เด็กไทยยังหลงผิดใช้บุหรี่สร้างเพื่อน


วงเสวนา”การควบคุมยาสูบในสถานศึกษา”เผย 28.9% คิดว่าการสูบบุหรี่ทำให้มีเพื่อนมากขึ้น และ 8.3% คิดว่าทำให้มีเสน่ห์

จากการเสวนา “การควบคุมยาสูบในสถานศึกษา” ซึ่งจัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ร่วมกับศูนย์วิจัยและจักการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ(ศจย.) เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่โรงแรมสยามซิตี้ รศ.ดร.สุรินธร กลัมพากร อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล นำเสนอผลการศึกษาโครงการ “การวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์การใช้ยาสูบของนักเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)“ ว่า การวิจัยเชิงสำรวจจากข้อมูลทุติยภูมิสุรปรายงานสภาพการใช้สารเสพติดหรือยาเสพติดในสถานศึกษา ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ มีจำนวนกลุ่มตัวอย่างตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ถึง ม.ปลาย ในปีการศึกษา 2553 ทั้งสิ้น 5,805,560 คน จำแนกเป็นชาย 2,784,527 คน คิดเป็น 47.9% หญิง 3,021,033 คน คิดเป็น 52.1% พบว่า มีเด็กที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติดจำนวน 67,000 คน เป็นชายมากกว่าหญิงและส่วนใหญ่อยู่ในระดับ ม.ปลาย รองลงมา คือ ม.ต้น โดยพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มากที่สุด 

รศ.ดร.สุรินธร กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อมูลของกลุ่มที่สงสัยว่าค้ายา มีจำนวน 112 คน โดยเป็นชายมากกว่าหญิง ส่วนใหญ่อยู่ในระดับ ม.ต้น ม.ปลาย และอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด ทั้งนี้เมื่อจำแนกประเภทของสารเสพติดในกลุ่มที่ยังใช้อยู่ พบว่า ส่วนใหญ่มีการเสพสารเสพติดประเภทบุหรี่และแอลกอฮอล์มากสุด โดยผู้ชายจะสูบบุหรี่มากสุด ส่วนเพศหญิงจะดื่มแอลกอฮอล์มากสุด และยังพบว่าในทุกระดับการศึกษาในทุกพื้นที่ฯจะมีการสูบบุหรี่มากกว่าสารเสพติดประเภทอื่น และขณะนี้ผู้ที่กำลังบำบัดบุหรี่ส่วนใหญ๋ศึกษาอยู่ในระดับ ม.ปลาย ซึ่งภาคกลางและภาคตะวันออกมีกลุ่มผู้บำบัดมากสุด ทั้งนี้ผู้วิจัยได้เสนอแนะว่าควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเชิงลึกถึงสาเหตุที่นำไปสู่พฤติกรรมการสูบบุหรี่หรือสารเสพติดประเภทอื่น โดยเจาะจงศึกษาในกลุ่มนักเรียนที่ติดสารเสพติดในโรงเรียน เพื่อเป็นแนวทางการป้องกันการเข้าถึงยาสูบและสารเสพติดต่างๆ รวมถึงเป็นการดำเนินการช่วยให้นักเรียนเลิกบุหรี่และสารเสพติดต่อไป 

นางจุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองปลัด ศธ. กล่าวว่า ปัจจุบัน ศธ.ได้ร่วมมือในการควบคุมยาสูบในสถานศึกษา ซึ่งได้มีการกำหนดให้บรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนโรคที่เกี่ยวกับบุหรี่ และสำรวจสภาพการใช้สารเสพติดในสถานศึกษาทุกแห่งปีละ 2 ครั้ง เพื่อจัดระบบการดูแลป้องกันอย่างเข้มงวด สร้างจิตสำนึก รวมทั้งบำบัดรักษา โดยจะมีโทษทางวินัยหากพบว่ามีการสูบบุหรี่เมื่ออยู่ในเครื่องแบบ

ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฎ์ ผอ.ศจย. กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2552 ที่ได้สำรวจเยาวชนอายุ 13-15 ปีทั่วประเทศ จำนวน 7,649 คน มีข้อมูลที่น่าเป็นห่วงคือ 28.9% คิดว่าการสูบบุหรี่ทำให้มีเพื่อนมากขึ้น และ 8.3% คิดว่าทำให้มีเสน่ห์ แต่ก็ยังมีเยาวชนที่ต้องการเลิกบุหรี่ถึง 75.5% จึงจำเป็นต้องให้ความรู้ เพื่อช่วยเหลือในการเลิกบุหรี่ ทั้งนี้การป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่นั้น จะต้องเร่งให้ความรู้ในโรงเรียน ควบคู่กับการรณรงค์ผ่านสื่อ, ลดปัจจัยยั่วยุ เช่น สร้างคนต้นแบบ อาทิ เพื่อน ดารา ใช้มาตรการลดการทำตลาด สกัดบุหรี่บางประเภท อาทิ บุหรี่ขนมหวาน บุหรี่เมนทอล เป็นต้น และลดช่องทางการเข้าถึงยาเสพติดของเยาวชน ตลอดจนกำหนดภาษีให้บุหรี่มีราคาสูงขึ้น


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์