ครบ2ปีสึนามิเหงาเผยที่มาของปูยักษ์

"ญาติผู้ประสบภัยสึนามิเข้าร่วมพิธี"


งานรำลึก 2 ปีสึนามิเศร้า-เหงา ส่วนใหญ่เป็นญาติผู้ประสบภัยชาวต่างชาติเข้าร่วมพิธี สาวใหญ่เจ้าของโรงแรมที่เขาหลักร่ำไห้อาลัยหลังสูญเสียคนในครอบครัว 6 ชีวิตและลูกน้องอีก 28 คน รวมทั้งทรัพย์สินเสียหายถึง 117 ล้านบาท ส่วนปูยักษ์ที่พบในกระบี่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพันธุ์ปูไปขอซื้อตัวละพัน อาจารย์มก.ระบุเป็นปูดำที่อาจหลุดรอดจากการดักลอบจับของชาวประมง คาดว่าน่าจะมีอายุเกิน 5 ปี จึงทำให้มีขนาดใหญ่

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 ธ.ค. ที่อนุสรณ์สถานบ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ได้มีพิธีจัดงานไว้อาลัย ครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย สึนามิ โดยมีคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีนายวินัย บัวประดิษฐ์ ผวจ.พังงา พร้อมคณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรการกุศลและประชาชนผู้ประสบภัยเข้าร่วมประมาณ 800 คน

สำหรับกำหนดการ เมื่อประธานเข้าถึงบริเวณพิธี ได้ไปทำความเคารพ พระรูปกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ต่อจากนั้นมาที่บริเวณเวที เพื่อทำพิธีไว้อาลัย โดยประธานกล่าวคำไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ จากนั้นให้ทุกคนยืนสงบนิ่ง 1 นาที แล้วประธานนำดอกไม้ไปวางเพื่อไว้อาลัยที่หน้ารูปคุณพุ่ม เจนเซ่น พระโอรส ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ต่อจากนั้นแขกผู้มีเกียรติ ประชาชนและญาติผู้เสียชีวิตทยอยวางดอกไม้เพื่อแสดงความไว้อาลัยแก่บุคคลที่เสียชีวิต ต่อด้วยพิธีกรรมทางศาสนา 5 ศาสนา

"รัฐช่วยเหลือผู้ประสบที่ช่วยตัวเองไม่ได้ตลอดมา"


นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผวจ.พังงา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้เอาใจใส่ให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยที่อยู่ในสภาวะที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ให้มีการเร่งรัดพัฒนาพื้นที่ที่ประสบภัย กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ให้มีการติดตั้งระบบเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยเสร็จสิ้นแล้ว รวมทั้งสิ้น 18 จุด เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งทะเลตลอดทั้งแนว และยังเป็นการเรียกความเชื่อมั่นจากพี่น้องชาวต่างประเทศให้กลับมาท่องเที่ยว จ.พังงา เหมือนก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิ

นางทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547 มีผู้เสียชีวิต 5,395 ราย สูญหายอีกกว่า 3,000 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 8,000 คน ได้สร้างความเสียใจให้แก่ญาติพี่น้องและคนไทยทั้งมวล ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ประเทศไทยไม่เคยประสบมาก่อน ปรากฏการณ์ในครั้งนี้แลกมาด้วยชีวิตของผู้คนและทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลเกินกว่าจะประมาณได้ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ได้เป็นบทเรียนราคาแพงให้กับทุกๆ คน โดยเฉพาะรัฐบาลที่ตระหนักถึงความจำเป็นและให้ความสำคัญกับระบบการเตือนภัย ระบบการป้องกันภัย และพัฒนาระบบการกู้ภัย ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

"ขอแสดงความไว้อาลัยแก่บุคคลที่เสียชีวิตและขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งมายังทุกท่านที่ได้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของท่านและขอแสดงความเสียใจต่อคนไทยที่ได้สูญเสียคุณพุ่ม เจนเซ่น พระโอรส ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในเหตุการณ์สึนามิที่จังหวัดพังงา" นางทิพาวดี กล่าว

"เสียทั้งครอบครัว เสียทั้งกิจการ"


