9 สถาบันรวมพล หน้าสภาฯ-ต้านม.ออกนอกระบบ



"ต้าน ไม่มีความชัดเจนในเนื้อหา"


ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยกำกับรัฐ หรือมหาวิทยาลัยนอกระบบ เพื่อนำเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. และ สนช.รับหลักการวาระที่ 1 แล้ว 3 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในขณะที่ ครม.ก็ทยอยให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เพื่อเสนอ สนช.อีกหลายฉบับ ขณะเดียวกัน นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งออกมาคัดค้าน เพราะกังวลว่า เมื่อเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบแล้ว จะเกิดปัญหาหลายด้าน แม้ว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะออกมาชี้แจงถึงข้อดี แต่กลุ่มผู้คัดค้านก็ยังเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยนัดระดมพลแสดงพลังที่หน้ารัฐสภาวันนี้ (13 ธ.ค.)

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเช้าวานนี้ (12 ธ.ค.) นายปรัชชารัตน์ แสงจันทร์ นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ขอให้ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศิลปากรออกไปก่อน เพื่อให้มีการทำประชาพิจารณ์ เพราะร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนในเนื้อหา อีกทั้ง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากผู้บริหารเพียงบางกลุ่ม โดยมิได้ประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษาที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้รับรู้อย่างทั่วถึง จึงอยากให้ ชะลอร่าง พ.ร.บ.ออกไปก่อน เพื่อให้ทุกคนทราบว่า การที่มหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบจะมีผลดี ผลเสียอย่างไร ยืนยันว่า การคัดค้านครั้งนี้ไม่ได้ขัดแย้งกับการผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพียงแต่เห็นว่าควรต้องผ่านกระบวนการให้ครบถ้วนและรอบคอบก่อน

"ให้ชะลอพิจารณาร่าง พรบ.ใหม่"


ต่อจากนั้น นายปรัชชารัตน์พร้อมด้วยนักศึกษาประมาณ 10 คน เดินทางไปยังรัฐสภาเข้ายื่นหนังสือต่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ขอให้ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีนางสุวิมล ภูมิสิงหราช ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช.รับหนังสือแทน ตัวแทนนักศึกษาได้แสดงความวิตกกังวลว่า มหาวิทยาลัยศิลปากรยังไม่มีความพร้อมที่จะออกนอกระบบ และนักศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูล อาจส่งผลกระทบกับนักศึกษาได้ จึงเห็นควรให้ ทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายได้รับฟังก่อน

วันเดียวกัน ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยบูรพา และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหิดล ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ จากนี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่วนร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศิลปากร และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ขอถอนออกจาก ครม. เนื่องจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้แจ้งมาว่า ในวันที่ 18 ธ.ค. จะทำประชาพิจารณ์ จากประชาคมมหาวิทยาลัยอีกครั้ง ส่วนมหาวิทยาลัยศิลปากรแจ้งว่า สภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร มีมติให้สภามหาวิทยาลัยทบทวนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ตนพิจารณาแล้วเห็นว่า การทบทวนให้รอบคอบไม่ใช่เรื่องเสียหาย จึงได้ถอนร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับออกมาก่อน ซึ่งที่ประชุม ครม.ไม่ได้มีข้อกังวล เพราะทราบถึงเหตุผลของการออกนอกระบบ การเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่เกิดขึ้น ก็ไม่มีผลทำให้ต้องถอนเรื่องออก เพราะเหตุผลที่ยกขึ้นมาคัดค้าน ยังไม่เห็นถึงผลเสียที่เป็นเรื่องจริง ไม่ห่วงว่าการผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จะทำให้คะแนนนิยมของรัฐบาลตกลงไป เพราะเป็นความก้าวหน้าของส่วนรวม

"ยังเข้าใจผิดพลาดเรื่องสภาพ มหาวิทยาลัย"


ด้านนายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้มีความเข้าใจผิดพลาดว่า มหาวิทยาลัยนอกระบบคือการแปรรูปมหาวิทยาลัย ขอยืนยันว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนสภาพมหาวิทยาลัยจากส่วนราชการเป็นหน่วยงานรัฐที่เป็นอิสระ ไม่ใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นบริษัทเอกชนและเปิดขายหุ้นให้ต่างชาติ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ยังคงได้รับการสนับสนุนงบจากรัฐ การขึ้นค่าหน่วยกิต ยังคงเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหาร ส่วนที่มีการเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยที่มีปัญหาทำความเข้าใจกับประชาคมก่อนเสนอสภาฯนั้น กระบวนการเหล่านี้ดำเนินการมานานแล้ว ครั้งนี้เป็นเพียงการยืนยันในสิ่งที่ผ่านความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภาฯ ในรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ตกไปเนื่องจากยุบสภาฯ ไม่ใช่เป็นการบังคับของกระทรวงศึกษาฯหรือรัฐบาล และ ที่นิสิต นักศึกษาออกมาคัดค้าน ก็เป็นนิสิต นักศึกษาใหม่ที่ไม่เข้าใจในหลักการ ไม่เห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องทบทวน เพราะเป็นเรื่องเก่าที่ถกเถียงกันมากว่า 10 ปี และมีข้อยุติมานานแล้ว

นายสุรพลกล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อแล้วเสร็จ สภามหาวิทยาลัย จะยืนยันเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติฯ เช่นเดียวกัน ส่วนประเด็นที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยวิตกกังวล คือ หลังจากที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ รัฐบาลจะยังคงดูแลสวัสดิการ ค่าตอบแทนเท่ากับข้าราชการ รวมถึงขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยเท่ากับขึ้นให้ข้าราชการหรือไม่นั้น ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยในกำกับ เพื่อเป็นหลักประกัน และ รมว.ศึกษาธิการ ก็รับที่จะผลักดันดำเนินการให้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอเพื่อพิจารณา

"ความเคลื่อนไหวกลุ่ม นศ."


ส่วนความเคลื่อนไหวของนักศึกษา นายภัทรดนัย จงเกื้อ รองเลขาธิการองค์การนิสิตนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 ธ.ค. กลุ่มเครือข่ายคัดค้านการแปรรูปการศึกษา 9 สถาบัน ได้แก่ สถาบันเทคโนฯพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จุฬาฯ ม.เกษตรศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ม.บูรพา ม.เชียงใหม่ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ และ ม.มหิดล นัดรวมตัวกันที่หน้ารัฐสภา เพื่อแสดงพลังให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบว่า มีนักศึกษาจากหลายสถาบันคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ทั้งจะยื่นหนังสือถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช. และจัดเวที ปราศรัยหน้ารัฐสภาด้วย

ขณะที่นายธีรวุฒิ บุญโสภณ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ กล่าวว่า การชุมนุมของนักศึกษาของสถาบันฯที่หน้ารัฐสภา เป็นสิทธิส่วนบุคคลของนักศึกษา ไม่สามารถห้ามได้ แต่ในกรณีที่นักศึกษาจัดเวทีปราศรัยภายในสถาบัน จะต้องขออนุญาตจากสถาบันก่อน ที่ผ่านมา นักศึกษาเข้าใจผิดว่ามหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะทำให้ค่าหน่วยกิตขึ้นหลายเท่าตัว ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง สำหรับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ภายใน 10 ปีนี้จะไม่ขึ้นค่าหน่วยกิต เพราะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลเยอรมัน ซึ่งนักศึกษาจะไม่เดือดร้อน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์