ไทยตรวจพบเชื้อ อีโคไล ใน อะโวคาโด นำเข้าจากยุโรป

ไทยตรวจพบเชื้อ "อีโคไล" ใน "อะโวคาโด" นำเข้าจากยุโรป "จุรินทร์" ชี้เป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องวิตกกังวล

เชื้ออยู่ทั่วไปในผลิตภัณฑ์การเกษตร ผัก ผลไม้ ทำความสะอาดอย่างดีกินได้ ขณะที่ทีมสาธารณสุขเยอรมนี เร่งหาต้นตอเชื้อร้ายใหม่ พุ่งเป้าแตงกวานำเข้าที่ยังไม่รู้จากประเทศใด ส่วนคนตายทั่วเยอรมนี 27 ศพ ติดเชื้อเฉียด 3 พันคน ทั่วยุโรปป่วย 97 คน 12 ประเทศ สหรัฐ 3 ราย ด้านอียู เตรียมเงิน 210 ล้านยูโร จ่ายชดเชย

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. นายจุรินทร์ ลักษณ วิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข

กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียอีโคไลที่ก่อโรคอุจจาระร่วงในกลุ่มเอ็นเทอโรเฮโมราจิคอีโคไล หรือ อีเฮค สายพันธุ์ โอ 104 ที่ระบาดอยู่ในประเทศเยอรมนี รวมทั้งผู้ป่วยในหลายประเทศแถบยุโรป ว่า ด่านอาหารและยา ประจำท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ได้สุ่มเก็บ อะโวคาโด 2 กิโลกรัม ซึ่งนำเข้าจากยุโรป ส่งตรวจเพาะเชื้อที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบเชื้ออีโคไลแต่ยังไม่ทราบว่าเป็นเชื้ออีโคไลชนิดใด และทำให้เกิดสารพิษหรือไม่ จะต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์ 3-5 วัน จึงจะทราบผล ส่วนกะหล่ำปลีปม ทราบผลตรวจเบื้องต้นในเช้าวันที่ 10 มิ.ย.นี้

“การตรวจพบเชื้ออีโคไลในอะโวคาโดครั้งนี้ เป็นเรื่องปกติ ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวล เนื่องจากโดยทั่วไป เชื้ออีโคไล มีหลายชนิด และเป็นเชื้อที่มีอยู่ทั่วไปในผลิตภัณฑ์การเกษตร ผัก ผลไม้ ไม่เป็นอันตราย สามารถรับประทานผัก ผลไม้ได้ตามปกติ โดยก่อนที่จะนำมารับประทานควรล้างน้ำให้สะอาดก่อนหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งวิธีการล้างอาจล้างด้วยการเปิดน้ำไหลผ่านอย่างน้อย 2 นาที หรือใช้สารละลายอื่น ๆ ในการล้างควบคู่ด้วย เช่น น้ำส้มสายชู เกลือ หรือลอก ปอกเปลือกชั้นนอกของผักสดหรือผลไม้ทิ้งไป เพื่อลดสิ่งปนเปื้อน ส่วนการรับประทานผักโดยปรุงผ่านความร้อนเนื่องจากเชื้อแบคทีเรียจะตายเมื่อถูกความร้อน 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป” นายจุรินทร์ กล่าว


นพ.สถาพร วงษ์เจริญ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตอนนี้แค่สรุปพบอีโคไลในอะโวคาโดเท่านั้น
 
แต่ยังไม่ได้ระบุว่าเป็นอีโคไลที่ก่อโรคหรือไม่ก่อโรค และเป็นกลุ่มใดใน 5 กลุ่มที่ก่อโรคอุจจาระร่วง ต้องรอผลตรวจวิเคราะห์อีก ขณะที่นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า รมว.สาธารณสุขให้ความสนใจ ติดตามตลอด กรณีนี้ตรวจว่ามีอีโคไล ส่วนจะทราบว่าก่อโรคหรือไม่ ต้องรอผลในวันที่ 10 มิ.ย.นี้

นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอผลการตรวจสอบของกระทรวงสาธารณสุข ที่ตรวจพบเชื้ออีโคไล ในผลอะโวคาโด
 
ที่นำเข้าจากสเปน ที่ด่านสุวรรณภูมิว่าเป็นสายพันธุ์ใดก่อนที่จะแสดงความเห็นใด ๆ ในเรื่องนี้เพื่อป้องกันความตระหนักของสังคมเนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการเพาะเชื้อเพื่อตรวจสอบว่าเป็นสายพันธุ์ที่ชัดเจน ซึ่งคาดว่าวันจันทร์จะทราบผลทั้งหมด ต้องช่วยกันภาวนาว่าอย่าเป็นเชื้ออี โคไล 104 เพราะจะส่งผลกระทบอย่างมาก   ซึ่งในส่วนกรมวิชาการเกษตรจะมีมาตรการในการห้ามนำเข้าหรือส่งออกหรือไม่ ต้องรอผลตรวจสอบเชื้อทั้งหมด ซึ่งในเรื่องนี้หากยังไม่ชัดเจนก็ไม่ควรพูดอะไรกันจนสร้างความตระหนกจนเกิดความเสียหาย เพราะทางยุโรปก็มีการฟ้องร้องกันวุ่นวายจากการกล่าวหาระหว่างสเปนกับเยอรมนี

ด้านสำนักข่าวต่างประเทศ รายงาน จากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีว่า เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขให้ความสนใจกลับมา หาสาเหตุของการแพร่ระบาดของเชื้ออีโคไล
 
โดยย้อนกลับมาตรวจสอบที่ผักประเภทแตงกวา อีกครั้ง หลังจากเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนพบว่าแตงกวานำเข้าจากสเปน อาจเป็นต้นตอการแพร่ระบาด แต่หลังจากตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่าไม่ใช่ จึงเปลี่ยนไปเน้นที่ถั่วงอกที่เพาะปลูกทางภาคเหนือของเยอรมนี แต่ก็ไม่พบอีก จึงกลับมาที่แตงกวานำเข้าจากประเทศที่ยังไม่ทราบชื่อ ซึ่งทำให้ครอบครัวของชาวเยอรมัน ทางภาคตะวันออกของเยอรมนีล้มป่วย และได้มีการเก็บตัวอย่างภายในบ้านของผู้ป่วยและร้านค้าที่ซื้อผักไปตรวจสอบในห้องทดลองด้วย

รา
ยงานข่าวระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้ออีโคไลทั่วยุโรปในขณะนี้ ทำให้ผู้บริโภคในหลายประเทศไม่กล้ารับประทานผักและผลไม้

ทางการเยอรมนีเองก็ประกาศเตือนประชาชนว่า ไม่ควรรับประทานผักสดโดยไม่ได้ล้างหรือทำความสะอาด นอกจากนั้นทางกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) หาทางที่จะเพิ่มเงินชดเชยให้กับเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรียร้ายแรง เป็น 210 ล้านยูโร แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า

สถาบันโรเบิร์ต คอช ศูนย์ควบคุม  โรคติดต่อแห่งชาติของเยอรมนี แถลงว่า พบผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ศพ รวมเป็นทั้งหมด 27 ศพแล้ว
 
และอีก 160 คนมีอาการป่วย แต่ตัวเลขการติดเชื้อคาดว่าจะปรับลดลง โดยขณะนี้มีผู้ป่วยทั้งหมด 2,808 คนแล้ว ในจำนวนนี้ 722 คน มีอาการแทรกซ้อนอย่างรุนแรง ซึ่งอาจทำให้ไตวายได้ ผู้ป่วยเหล่านี้อยู่ในประเทศเยอรมนี เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาด แต่ยังไม่พบต้นตอหรือที่มาของการแพร่ระบาด ส่วนองค์การอนามัยโลกแจ้งว่า  พบผู้ป่วยอีก 97 คนใน 12 ประเทศในทวีปยุโรป และอีก 3 คนในสหรัฐอเมริกา.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์