ทางด้านนางพินทอง พรหมตา อายุ 47 ปี ชาวบ้านหาดบางเนียง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เจ้าของโรงแรมไดร์เวอร์แอนด์รีสอร์ท และเจ้าของโรงแรมเขาหลัก รีสอร์ท หาดบางเนียง กล่าวทั้งน้ำตาว่า มาร่วมพิธีไว้อาลัยครั้งนี้ เนื่องจากคนภายในครอบครัว อาทิ หลานสาว ลูกสาว น้าชาย รวมแล้ว 6 คน เสียชีวิต ตลอดจนลูกน้องจำนวน 28 คน ที่สูญหายและตายจาก ทำให้ยังไม่สามารถลืมเหตุการณ์ดังกล่าวได้

ต่อข้อถามถึงความเสียหายและความช่วยเหลือนางพินทอง กล่าวว่า รีสอร์ตเสียหายกว่า 117 ล้านบาท ส่วนการช่วยเหลือ นั้นยังไม่เคยรับอะไรเลย มีเพียงการกู้เงินจากสถาบันการลงทุนเพียง 22 ล้านเท่านั้น

วันเดียวกัน ที่ลานวัดลานธรรมวัดราษฎร์นิรมิต หรือวัดบางม่วง ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา มีการบำเพ็ญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ธรณีพิบัติและผู้ที่เสียชีวิต เมื่อขณะนำศพมาไว้อาลัยที่วัดดังกล่าว โดยมีพระเทพปริยัติเมธี เจ้าคณะภาค 17 วัดชลประทานรังสฤษฏ์ จ.นนทบุรี ทำพิธีสวดมาติกา บังสุกุล ทอดผ้ามหาบังสุกุล ทำบุญตักบาตรอาหารแห้ง ถวายสังฆทาน จตุปัจจัยและพระเทศนาจำนวนหนึ่งกัณฑ์ พร้อมทำพิธีร่วมรำลึกกับผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติ ท่ามกลางบรรดาญาติและชาวต่างชาติจำนวนกว่า 300 คน เข้าร่วมพิธีดังกล่าว

"ร่วมไว้อาลัย"


ในขณะที่บริเวณหน้าเรือ ต.813 ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ได้มีพิธีร่วมรำลึกผู้ประสบภัยสึนามิ โดยมีนายศักดิ์สิทธิ์ ไกรฤกษ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมคณะ เป็นประธานในพิธีไว้อาลัย มีนายประจวบ อินเจริญศักดิ์ รองผวจ.พังงา เป็นแกนนำในการต้อนรับแขกต่างชาติตลอดคณะทูตานุทูตจากหลายประเทศที่เข้าร่วมพิธีไว้อาลัย ท่ามกลางญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ประมาณ 500 คน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันเดียวกัน ที่บ้านบางมรวน ม.4 ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ได้มีพิธีเปิดสุสานผู้ประสบภัยสึนามิ โดยมีพล.ต.อ.อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รองผบ.ตร. เป็นประธาน นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผวจ.พังงา พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช ผู้ช่วยผบ.ตร. พล.ต.อ.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ อดีตรองผบ.ตร. คณะทูตานุทูตประเทศต่างๆ และประชาชน ญาติของผู้สูญเสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิหลายประเทศ

โดยในพิธีนักเรียนนายร้อยตำรวจตั้งแถวรอรับและเป็นผู้เชิญธงนานาประเทศขึ้นสู่ยอดเสา โดยประธานพิธีเปิดแพรคลุมป้ายสุสานผู้ประสบภัยสึนามิและปฎิมากรรม จากนั้นประธานมอบของที่ระลึกให้แก่ผู้บำเพ็ญประโยชน์ในภารกิจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและการส่งกลับ และเชิญแขกผู้มีเกียรติยืนไว้อาลัยให้แก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ต่อด้วยได้เชิญผู้แทนประเทศผู้เสียชีวิตวางพวงหรีดเสร็จพิธี

"ไว้อาลัยและจัดพิธีทางสงฆ์"


