นร.ไทยสุดเจ๋ง ฟิสิกส์โอลิมปิก


เด็กไทยยกขบวนสร้างชื่ออีกแล้ว ประกาศศักดาเจ้าภาพฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งแรกกวาด 3 ทอง 1 เงิน 1 ทองแดง น.ร.สาธิต มศว ปทุมวันสุดเจ๋ง ทำคะแนนที่ 2 ของโลก

สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้วงการฟิสิกส์ไทย จากที่ผ่านมาทำคะแนนได้ดีที่สุดแค่อันดับ 5 เด็กเก่งเผย พยายามอย่างสุดความสามารถ อาศัยความแม่นยำในการตอบคำถามเพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้องที่สุด ด้านน้องชั้นประถมไม่น้อยหน้า หอบ 12 รางวัล 24 เหรียญจากสนามคณิตศาสตร์โลกที่ฮ่องกง ชิงชัย 15 ประเทศ ชนะเลิศทั้งประเภทบุคคลและทีม สพฐ.หน้าบาน ประสบความสำเร็จสามารถคว้ารางวัลคะแนนรวมสูงสุดของการแข่งขัน ซึ่งทุกปีที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยได้รับมาก่อน

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 17 ก.ค. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือมูลนิธิ สอวน. เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงเป็นประธานในพิธีปิดการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 42 (42nd International Physics Olympiad) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิ การ มูลนิธิ สอวน. คณะวิทยาศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ สมาคมฟิสิกส์ไทย และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 10-18 ก.ค. ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัลให้แก่ผู้ชนะการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ และทรงมีพระราชดำรัสปิดการ แข่งขันตอนหนึ่งว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้แข่งขันจากประเทศต่างๆ คงได้เจอทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ถึงแม้ข้อสอบจะเป็นอุปสรรค แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้มนุษย์มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ อยากที่จะก้าวผ่านอุปสรรคไปให้ได้ โดยอุปสรรคนั้นจะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้โลกเกิดการพัฒนา ซึ่งผลลัพธ์จากการแข่งขันในครั้งนี้ ถือว่าผู้แข่งทุกคนเป็นผู้ชนะ เพราะการที่จะได้มาแข่งขันในเวทีแห่งนี้ ต้องถือว่าเป็นคนที่เก่งในโลกฟิสิกส์ และถือเป็นตัวแทนของนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต อีกทั้งในการมาแข่งขันที่ประเทศไทยแห่งนี้ จะทำให้ผู้แข่งขันได้ประสบ การณ์ และได้พบปะกับเพื่อนที่อาจจะได้ร่วมกันทำงานในอนาคต ขอแสดงความยินดีกับผู้ประสบความสำเร็จ ขอให้เดินทางไปสู่อนาคตที่สดใส ขอให้วงการฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์เกิดการพัฒนา เพราะโลกอนาคตกำลังรอนักฟิสิกส์รุ่นใหม่อยู่


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแข่งขันครั้งนี้มีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 200 คน คะแนนอันดับ 1 ได้แก่ ไต้หวัน 48.60 คะแนน จากคะแนนเต็ม 50 คะแนน อันดับ 2 คือ ประเทศไทย 48.24 คะแนน อันดับ 3 ไต้หวัน 47.60 คะแนน ส่วนอันดับ 4 ไต้หวัน และอันดับ 5 จีน ได้ 47.50 คะแนนเท่ากัน

โดยในส่วนของตัวแทนประเทศไทย ได้รับรางวัลเหรียญทอง 3 เหรียญ เหรียญเงินและเหรียญทองแดงอย่างละ 1 เหรียญ โดยนายธิปก รักอำนวยกิจ จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒปทุมวัน ได้รับรางวัลเหรียญทอง และสามารถทำคะแนนได้เป็นอันดับที่ 2 ของการแข่งขันของโลกครั้งนี้ รองจากตัวแทนประเทศไต้หวัน ขณะที่นายกำพล อัครวราวงศ์ จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และนายภคพล ศุภนิรัติศัย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้รับเหรียญทองเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีนายพงศภัค สวัสดิรักษ์ จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รางวัลเหรียญเงิน และนายจิรัฏฐ์ จิระวิชิตชัย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รางวัลเหรียญทองแดง ภายใต้การควบคุมทีมของผศ.ดร. ปิยะพงษ์ สิทธคง หัวหน้าทีมจากมหา วิทยาลัยมหิดล อ.สุจินต์ วังสุยะ รองหัวหน้าทีมจากมหาวิทยาลัยมหิดล ดร.กิตติวิทย์ มาแทน ผู้ช่วยหัวหน้าทีมจากมหาวิทยาลัยมหิดล และนางสาวนันท์นภัส ลิ้มสันติธรรม ผู้จัดการทีมจากสสวท.

