´ใจ´ ท้าทายผู้บริหารจุฬาฯ ลงมติ ´ออก-ไม่ออก´ นอกระบบ

ไทยรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (13 ธ.ค.) เครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย จัดเสวนา "สังคมได้อะไร ถ้ามหาวิทยาลัยพากันออกนอกระบบกันหมด" โดย ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่ง นายเกื้อ วงศ์บุญสิน รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงถึงเหตุผลการนำจุฬามหาวิทยาลัย ออกนอกระบบ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ว่า การเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบจะหลุดและไม่ติดขัดแบบแผนราชการ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร และ พ.ร.บ.นี้ ไม่ได้เน้นประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนดูที่มาของการเกิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานที่ดินก่อสร้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทรงเห็นว่าควรเป็นหน่วยงานอิสระ ไม่ขึ้นกับกระทรวงธรรมการ แต่ให้ขึ้นกับพระมหากษัตริย์

ใจ ไม่เห็นด้วย จุฬา ออกนอกระบบ

ด้าน นายใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะคณาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยกับการนำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกนอกระบบ กล่าวว่า การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นแนวคิดเสรีนิยม นำกลไกการตลาดเข้ามาจับ ทำลายการเข้าถึงการศึกษาของคนจน จึงขอท้าทายผู้บริหารให้ประชาคมทุกคนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงมติว่าจะเอามหาวิทยาลัยนอกระบบหรือไม่ และหากไม่เปิดให้ลงคะแนนจะกล้าเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ตั้งสหภาพแรงงานอาจารย์และพนักงานหรือไม่

กังวล รัฐเลิกสนับสนุนการศึกษา

ขณะที่ นางดวงกมล ชาติประเสริฐ อาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การรับฟังความเห็นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังมีหลายคำถามของอาจารย์ที่ไม่ได้รับคำตอบจากฝ่ายบริหาร เช่น เรื่องระบบการบริหารที่โปร่งใสเป็นธรรม ให้คุณให้โทษ ซึ่งไม่เคยทำให้เกิดในขณะที่ยังไม่ออกนอกระบบ แล้วเมื่อออกนอกระบบ ผู้บริหารชุดเดิมทั้งสิ้นนี้จะสามารถเปลี่ยนวิสัยทัศน์ได้ชั่วข้ามคืนหรือไม่ ส่วนข้ออ้างที่บอกว่ามหาวิทยาลัยในกำกับจะคล่องตัวและอิสระ แต่แท้จริงแล้วรัฐบาลตั้งเป้าเปลี่ยนนโยบายในการสนับสนุนอุดมศึกษาน้อยลง แม้เม็ดเงินสนับสนุนอาจจะไม่น้อยลง แต่ค่าใช้จ่ายในอุดมศึกษาจะให้ผู้เรียนรับผิดชอบตัวเองมากขึ้น เหมือนกับรัฐบาลตั้งใจปล่อยลูกที่ตัวเองเคยเลี้ยงออกไปหากินเอง

ออกนอกระบบ คือ เป็นอิสระจากรัฐบาล

ส่วน จรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมา มีอาจารย์ที่ได้รับการยอมรับเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เช่น ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา อดีต อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยให้เหตุผลว่าต้องการให้มหาวิทยาลัยเป็นอิสระจากรัฐบาล เพื่อเสรีภาพทางวิชาการ สำหรับหลักการของร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่บนพื้นฐานกระจายอำนาจให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระปกครองตนเอง เหมือนการกระจายอำนาจให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ปกครองตนเอง ซึ่งมหาวิทยาลัยประกอบไปด้วยประชาคมที่มีวุฒิภาวะสูง ความรู้และความรับผิดชอบ หากวันนี้ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปกครองตนเองไม่ได้ ไม่เชื่อความสามารถของตัวเอง ก็ต้องเลิกพูดถึงการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เพราะคนท้องถิ่นมีวุฒิภาวะต่ำกว่าคนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แน่นอน ดังนั้น การปกครองตนเอง ไม่น่าจะมีใครปฏิเสธว่าไม่ดี ปัญหาต่างๆ อยู่ที่การจัดการหลังให้อำนาจกับองค์กรที่ปกครองตนเองมากกว่า ที่ต้องช่วยกันดู

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์