ไทยค้นพบหญ้าพันธุ์ใหม่ของโลก ตั้งชื่อเกาะกูด ชี้สำคัญมากต่อระบบนิเวศของประเทศ

น.ส.อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์ นักวิชาการ 5 กองวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 มกราคม ถึงการค้นพบหญ้าชนิดใหม่ของโลกว่า จากการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างหญ้าครั้งแรกในปี 2513 ที่น้ำตกคลองเจ้า อ.เกาะกูด จ.ตราด พบหญ้าชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายหญ้าชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Arundinella metzii Hochst. ex Miq. แต่เมื่อศึกษาและตรวจสอบตัวอย่างหญ้าดังกล่าวอย่างละเอียด กลับพบว่าเป็นหญ้าชนิดพันธุ์ใหม่ของโลก ไม่เคยพบที่ใดมาก่อนและมีความแตกต่างจากสมาชิกอื่นในกลุ่มสกุลหญ้า จึงตั้งชื่อว่า"หญ้าเกาะกูด" เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่สถานที่ที่ค้นพบ

น.ส.อัจฉรากล่าวอีกว่า หญ้าเกาะกูดมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Arundinella kokutensis Teerawat. & Sungkaew โดยเมื่อปี 2553 เพิ่งได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ชื่อวิทยาศาสตร์ในวารสารทางวิชาการอนุกรมวิธานพืช Kew Bulletin 

"ครั้งแรกเข้าใจว่าหญ้าดังกล่าวคือหญ้าที่ชื่อว่า A. metzii แต่เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดก็พบว่าเป็นหญ้าชนิดใหม่ของโลก โดยหญ้าเกาะกูดมีลักษณะเด่นคือ มีเกสรเพศผู้ 2 อัน และที่ปลายกาบล่างมีหางค่อนข้างยาว ลักษณะดังกล่าวไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน และมีความแตกต่างจากสมาชิกอื่นในกลุ่มสกุลหญ้า"

น.ส.อัจฉรากล่าวว่า หญ้าเกาะกูดเป็นหญ้าล้มลุกขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ถึง 40 เซนติเมตร

ลำต้นเรียวเล็กและอวบน้ำ พบขึ้นเป็นกลุ่มอยู่เฉพาะบริเวณน้ำตก ซอกหิน หรือกลุ่มหินใกล้น้ำตก คาดว่าหญ้าชนิดนี้จะเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย เพราะจนถึงปัจจุบันมีการสำรวจพบหญ้าดังกล่าวขึ้นและเจริญเติบโตเฉพาะที่เกาะกูดเท่านั้น แต่น่าเป็นห่วงว่าหญ้าชนิดนี้อาจจะสูญพันธุ์ได้ง่าย เนื่องจากพบขึ้นและเจริญเติบโตอยู่เพียงบริเวณเดียวในสถานที่จำเพาะและเปราะบาง

น.ส.อัจฉรากล่าวว่า หญ้าเกาะกูดจะขึ้นบริเวณที่มีความชื้นตลอดทั้งปีและมักอยู่ใกล้น้ำตก
 
แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ บริเวณที่พบหญ้าเกาะกูดนี้ไม่ได้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ แต่มีลักษณะพื้นที่เปิดโล่ง ที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาพักผ่อนและทำกิจกรรมต่างๆ ได้ง่าย ทำให้มีแนวโน้มสูงที่หญ้าเกาะกูดจะถูกทำลายหากไม่มีการจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม

สำหรับประโยชน์ของหญ้าเกาะกูดต่อมนุษย์นั้น ยังไม่มีการศึกษาชัดเจน เนื่องจากหญ้าดังกล่าวมีขนาดเล็กทำให้มีข้อจำกัดในการศึกษาด้านเภสัชวิทยา แต่ยืนยันว่าการค้นพบหญ้าชนิดใหม่ของโลกนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศของประเทศไทย โดยเฉพาะในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์