ด้านนายธิปก กล่าวว่า ดีใจที่ทำคะแนนได้อันดับ 2 ของโลก ครั้งนี้ได้พยายามอย่างสุดความสามารถ และต้องอาศัยความแม่นยำในการตอบคำถาม เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้องที่สุด ทั้งนี้ ตนคิดว่าข้อสอบไม่ง่าย ไม่ยาก อาจจะเป็นเพราะคุ้นเคยกับแนวข้อสอบในช่วงเก็บตัว และคิดว่าได้พยายามใช้ความรู้ที่มีตอบคำถามให้ดีที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการแข่งขันดังกล่าว นับเป็นผลงานที่ดีที่สุดอีกครั้งหนึ่งของเยาวชนตัวแทนประเทศไทยที่นักเรียนสามารถทำคะแนนได้เป็นอันดับที่ 2 ของโลก เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ เพราะเป็นอันดับที่ดีที่สุดของประเทศไทยเท่าที่เคยร่วมการแข่งขันมา โดยที่ก่อนหน้านี้เคยมีตัวแทนประเทศไทยทำคะแนนสูงสุดได้อันดับที่ 5 ของการแข่งขัน

วันเดียวกัน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิ การคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า จากที่สำนัก งานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คัดเลือกและส่งนักเรียนระดับประถมศึกษาของไทยเข้าร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์โลก รายการ Po Leung Kuk Primary Mathematics World Contest 2011 (PMWC) ระหว่างวันที่ 11-18 ก.ค. ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน 2 ทีม รวม 8 คน นั้น ผลปรากฏว่านักเรียนไทยได้รับรางวัล 12 รางวัล รวม 24 เหรียญ ประกอบด้วย ประเภทบุคคล รางวัลเหรียญทอง 4 รางวัล ได้แก่ ด.ช.วรัชญ์ วีระนนท์ชัย โรงเรียนสยามสามไตร ด.ช.อธิคม วาณิชย์กุล โรงเรียนเด็กสากลนิมิตใหม่กรุงเทพมหานคร ด.ญ.ขันเงิน สุริยบุตร โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา และด.ช.ชิษณุพงศ์ จงมีพรชัย โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม กรุงเทพมหานคร เหรียญเงิน 3 รางวัล ได้แก่ ด.ญ.วรัญญา มหาวนากูล โรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี ด.ช.กันตพงศ์ โคตรชุม โรงเรียนอนุบาลขอนแก่น และด.ช.ธนภัทร ประกายรุ้งทอง โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ เหรียญทองแดง 1 รางวัล ได้แก่ ด.ช.สุวิจักขณ์ มงคลากร โรงเรียนกรุงเทพ คริสเตียนวิทยาลัย

นายชินภัทร เปิดเผยว่า ส่วนรางวัลประเภททีม ผลปรากฏว่า ทีมบีสามารถคว้ารางวัลแชมเปี้ยนชนะเลิศคะแนนรวมสูงสุด และรางวัลเหรียญทอง 4 เหรียญ ได้แก่ ด.ช.กันตพงศ์ ด.ญ.ขันเงิน ด.ช.ชิษณุพงศ์ และด.ช.ธนภัทร ส่วนทีมเอได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง เหรียญเงิน 4 เหรียญ ได้แก่ ด.ช.วรัชญ์ ด.ญ.วรัญญา ด.ช. สุวิจักขณ์ และด.ช.อธิคม และรางวัลประเภทกลุ่มบุคคล ซึ่งมีคะแนนรวม 3 ใน 4 สูงสุดของทีม ทีมบีได้รับรางวัลเหรียญทองแดง 4 เหรียญ ทีมเอได้รับรางวัลชมเชย 4 เหรียญ นอกจากนี้ยังมีทีมอิสระจากโรงเรียนอนุบาลสุธีธร จ.นครปฐม ส่งนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันและสามารถคว้ารางวัล 2 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง และ 4 รางวัลชมเชย

"การแข่งขันในครั้งนี้นับเป็นเวทีแรกของปี 2554 ที่สพฐ.ส่งนักเรียนไทยเข้าแข่งขันร่วมกับ 15 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ อเมริกา แอฟริกาใต้ บัลแกเรีย ออสเตรเลีย รัสเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย จีน อินเดีย เกาหลี ฮ่องกง มาเก๊า และประเทศไทย และประสบความสำเร็จสามารถคว้ารางวัลคะแนนรวมสูงสุดของการแข่งขัน

ซึ่งทุกปีที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยได้รับมาก่อน" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์