ส่วนที่ จ.ภูเก็ต เมื่อเวลา 09.30 น. วันเดียวกัน ที่สวนสาธารณะโลมา หาดป่าตอง นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผวจ.ภูเก็ต เป็นประธานในพิธีไว้อาลัยและรำลึกถึงเหตุการณ์สึนามิ โดยมีญาติผู้เสียชีวิตและผู้ประสบภัยสึนามิ ร่วมพิธีจำนวนหลายร้อยคน โดยกิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 10.10 น. ซึ่งตรงกับเวลาเกิดเหตุ ผู้ร่วมพิธียืนสงบนิ่ง 1 นาที เพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต จากนั้นผวจ.ภูเก็ต และญาติผู้ประสบภัย นำพวงมาลาและดอกไม้วางที่แท่นรำลึก พระสงฆ์จำนวน 99 รูป สวดพระพุทธมนต์ อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิต

ส่วนที่โรงเรียนบ้านกะหลิม ต.ป่าตอง พื้นที่ประสบภัยจากสึนามิเช่นกัน นายสมิทธิ์ ปาลวัฒน์วิไชย รองผวจ.ภูเก็ต เป็นประธานเปิดเทศกาลละครการศึกษาอยู่กับสึนามิ เรียนรู้สู้ภัยสึนามิ โดยมีการเขียนข้อความรำลึกถึงเหตุการณ์ยาว 1 ก.ม. และมีการแสดงละครเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมจากภัยพิบัติของเยาวชน 6 จังหวัดอันดามัน เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย

และที่สุสานไม้ขาว อ.ถลาง อดีตใช้เป็นสถานที่เก็บศพของผู้เสียชีวิต ได้มีญาติผู้เสียชีวิตจากประเทศต่างๆ ร่วมพิธีทางศาสนา มีการวางดอกไม้ไว้อาลัยและมีการประดับธงชาติของประเทศที่ประสบภัย 45 ประเทศ

"วางช่อดอกไม้ที่กรอบรูปเพื่อระลึกถึง"


สำหรับบรรยากาศที่ จ.กระบี่ โดยเฉพาะที่เกาะพีพี นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผวจ.กระบี่ เป็นประธานในพิธีเปิดงานรำลึกครบรอบ 2 ปีสึนามิ ที่บริเวณลานริมชายหาดอ่าวต้นไทร โดยในช่วงเช้าเวลาประมาณ 10.00 น. ได้มีการทำพิธีทางศาสนาของญาติผู้เสียชีวิต เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย กลุ่มญาติศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามและศาสนาชาวจีน ท่ามกลางบรรดาญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าว จากนั้นได้มีการวางช่อดอกไม้ ที่บริเวณต้นไทรใหญ่ ที่ลานหน้าหาดเกาะพีพี โดยมีวางกรอบรูปภาของผู้เสียชีวิต ในเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นภาพของผู้เสียชีวิตชาวต่างชาติ

หลังจากนั้นนายชาย พานิชพรพันธ์ รองผวจ.กระบี่ นำพวงมาลาทำจากโลหะไปให้นักประดาน้ำจำนวน 7 คน นำไปวางที่อนุสาวรีย์สึนามิใต้น้ำที่บริเวณอ่าวต้นไทร อนุสาวรีย์สึนามิใต้น้ำ อยู่ห่างจากเกาะพีพีประมาณ 1,400 เมตร ลึกประมาณ 20 เมตร และให้ญาติผู้เสียชีวิตโปรยดอกไม้ที่บริเวณดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม งานรำลึก 2 ปีสึนามิในครั้งนี้ บรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา มีญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สึนามิ มาร่วมงานน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากหลายคนหันไปสนใจเรื่องของการฟื้นฟูและแนวทางการหาเลี้ยงชีพต่อไปในอนาคตมากกว่า และผู้ร่วมงานส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งเดินทางล่วงหน้ามาที่เกาะพีพีหลายวันแล้ว

