บอร์ดค่าจ้างกลางให้ขึ้น300แลกมาตรการช่วย

"พาณิชย์" เรียกโรงสีผู้ส่งออก ถกแก้เก็งกำไรสัปดาห์หน้า ห่วงกระทบข้าวถุง

ทำชาวบ้านเดือดร้อน “มาร์ค” จวกนโยบายหาเสียงรัฐบาล “ปู” ต้องดูผลกระทบรอบด้าน ขณะที่หอการค้าไทยชี้ขึ้นค่าแรง 300 ทำเอสเอ็มอีตาย นักลงทุนเผ่นหนีเข้าเพื่อนบ้าน เอฟดีไอลดวูบ สั่งสำรวจความคิดเห็นสมาชิกทั่วประเทศ ก่อนสรุปผลถกรัฐบาลใหม่หามาตรการที่เหมาะสม ด้านบอร์ดค่าจ้างขานรับแคมเปญ “ปู” จี้ ครม.ป้ายแดงออกมาตรการหนุน ส่วนสถานการณ์เก็งกำไรข้าว เริ่มชะลอความร้อนแรง หลังเพื่อไทยประกาศจำนำเดือน พ.ย. ข้าวสารราคาลงกระสอบละ 90-100 บาท ข้าวเปลือกทรงตัว 1.1 หมื่นบาท

จากนโยบายพรรคเพื่อไทยประกาศจะเริ่มดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตันละ 1.5 หมื่นบาท ในช่วงเดือน พ.ย. 54 ไม่ใช่เดือนส.ค.

ทำให้สถานการณ์การเก็งกำไรข้าวเปลือกและข้าวสารชะลอความร้อนแรงลงและราคาเริ่มทรงตัว เนื่องจากโรงสีและพ่อค้าได้ชะลอซื้อข้าวเก็บ และทยอยปล่อยข้าวเข้าสู่ตลาดมากขึ้น เพราะเหลือเวลาอีก 3 เดือนถึงจะเปิดโครงการ ทำให้ข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ ลดลงกระสอบละ 90-100 บาท จาก 1,550-1,570 บาท เหลือ 1,450-1,480 บาท ส่วนข้าวเปลือกก็ทรงตัวที่ตันละ 1 หมื่นบาท-1.1 หมื่นบาท ใกล้เคียงกับช่วงต้นสัปดาห์

ความคืบหน้ากรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 ก.ค. นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เผยว่า
 
ในสัปดาห์หน้าจะเชิญผู้ประกอบการโรงสีและผู้ส่งออกเข้ามาประชุม เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ปริมาณและราคาข้าวสารที่เพิ่มสูงขึ้นว่ามีความผิดปกติในการเข้ามาเก็งกำไรหรือไม่ เพราะจากการตรวจสอบราคาพบว่าราคาข้าวเปลือกเจ้าขยับอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนมิ.ย. จากตันละ 8,000-9,500 บาท เป็นตันละ  8,500-11,000 บาท และมีการร้องจากผู้ประกอบการข้าวถุงว่าข้าวเปลือกหาซื้อยากขึ้น

“เบื้องต้นพบว่าข้าวเปลือกส่วนใหญ่อยู่ในมือพ่อค้าคนกลาง ที่ซื้อจากชาวนาในราคาต่ำ แล้วมาปั่นราคาถือว่าไม่ถูกต้อง ชาวนาก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ประชาชนก็ต้องกินข้าวแพงถือว่าไม่ถูกต้อง ดังนั้นจึงต้องหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการฉวยโอกาสปั่นราคาข้าวจนกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งทางกรมฯจะขอความร่วมมือให้ขายข้าวในราคาที่เหมาะสม หากพบการปั่นราคาหรือจำกัดการขาย ก็จะใช้กฎหมายเข้าไปดูแล”

ด้าน นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวปรับเพิ่มขึ้น
 
ส่วนหนึ่งมาจากถึงช่วงปลายฤดูกาลผลิตผลเหลือน้อย ทำให้มีการกว้านหาซื้อข้าวไว้มาก ซึ่งถือเป็นภาวะปกติที่ราคาข้าวในประเทศจะสูงขึ้น แต่ตอนนี้สภาพตลาดได้เปลี่ยนเป็นตลาดของผู้ขาย จากก่อนหน้านี้เป็นของผู้ซื้อ  อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์จะดูแลโครงสร้างราคาข้าวถุงให้เกิดความเป็นธรรม จะไม่ปล่อยให้ราคาสูงจนผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน


ส่วนนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็นวันละ 300 บาทของพรรคเพื่อไทย
 
ซึ่งหลายฝ่ายเกรงว่าอาจจะทำไม่สำเร็จและจะเกิดผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นวงกว้างนั้น นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนในประเทศและนักลงทุนต่างชาติต่างก็วิตกกังวลว่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) จะได้รับผลกระทบหนัก จนอาจต้องลดแรงงานและล้มเลิกกิจการได้

