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศในระยะยาว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์