วันเดียวกัน น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้ประสบภัยสึนามิ ในเรื่องสาธารณูปโภค การให้สินเชื่อไปแล้ว 1,000 ครอบครัว ส่วนการแก้ปัญหาที่ดิน ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.) ตั้งอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินโดยตรง เข้ามาแก้ความขัดแย้ง เช่น ที่หลวงทับที่ราษฎร์ หรือที่ราษฎร์ทับที่หลวง แก้ปัญหาได้ไป 20 ชุมชน ประมาณ 2,000 ครอบครัว แต่ยังเหลืออีกว่า 50 ชุมชน หรือประมาณ 5,000 ครอบครัว ที่ยังมีปัญหาคาราคาซัง ซึ่งโครงการแก้ปัญหาโดยรัฐบาลที่แล้ว มาถึงรัฐบาลนี้ก็ยังไม่ลงตัว ซึ่ง พอช.ได้เสนอปัญหาให้นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รมว.การพัฒนาสังคมฯ แล้ว โดยจะตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาแก้ปัญหา 17 เรื่อง อาทิ เรื่องที่ดิน สิทธิชุมชน ปัญหาการไล่ที่ รวมทั้งปัญหาจากผลพวงของสึนามิ

"ยังมีตกสำรวจที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ"


"2 ปี สึนามิ แม้แก้ปัญหาไปมากแล้วแต่ปัญหาไม่จบ ต้องไปแก้ที่ต้นเหตุความยากจนของชาวบ้าน เรื่องที่ดินของคนไทยพลัดถิ่นจำนวนมาก กลุ่มชายขอบที่ประสบภัยสึนามิ และไม่สามารถรับการช่วยเหลือจากรัฐได้ เนื่องจากไม่มีทะเบียนบ้าน เช่น ชาวมอแกน ก่อนหน้านี้มีการสำรวจว่าอยู่ที่ไดบ้าง แต่ยังมีบางกลุ่มตกสำรวจไม่ได้รับการช่วยเหลือ ยากจนไม่มีข้าวกินอยู่บ้าง ความจริงงบประมาณจากต่างประเทศมากพอสมควร ซึ่งพอช.พยายามจัดงบฯให้ถึงชาวบ้าน โจทย์ คือ ปัญหาเรื่องที่ดินโดยเฉพาะของเอกชนผ่านมา 2 ปี ยังต่อรองเพื่อให้ชาวบ้านอยู่อาศัยไม่ได้ การตั้งคณะกรรมการหรือมีกลไกขึ้นมาดูน่าจะทำงานได้มากขึ้น" ผอ.พอช.กล่าว

ส่วนกรณีชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ ม.2 ต.คลองเขม้า อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ พบปูยักษ์ 2 ตัว น้ำหนักรวม 6 กิโลกรัม บริเวณใต้ซากบ้านที่ถูกคลื่นสึนามิถล่มที่คลองติงไหร หน้าเกาะจำ ต.เกาะศรีบอยา และได้นำมาเลี้ยงไว้ที่บ้านเป็นเวลา 3 วัน ปรากฏว่ามีชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงแห่ไปดูกันเป็นจำนวนมาก ต่อมาเวลา 09.00 น. วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพันธุ์ปู ป่าทุ่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เกาะลันตา ได้เดินทางไปตรวจสอบปูยักษ์ดังกล่าว และได้ติดต่อขอซื้อมาจากนายย่าสาด ช่วยการ เจ้าของปูในราคาตัวละ 1,000 บาท

นางรัชฎา ขาวหนูนา นักวิชาการประมง หัวหน้าศูนย์ศึกษาการพัฒนาพันธุ์ปูป่าทุ่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้ทราบข่าวก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไป ตรวจสอบแล้วโดยปูยักษ์ดังกล่าว ที่ชาวบ้านเรียกว่าปูหน้าขาวนั้น คือปูเขียว แต่มีลักษณะคล้ายปูดำมาก โดยจะพบมากในพื้นที่ อ.เกาะลันตา แต่ตัวจะไม่ใหญ่เท่านี้ ดูจากลักษณะสีบนกระดองและขนาดแล้วปูทั้ง 2 ตัว น่าจะมีอายุประมาณ 2 ปี หากปล่อยไว้ตามธรรมชาติมันจะลอกคราบและคาดว่าจะมีขนาดใหญ่กว่านี้อีก

"ปูยักษ์ที่แท้ปูทะเลชนิดหนึ่ง"


