แห่ใช้บีบี-ไอโฟนมือถือเดี้ยง แย่งช่องสัญญาณ-โทร.ไม่ติด

คนไทยสุดไฮเทคแห่ใช้สมาร์ทโฟนคึกคัก ทั้ง "บีบี-ไอโฟน" ดันยอดใช้ดาต้าพุ่งปรี๊ดกระทบคุณภาพบริการ ค่ายมือถือรับทรัพย์-คนใช้รับกรรม เหตุขยายเครือข่ายไม่ทัน "สบท." เผยยอดร้องเรียนเพิ่ม แต่คุณภาพโดยรวมยังอยู่ในมาตรฐาน ฟากยักษ์มือถือยอมรับเร่งเต็มพิกัดเพิ่มช่องสัญญาณ



ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานข่าวตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา
 
ได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือเป็นจำนวนมากในทุกเครือข่ายว่าประสบปัญหาในการใช้งาน ตั้งแต่ปัญหาโทร.ไม่ติดและสายหลุด ทั้งในการใช้งานด้านเสียงและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต รวมถึงได้รับข้อความสั้น (SMS) ล่าช้ามาก เช่น ส่ง 5 โมงเย็นได้รับ 5 ทุ่ม เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในเครือข่ายสังคม ออนไลน์และตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ด้วย

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สถิติการร้องเรียนปัญหาการใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกเดือน โดยในไตรมาสแรกมีเรื่องร้องเรียน 711 ครั้ง เพิ่มจาก 609 ครั้ง จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่ได้มีสัญญาณบ่งชี้ความผิดปกติของคุณภาพโครงข่าย อาจเพราะผู้บริโภคหาทางออกด้วยตนเอง

แนวทางของ สบท.พยายามหาข้อมูลมาเป็นหลักฐานแสดงคุณภาพบริการและโครงข่าย
 
โดยในปีที่แล้วร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (ทริดี้) และ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทดสอบคุณภาพบริการด้านเสียงและอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ พบว่ามีปัญหาโทร.ข้ามโครงข่ายและสายหลุด โดยเฉพาะค่ายทรู แต่ยังอยู่ในมาตรฐานที่ กสทช.กำหนด ส่วนบริการอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือทุกค่ายมีคุณภาพใกล้เคียงกัน

"สบท.ผลักดันให้แก้ไข แต่หลายเรื่องไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ สิ่งที่เราทำมาตลอด คือ เผยแพร่ข้อมูลผลสำรวจเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกใช้บริการ และเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการพัฒนาบริการ" นายประวิทย์กล่าว

นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานปฏิบัติการ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)

กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สถานะบริการทั้งด้านเสียง (voice) และข้อมูล (data) ในช่วงที่ผ่านมามีปัญหาบ้าง เช่น สายหลุด แต่ในภาพรวมยังต่ำกว่า 1% จึงถือว่าอยู่ในมาตรฐานบริการ โดยปัญหาดังกล่าวเกิดจากการใช้งานด้านเสียงที่ยังเพิ่มขึ้น 10-20% ขณะที่การใช้ดาต้าเพิ่มขึ้นเกิน 100% แต่ขยายขีดความสามารถของระบบไม่ทัน เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์ในช่วงปลายปีที่แล้วทำให้การขยายช่องสัญญาณล่าช้ากว่ากำหนด แต่ในขณะนี้คลี่คลายแล้ว คาดว่าทุกอย่างจะกลับสู่ภาวะปกติเร็ว ๆ นี้

"เราพยายามเต็มที่ในการปรับปรุงเครือข่ายเพื่อรักษาระดับคุณภาพบริการที่เหนือกว่าคู่แข่ง แม้มีข้อจำกัดที่เป็น ข้อเสียเปรียบ เช่น การอัพเกรด 3 จี บนคลื่น 900 ที่กำลังจะเปิดเร็ว ๆ นี้ ต้องเจียดความถี่เดิมที่มี 17.5 MHz ซึ่งใช้เต็มแล้วมาทำ ถือเป็นความท้าทายของทีมงานในการวางแผนการบริหารจัดการเครือข่าย ทั้งยอมรับว่าประเมินปริมาณการใช้วอยซ์ผิด จากที่คิดว่าจะลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้น ปรากฏว่าเพิ่มขึ้น 10-20% จึงเหมือนเจอ 2 เด้ง"

นายวีรวัฒน์กล่าวต่อว่า ระบบ 2G ที่ใช้ในปัจจุบันรองรับการใช้งานด้านดาต้าได้สบาย

แต่ความนิยมในการใช้สมาร์ทโฟน ทั้งแบล็คเบอร์รี่และไอโฟน ซึ่งลักษณะการใช้งานมีการติดต่อกับเครือข่ายตลอดเวลา เมื่อมีผู้ใช้อยู่รวมกันมาก ๆ ในบางพื้นที่ทำให้ช่องสัญญาณมีปัญหาได้ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับแผนการขยายเครือข่าย ด้านนายปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการ ส่วนงานบริการเสริม บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคกำลังเร่งปรับปรุงเครือข่าย หลังจากได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าประสบปัญหาในการใช้งาน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ กับกรณีได้รับ SMS ล่าช้า คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะดีขึ้น เพราะดำเนินการปรับปรุงมา 3 เดือนแล้ว นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนโครงข่ายทั่วประเทศ (swap network) เพื่อให้ทันสมัยและตอบสนองการใช้ดาต้าดีขึ้น

"เราไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามแก้ไขอย่างเต็มที่จึงต้องฝากขอโทษลูกค้าด้วย"

ก่อนหน้านี้นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค กล่าวว่า ปัญหาการส่ง SMS ล่าช้า และโทร.ไม่ติดในเครือข่ายของดีแทคเกิดขึ้นเพราะมีการส่งข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือเพิ่มมากขึ้น ทั้งเครือข่าย 2 จีไม่ได้ออกแบบมาให้รองรับการส่งข้อมูลมากขนาดนี้ ทำให้เกิดปัญหา โดยบริษัทอยู่ระหว่าง swap network ใหม่ทั่วประเทศจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ แต่ทางออกแท้จริงของการแก้ปัญหาดังกล่าว คือการอัพเกรดระบบทั้งหมดเป็น 3G

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์