ศพนับพันรอเก็บกู้ในเขตรังสีมรณะญี่ปุ่น

สารกัมมันตรังสี ที่อาจแพร่กระจายจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ หากทางการญี่ปุ่นประสบความล้มเหลวในการลดความเย็นของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ หลังถูกสึนามิพัดถล่มตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา

 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม สำนักข่าวต่างประเทศ อ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวตำรวจใน จ.ฟูกูชิมะ ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางเหนือประมาณ 220 กม.
 
ว่าความวิตกเรื่องสารกัมมันตรังสี ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องชะลอการเก็บกู้ร่างเหยื่อแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ที่คาดว่ามีประมาณ 1,000 คน ในรัศมีอพยพ 20 กม.รอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ไว้ก่อน
หลักฐานที่ทำให้เชื่อว่าศพเหล่านั้นโดนรังสีระดับสูงมาก คือการพบศพปนเปื้อนรังสีระดับสูงรายหนึ่งในเมืองโอคูมะ ห่างจากโรงไฟฟ้าราว 5 กม.เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และทำให้ตำรวจล้มเลิกภารกิจค้นหาศพชั่วคราว เพื่อรอผู้เชี่ยวชาญเข้ามาวางแผนดำเนินงาน   

 การพิจารณาหาหนทางเก็บกู้ศพเหล่านั้น จะต้องคำนึงหลายปัจจัยด้วยกัน ตั้งแต่แพทย์และครอบครัวเจ้าของศพ อาจได้รับรังสีจากศพหรือในห้องดับจิต
 
และเมื่อส่งมอบศพคืนแก่ทางครอบครัวไปแล้ว การเผาก็อาจส่งกลุ่มควันกัมมันตภาพรังสีฟุ้งกระจาย แต่หากฝังร่างของเหยื่อ ก็อาจทำให้ผินดินโดยรอบปนเปื้อนอีก นอกจากนี้ การทำความสะอาดหรือลดพิษรังสีที่ศพ อาจทำให้ศพยิ่งอยู่ในสภาพแย่ลง สำหรับการพิสูจน์อัตลักษณ์นั้น อาจใช้การตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากตัวอย่างเล็บ กระนั้นเป็นเรื่องต้องใช้เวลาพอสมควร และยังต้องลดพิษรังสีตัวอย่างเล็บที่จะนำมาตรวจดีเอ็นเอด้วย


ขณะเดียวกัน มีสิ่งบ่งชี้ชัดขึ้นว่าสารกัมมันตรังสีกำลังรั่วไหลออกจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ เมื่อผลการตรวจวัดรังสีในน้ำทะเลประมาณ 330 เมตรจากทางใต้ของโรงไฟฟ้าเมื่อเช้าวันพฤหัสบดี

พบสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดถึง 4,385 เท่า ซึ่งเป็นสถิติใหม่นับจากการตรวจวัดในช่วงหลายวันมานี้ และรัฐบาลญี่ปุ่นได้รับเสียงท้วงติงจากสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ให้ขยายพื้นที่อพยพรอบโรงไฟฟ้าจากรัศมี 20 กม.ออกไปอีก เนื่องจากผลการอ่านค่ารังสีตัวอย่างดิน ที่เก็บจากหมู่บ้านไออิตาเตะ ที่อยู่ห่างจากโรงงานไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 40 กม.นั้น ปรากฏว่าเกินกว่าเกณฑ์สำหรับการอพยพแล้ว และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
 
 ก่อนหน้านี้ สหรัฐและอังกฤษต่างแนะนำพลเมืองของตนให้อยู่นอกรัศมี 80 กม. จากรอบโรงไฟฟ้า 

แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงเชื่อว่าสถานการณ์ไม่ได้ส่อเค้าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน อย่างไรก็ตาม มีแผนจะขยายพื้นที่เฝ้าระวังและเก็บข้อมูลรังสีรอบโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 3 จุดนอกชายฝั่งแปซิฟิกออกไป 15 กม. และหากพบว่าดินปนเปื้อนสะสม จนอาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อประชาชน ก็จะสั่งอพยพเพิ่ม 

 นายฮิเดฮิโกะ นิชิยามะ โฆษกสำนักงานความปลอดภัยอุตสาหกรรมและนิวเคลียร์ญี่ปุ่นยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่สารกัมมันตรังสีกำลังซึมลงทะเล
 
แต่จะต้องตรวจสอบให้ชัดก่อน นอกจากนี้ยังย้ำว่าไม่ควรวิตกเรื่องอันตรายจากอาหารทะเล เนื่องจากไม่มีการทำประมงในพื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตอพยพอยู่แล้ว  หรือหากปนเปื้อนสัตว์น้ำ สารกัมมันตรังสีจะสลายไปก่อนจะถึงมือคน เจ้าหน้าที่โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เทปโก) กล่าวว่า เป็นไปได้ที่การปนเปื้อนของน้ำทะเลเกิดจากน้ำที่สัมผัสกับแท่งเชื้อเพลิงหรือเตาปฏิกรณ์และท่วมอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินนอกโรงงาน แต่ยังไม่ทราบสาเหตุว่าไหลลงทะเลได้อย่างไร
 
 ทั้งนี้ คาดกันว่าเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1, 2 และ 3 มีความเสียหายกับแกนปฏิกรณ์ และอาจปล่อยสารกัมมันตรังสี ส่วนแท่งเชื้อเพลิงของเตาหมายเลข 4 ที่แช่อยู่ในบ่อแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว อาจสัมผัสกับอากาศช่วงหนึ่งเช่นกัน เนื่องจากเตาปฏิกรณ์สูญเสียการหล่อเย็นหลังภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ

 เดิมเจ้าหน้าที่ของเทปโกมีแผนทดลองพ่นเรซินลงที่พื้นด้านตะวันตกและใต้ของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 เพื่อยึดฝุ่นรังสีติดอยู่ไม่ให้ฟุ้งกระจาย แต่ต้องเลื่อนแผนการออกไปเพราะฝนตก ซึ่งอาจส่งผลให้การประเมินประสิทธิภาพของการใช้วิธีนี้ทำได้ลำบาก     
ปิดโรงไฟฟ้า-ทบทวนสร้างใหม่ 

 สำนักข่าวเกียวโด อ้างคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คังว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ควรต้องถูกทำลายทิ้ง
 
หลังจากสถานการณ์ของโรงไฟฟ้ายังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น นับจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิมาเมื่อเกือบ 3 สัปดาห์แล้ว ทำให้ระบบหล่อเย็นถูกทำลาย เกิดการระเบิดทำให้อาคารเตาปฏิกรณ์เสียหาย และมีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมา รวมทั้งแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์บางส่วนอาจหลอมละลาย นอกจากนี้ ยังอาจพิจารณาทบทวนโครงการที่จะสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกอย่างน้อย 14 เตาภายในปี 2573 ด้วย


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์