ด้านนายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงปูยักษ์นั้นว่า ความจริงแล้วเป็นปูดำ หรือปูทะเลพันธุ์หนึ่ง มีชื่อสามัญที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ปูดำ ปูทะเล พบว่าในประเทศไทยมี 4 ชนิด พบกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำกร่อยป่าชายเลนและปากแม่น้ำที่มีน้ำทะเลท่วมถึง โดยขุดรูอยู่ตามใต้รากไม้หรือเนินดินบริเวณชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยเฉพาะมีชุกชุมในบริเวณที่เป็นหาดโคลนหรือเลนที่มีป่าแสมและโกงกาง

นายธรณ์กล่าวต่ออีกว่า ปูยักษ์ที่ชาวบ้าน จ.กระบี่ จับได้นั้นอาจจะเป็นปูที่หลุดรอดจากการดักลอบจับปูของชาวประมง คาดว่าน่าจะมีอายุเกิน 5 ปี จึงทำให้มีขนาดใหญ่อย่างที่เห็น สำหรับปูดำที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้พบมากในประเทศออสเตรเลีย เมื่อก่อนประเทศไทยมีปูดำเยอะ เพราะว่ามีพื้นที่ของป่าชายเลนมาก แต่ปัจจุบันนี้เราต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา พม่า ผ่านตามแนวชายแดน ยิ่งหลังเกิดสึนามิแทบจะไม่เห็นปูชนิดนี้อีกเลย อาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้การพบเห็นปูยักษ์ในครั้งนี้นั้นเป็นเรื่องปกติและไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดสึนามิแต่อย่างใด

"การตรวจสอบเงินช่วยเหลือ"


เมื่อเวลา 14.40 น. วันเดียวกัน ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง. กล่าวถึงการตรวจสอบเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ กว่า 600 ล้านบาทว่า สั่งให้ตรวจสอบแล้ว ซึ่งสึนามิเกิดขึ้นช่วงที่ตนเว้นวรรค ก็นึกเสียดายว่า เงินทองไหลไปมากมาย ต้องตรวจสอบนโยบายดูว่า เงินที่จ่ายลงไปทั้งหมดเท่าไหร่ เพราะภาครัฐที่เป็นรัฐบาลจ่ายไปโดยตรงมียอดเท่าไหร่ และเป็นเงินที่รับจากภาคเอกชนมีเท่าไหร่ และต้องแยกต่อว่า ภาคเอกชนที่ได้มาจากต่างประเทศมีเท่าไหร่ เป็นเรื่องที่บริจาคเป็นการช่วยเหลือในฐานะมนุษยชาติ หรือเป็นการให้เปล่า เป็นเรื่องปัจจัยสี่เท่าไหร่ อย่างไร ในเรื่องของอาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม บ้านพักอาศัย ยารักษาโรค ต้องแยกส่วนต่างๆเหล่านี้ลงไป

คุณหญิงจารุวรรณ กล่าวต่อว่า กรณีที่เราตรวจสอบคือ จ.กระบี่ ที่มีผลสรุปออกมา ก็น่าเห็นใจเพราะเกิดขึ้นระหว่างความเป็นความตาย ไม่มีใครนึกถึงระเบียบในการจัดซื้อ จัดจ้างที่ถูกต้องหรือเรื่องล็อกสเปค ฉะนั้นในการตรวจสอบเราจึงให้นโยบายไป จ.กระบี่ ที่เราได้สรุปพบว่า มีส่วนช่วยเหลือจากต่างประเทศเยอะมาก เช่น ประเทศจีน ที่ให้บ้านน็อกดาวน์ถึง 400 หลัง แต่ต้องแก้ไขในส่วนการลงทะเบียนคนประสบภัยที่ลงไว้ในแต่ละแห่งมียอดไม่ตรงกัน สำหรับผู้ที่ประสบภัยสึนามิ จะลงไว้ที่จังหวัด หรืออบต.หรือลงไว้ที่หน่วยงานราชการบางหน่วยไม่ตรงกัน เมื่อไม่ตรงกัน ก็มีผลทำให้ได้รับความช่วยเหลือซ้ำซ้อน บางคนได้ทั้งบ้าน ได้เงินช่วยเหลือ ซึ่งควรจะให้ยุติธรรมมากกว่านี้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์