“เท่าที่คุยกับหอการค้าญี่ปุ่นบอกเลยว่าบริษัทรถยนต์จากญี่ปุ่น จ่ายค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 300 บาทอยู่แล้ว แต่เขาเกรงว่าถ้าขึ้นค่าแรงทันที 300 บาทจะกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งส่วนมากเป็นเอสเอ็มอี และอาจทำให้กลุ่มนี้ต้องล้มหายตายจาก และบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นอาจต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากแหล่งอื่นแทน รวมทั้งอาจย้ายฐานการผลิตไปประเทศอินโดนีเซีย เพราะมีค่าแรงถูกกว่าไทยมาก อีกทั้งทำให้นักลงทุนต่างชาติรายใหม่ไม่กล้าเข้ามาตั้งฐานในประเทศไทยด้วย”

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า หอการค้าไทยยังมอบหมายให้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
 
ดำเนินการสำรวจสมาชิกหอการค้าไทย ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท รวมถึงหาแนวทางที่จะให้รัฐบาลช่วยเหลือ โดยนำข้อมูลมาสรุปไปหารือกับรัฐบาลใหม่ เพื่อลดผลกระทบจากนโยบายหรือหาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมมากกว่านี้

ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่านโยบายดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้เงินสูงถึงปีละ 1.4 แสนล้านบาทในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่รวมเงินที่ผู้ประกอบการต้องขึ้นให้กับผู้จบปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาทอีก ทำให้ขีดความสามารถแข่งขันลดลง ขณะเดียวกันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ)จะลดลง และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมแน่นอน ส่วนที่หลายฝ่ายเกรงว่านโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล จะทำให้อัตราเงินเฟ้อปีนี้เพิ่มสูงขึ้นนั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะนโยบายจะทยอยทำ และน่าจะมีมาตรการสกัดเงินเฟ้อ

ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี

ระบุผ่านทางเว็บไซต์เฟซบุ๊กว่า ถ้านโยบายใดทำไม่ได้ก็จะให้ประชาชนตัดสิน ว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ประชาชนก็ต้องจำว่าการพูดจาหาเสียงแล้วถึงเวลาทำหรือไม่ทำมันเป็นอย่างไร  ส่วนนโยบายหาเสียงขึ้นค่าแรง 300 บาท นั้นขอหารือภาคเอกชนก่อน หรืออาจจะให้รัฐบาลอุดหนุนส่วนต่างนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เวลานี้คณะกรรมการค่าจ้างรัฐบาลของตนได้ให้คณะกรรมการค่าจ้างไปเร่งพิจารณาการปรับขึ้นตามค่าครองชีพ ซึ่งอยู่ระหว่างรอสรุปผลออกมา  โดยจังหวัดครึ่งหนึ่งของประเทศเสนอให้มีการปรับประมาณวันที่ 1 ต.ค. และที่เสนอมาสูงสุดอยู่ประมาณ 20 กว่าบาท ต่ำสุดประมาณ 2 บาท ซึ่งยังห่างจาก 300 บาท จึงต้องเร่งไปดูว่าจะทำอย่างไร โดยต้องหาคำตอบในเรื่องหลักใหญ่ ๆ ก่อนว่าจะให้ค่าจ้างทั่วประเทศเท่ากันใช่หรือไม่ เพราะหาเสียงไว้ทุกคนเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น ถ้าจะไม่ทำต้องมีเหตุผลอธิบาย ทั้งนี้ ตนอยากให้ดูผลกระทบให้รอบด้านเรื่องการจ้างงาน ถ้าค่าจ้างสูงแต่คนตกงาน ซึ่งคนตกงานเดือดร้อนมากเพราะเกิดปัญหาขึ้นทั้งในครอบครัว สังคม และรัฐบาล

วันเดียวกันนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง กล่าวว่า

การปรับค่าจ้างเป็นบางจังหวัดหรือบางจุดก่อนทำให้การทำงานง่ายขึ้น เพราะหากให้ดูแลทั้งประเทศไปพร้อม ๆ  กัน กระทรวงแรงงานอาจดูแลไม่ทั่วถึง ดังนั้นคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาจากข้อมูลและข้อเท็จจริงเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องภาวะเศรษฐกิจ แต่การทำงานบางครั้งก็ต้องดูเรื่องการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วยว่ามีมาตรการช่วยสนับสนุนบางประการอย่างไร ซึ่งก็จะช่วยนายจ้างและลูกจ้างได้หรือไม่

“หากนโยบายรัฐบาลมีเป้าหมายปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท โดยมีมาตรการต่าง ๆ สนับสนุน คณะกรรมการค่าจ้างก็สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะตอนนี้ทุกฝ่ายกำลังช่วยแก้ปัญหาอยู่ เช่นเดียวกับที่สภาอุตสาหกรรมก็ช่วยหาทางออก ไม่ใช่บอกเพียงว่าทำไม่ได้อย่างเดียว” ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์