ธาริตหนุนสำนักบังคับคดีฯทำงานเสริมงานDSI


ธาริตให้สำนักบังคับคดีอาญาฯ เสริมงานดีเอสไอ เชื่อไปไม่รอดหากตั้งเป็นกรม เหตุเจ้าหน้าที่ขาดความเชี่ยวชาญ ทำงานซ้ำซ้อนตำรวจ-ดีเอสไอ แนะเน้นภารกิจบังคับโทษปรับทางอาญา หลังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง


สำนักบังคับคดีอาญาและบังคับใช้กฎหมาย(ไทยมาแชล) กระทรวงยุติธรรม ได้จัดเสวนาหัวข้อ “การติดตามบุคคลตามหมายจับในคดีอาญา การบังคับชำระค่าปรับและยึดอายัดทรัพย์สินในคดีอาญา” โดยนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มองว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการที่จะตั้งสำนักบังคับคดีอาญาฯขึ้นเป็นกรมใหม่ และมีภารกิจหลักคือการติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ แต่เห็นว่าสำนักบังคับคดีอาญาฯควรทำหน้าที่เป็นส่วนเสริมในส่วนที่ยังบกพร่องของหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว เช่น การเสริมงานของดีเอสไอ เพราะสำนักบังคับคดีอาญาฯถือเป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นใหม่อย่างรวดเร็ว ไม่ผ่านการหารืออย่างชัดเจนถึงทิศทางการทำงาน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาในอนาคต โดยเฉพาะภารกิจการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ ซึ่งมีหน่วยงานตรงที่รับผิดชอบอยู่แล้วทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หรือดีเอสไอ

พร้อมกันนี้ตนเห็นว่าภารกิจการติดตามจับกุมผู้ต้องหาควรเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและมีความรู้เกี่ยวกับตัวผู้ต้องหาในคดีนั้นๆ ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินการจับกุมมากที่สุด ทั้งนี้จากสถิติย้อนหลัง 3 ปี ดีเอสไอออกหมายจับผู้ต้องหาไปแล้วกว่า 480 หมาย สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ประมาณร้อยละ 70 ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการสืบจับ

นายธาริต เสนอว่าสำหรับส่วนงานที่สำนักบังคับคดีอาญาฯควรทำหน้าที่เสริมมากที่สุดคือ การดำเนินงานด้านที่ยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบเป็นหลัก โดยเฉพาะงานบังคับโทษปรับทางอาญา หลังมีข้อมูลว่าขณะนี้มีผู้ต้องหาที่ศาลสั่งให้ปรับแทนการกักขังจำนวนมากแต่ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ยอมถูกกักขังมากกว่าเสียค่าปรับเนื่องจากโทษการกักขังมีระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 2 ปี ประกอบกับสถานที่กักขังไม่ใช่เรือนจำ และปัจจุบันศาลเน้นโทษปรับมากขึ้นขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบเดิมไม่สามารถดำเนินการบังคับโทษปรับได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงถือเป็นช่องว่างที่สำนักบังคับคดีอาญาฯควรเข้าไปเสริมการทำงานด้านนี้

ด้านนายมานิตย์ สุขอนันต์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เห็นด้วยกับอธิบดีดีเอสไอว่าภารกิจของสำนักบังคับคดีอาญาฯมีความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานเดิมที่มีอยู่ ซึ่งเชื่อว่าหากนำร่างพ.ร.บ.เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จะต้องเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และเสี่ยงที่จะถูกคัดค้านโดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ที่มีมากเกินไปและซ้ำซ้อนทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความสับสน




เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์