สธ.เตือนระวัง พบยุงลายกัด ไม่เลือกเวลา

"ภาวะโลกร้อน เนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้น"


ภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพ เป็นที่เปิดเผยเมื่อวานนี้ (7 ธ.ค.) โดย นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคระบาด ที่เกิดจากภาวะโลกร้อนว่า จากการประชุมประเมินสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อในภาวะโลกร้อนในระดับนานาชาติ เมื่อเร็วๆนี้ มีความกังวลถึงผลกระทบด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน เนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น

จะส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การฟักตัวของเชื้อโรคและศัตรูพืชที่เป็นอาหารของมนุษย์บางชนิด ทั้งนี้ โรคที่ฟักตัวได้ดีในสภาพร้อนชื้นของโลก มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในระยะเวลา 10-20 ปีข้างหน้า โรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย รวมทั้งโรคจากอาหารและน้ำ เช่น อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ บิด อาหารเป็นพิษ เป็นต้น

"ทำให้เกิดโรคที่ต้องจับตามอง"


นอกจากนี้ สภาพอากาศที่ร้อนชื้นยังทำให้แบคทีเรียในอากาศมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ โอกาสในการ แพร่ระบาดสูง ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่า โรคเหล่านี้หากไม่รีบรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ อาจมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 60%

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า สำหรับโรคไข้ เลือดออกถือว่าเป็นโรคที่ต้องจับตามองมากที่สุด เพราะนอกจากจะยังไม่มียาหรือวัคซีนในการรักษาแล้ว ปัจจุบันยังพบว่า ยุงลายซึ่งเป็นพาหะสำคัญของโรค ซึ่งเคยออกหากินในเวลากลางวัน ได้เปลี่ยนมาออกหากินในเวลาพลบค่ำจนถึง 5 ทุ่ม ทำให้ยากต่อการป้องกันหรือวินิจฉัยโรค เพราะที่ผ่านมา ยุงที่หากินในช่วงหัวค่ำไปจนถึงดึกนั้นส่วนใหญ่จะเป็นยุงรำคาญ แต่ตอนนี้ไม่สามารถระบุได้ เพราะในช่วงหัวค่ำถึงกลางดึก ยุงลายก็ออกหากินเหมือนกัน

"พาหนะนำโรค"


จึงควรระมัดระวังไม่ให้ยุงกัดทุกช่วงเวลาจะปลอดภัยที่สุด ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เคยมีการศึกษาของภาควิชา ปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ถึงการเปลี่ยนแปลงชีวนิสัยของยุงลายภายหลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในธรรมชาติ พบว่ายุงลายตัวผู้ ปกติจะไม่กินเลือดคน แต่จะกินน้ำหวานจากพืช กลับพบว่ามีเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue Virus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก ทำให้สงสัยว่ายุงลายตัวผู้ได้เชื้อนี้มาจากแหล่งใด ในเมื่อไม่กินเลือดคน

นพ.ธวัชกล่าวอีกว่า จากการศึกษาต่อเนื่องทำให้ ทราบว่า ยุงลายตัวผู้น่าจะได้รับเชื้อนี้มาจากแม่ยุงลายที่ติดเชื้อผ่านทางไข่ และยุงลายตัวผู้ที่ติดเชื้อก็สามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสเดงกี่ไปยังตัวเมียที่มาผสมพันธุ์ได้ ในธรรมชาติยุงตัวผู้ผสมพันธุ์ได้หลายครั้ง จึงมีโอกาสแพร่เชื้อได้มาก และตัวเมียที่ได้รับเชื้อมาจากตัวผู้ ก็สามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสเดงกี่ที่ได้รับจากตัวผู้ไปให้กับลูกได้ แต่ยุงลายตัวเมียจะไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อนี้ให้กับยุงลายตัวผู้ที่มาผสมพันธุ์ได้ จึงอาจเป็นไปได้ว่าไวรัสเดงกี่ถ่ายทอดผ่านน้ำเชื้อของยุงลายตัวผู้

"หาแนวทางควบคุมโรค"


นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบเชื้อไวรัสเดงกี่ในลูกน้ำยุงลายอีกด้วย แต่ที่น่าสนใจก็คือ หลังจากที่ผู้ศึกษาได้สกัดเอาเชื้อไวรัสเดงกี่ที่อยู่ในตัวยุงลายตัวผู้ออกมาศึกษาด้วยวิธี อาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจแบบพิเศษ ก็พบว่า ยุงลายตัวผู้บางตัวมีเชื้อไวรัสเดงกี่ 2 สายพันธุ์ในตัวเดียวกัน ซึ่งถือว่าอันตราย จำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไปอีกว่า เชื้อไวรัสชนิดนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อไปหรือไม่ เพื่อหาแนวทางควบคุมการระบาดของไข้เลือดออก รวมถึงการกำจัดและควบคุมยุงลายทั้งปี ไม่ใช่รอให้มีการระบาดก่อนแล้วค่อยมากำจัดยุงลายหรือลูกน้ำยุงลายทีหลัง

สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 25 พ.ย. 2549 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 39,314 ราย ตาย 56 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 10 อันดับ คือ สมุทรสงคราม ลพบุรี นนทบุรี อุทัยธานี นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา กาฬสินธุ์ และประจวบคีรีขันธ์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์