มะกันคำนวณ ไข้หวัด ระบาดใหญ่ครั้งใหม่คนจะตาย 62 ล้าน

มะกันคำนวณ ไข้หวัด ระบาดใหญ่ครั้งใหม่คนจะตาย 62 ล้าน

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 22 ธันวาคม 2549 20:44 น.

เอเอฟพี - โรคระบาดร้ายแรงใดๆ ที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตัวใหม่ อาจคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกภายในระยะเวลา 1 ปี ได้สูงถึง 62 ล้านคน หรือเท่ากับตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลการศึกษาประเมินที่ตีพิมพ์ในวารสารเดอะแลนซิท เมื่อวันศุกร์ (22) เผย

ทีมนักวิจัยจากสหรัฐฯ คิดคำนวณโดยอาศัยอัตราการตายจาก ไข้หวัดใหญ่สเปน ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงที่ระบาดไปทั่วโลกในช่วงปี 1918-1920 เป็นฐาน พวกเขาเชื่อว่า ถ้ามีไวรัสตัวใหม่ที่คล้ายคลึงกันระบาดขึ้นมาในตอนนี้ ผู้คนจำนวน 62 ล้านคน อาจตายลงภายในช่วงระยะเวลา 1 ปี

คนเสียชีวิตส่วนใหญ่ คิดเป็น 96% น่าจะมาจากประเทศกำลังพัฒนา

งานศึกษาชิ้นนี้ ซึ่งนำโดย คริสโตเฟอร์ เมอร์เรย์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อาศัยข้อมูลการแจ้งตาย เพื่อนำมาประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สเปน ใน 27 ประเทศ

จากนั้น จึงนำข้อมูลดังกล่าวมาหาค่าตัวแปรกับจำนวนประชากรทั่วโลกในปี 2004

แต่นักวิจัยก็ได้นำปัจจัยทางความเจริญ และการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้นจากปี 1918 รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงจำนวนและอายุของประชากรของแต่ละประเทศ มาพิจารณาร่วมด้วย

ทีมของเมอร์เรย์ เชื่อว่า จากพื้นฐานข้อมูลของปี 2004 หากโรคระบาดร้ายแรงใกล้เคียงกันเกิดขึ้น ผู้คนจำนวนระหว่าง 51-81 ล้านคน อาจเสียชีวิตลง โดยตัวเลขเฉลี่ยจะอยู่ที่ 62 ล้านคน

สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น มีนักประวัติศาสตร์ประมาณกันไว้หลากหลาย ตั้งแต่ 50 ล้าน ถึง 62 ล้านคน

ประเทศทั้ง 27 ประเทศที่นำข้อมูลมาศึกษา ประกอบไปด้วย สหรัฐฯ ประเทศในทวีปยุโรป อาร์เจนตินา อินเดีย และฟิลิปปินส์ การศึกษาของนักวิจัยทีมนี้ พบว่า ประเทศที่ปลอดภัยที่สุดน่าจะเป็นเดนมาร์ก ซึ่งจะมีอัตราการตายส่วนเกินจากอัตราปกติอยู่ที่ 0.2% เมื่อคำนวณจากข้อมูลปี 2004

ส่วนประเทศที่น่าจะมีอัตราคนตายมากที่สุดน่าจะเป็นอินเดีย ซึ่งมีอัตราการตายส่วนเกินสูงกว่าอัตราปกติ มากกว่า 20 เท่า อยู่ที่ 4.39%

งานศึกษาครั้งนี้มีขึ้นพ้องกับความหวาดกลัวเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ซึ่งเป็นไวรัสที่ติดต่อในนกและทำให้ถึงตายได้

ความหวาดกลัวอยู่ตรงที่ไวรัสตัวนี้อาจสร้างยีนที่ทำให้มันสามารถติดต่อได้ในคนอย่างง่ายดาย เหมือนอย่างที่เป็นเมื่อปี 1918 และในไข้หวัดใหญ่ระบาดร้ายแรง 2 ระลอก เมื่อศตวรรษก่อน ซึ่งเกิดเชื้อตัวใหม่ที่ไม่มีผู้ใดมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติต้านมันได้

เมอร์เรย์ ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตและการที่ประเทศกำลังพัฒนามีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าประเทศร่ำรวย เป็นผลมาจากความแตกต่างในการเข้าถึงวัคซีน ยาต้านเชื้อไวรัส และการรักษาโรคติดเชื้อแทรกซ้อน อย่างเช่น โรคปอดบวม ด้วยยาปฏิชีวนะได้อย่างทันท่วงที

อัตราการตายของอินเดียที่ทำนายไว้ตอนนี้ ต่ำกว่าในปี 1918 เพราะมีความก้าวหน้าอย่างมากมาย จากตอนนั้น เมอร์เรย์ กล่าวกับเอเอฟพี

ส่วนอัตราการตายของภูมิภาคแถบตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา ในแอฟริกา นั้นค่อนข้างคล้ายกับเมื่อปี 1918 เพราะรายได้ต่อหัวไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก

เราเห็นความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างอัตราการตายกับรายได้ ในปี 1918-1920 และมันก็เป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นจนไม่มีอะไรบ่งบอกได้ว่า ความสัมพันธ์จะไม่เป็นไปตามนั้นหากเรื่องทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีก เมอร์เรย์ กล่าว

เมอร์เรย์ ยังเผยอีกว่า ข้อสรุปของผลการศึกษายกประเด็นที่น่าวิตกเกี่ยวกับความเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดร้ายแรงของประเทศยากจน

เป็นต้นว่า การจัดหายาต้านไวรัสที่สามารถชะลอการแพร่หลายของโรคระบาดได้แต่เนิ่นๆ และการแจกจ่ายวัคซีนเพื่อรับมือกับไวรัสใหม่อย่างรวดเร็ว

นโยบายสากลที่ระแวดระวังในเรื่องการตรวจพบแต่เนิ่นๆ การควบคุมเฝ้าระวัง และแผนเตรียมพร้อมสำหรับโรคระบาดร้ายแรงแห่งชาติ จะเป็นประโยชน์กับประเทศที่มีรายได้สูง และอาจรวมถึงประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบนด้วย เขาระบุ

ผมเชื่อว่า ยังไม่มีความระแวดระวังมากพอต่อสิ่งที่นำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งประเทศรายได้ต่ำ และประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง สามารถกระทำได้ และนั่นเป็นช่องอันตรายที่เหตุร้ายจะเข้ามาเยือนได้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์