สื่อนอกยกกรณี น.ส.เอ ชี้ยุคทองของ โซเชียล มีเดีย คือยุคแห่ง การล่าแม่มด


สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ในหน้าเฟซบุค "มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านคนไม่พอใจ น.ส.เอ"

มีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเด็กหญิงวัยรุ่น ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย ว่า "ขอให้เธอไม่มีความสุขตลอดไป" ขณะที่ปัจจุบันหน้าเฟซบุคดังกล่าวมีผู้เข้ามาให้การสนับสนุนมากกว่า 3 แสนคนแล้ว

"ความตายของเธอเท่านั้นที่จะสามารถชดใช้ในสิ่งที่เธอทำได้" ผู้สนับสนุนรายหนึ่งกล่าวแสดงความเห็นอย่างโกรธเกรี้ยว ขณะที่อีกรายกล่าวว่า "คุณยังเป็นคนอยู่หรือเปล่า?" ขณะที่ผู้สนับสนุนรายหนึ่งกล่าวข่มขู่ที่จะข่มขืนเธอ หากว่าเขาพบเห็นเธอ

เด็กสาววัย 16 ปี จากครอบครัวผู้มั่งคั่ง ซึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าขับรถโดยประมาทจนทำให้มีผู้เสียชีวิต และขับรถโดยปราศจากใบขับขี่ หลังจากที่เธอขับรถยนต์พุ่งชนเข้ากับรถตู้โดยสารบนโทลล์เวย์เมื่อเดือนที่ผ่านมา

หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้มีการเผยแพร่ภาพของเธอที่ยืนพิงขอบถนน และใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนยี่ห้อแบล็คเบอร์รี่ อยู่ข้างซากรถของเธอเอง

กลุ่มผู้ที่ไม่พอใจ แสดงความคิดเห็นต่อภาพดังกล่าวทางอินเตอร์เน็ตอย่างเผ็ดร้อน โดยกล่าวหาว่าเธอ "แชต" อยู่กับเพื่อนๆ ทั้งที่ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น และมีการขุดคุ้ยภาพถ่ายและประวัติส่วนตัวขึ้นมาเปิดเผยและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ขณะที่สาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด การแสดงความเห็นอย่างรุนแรงทางเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ (โซเชียล มีเดีย) อย่างเฟซบุคและทวิตเตอร์ หรือเว็บบอร์ดต่างๆ ก็ถือเป็นปรากฏการณ์ของ "กลุ่มผู้เกลียดชัง" ทางออนไลน์ของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน

ขณะที่นายเอเดรียน สกินเนอร์ นักจิตวิทยาคลีนิคชาวอังกฤษ  ซึ่งทำการศึกษาด้านความแตกต่างทางพฤติกรรมในการใช้อินเตอร์เน็ตกล่าวว่า เบื้องหลังปรากฏการณ์ครั้งนี้ คือสิ่งที่เรียกว่า "การขาดความยับยั้งทางอินเตอร์เน็ต" (Internet disinhibition)


ผู้คนในปัจจุบันสามารถประพฤติตนในอินเตอร์เน็ตโดยขาดความยับยั้งชั่งใจมากขึ้นทุกที และเหตุผลหลักก็คือ พวกเขารู้สึกว่ามันไม่ได้มีผลสะท้อนกลับต่อตนเองแต่อย่างใด"

เขายังอธิบายถึง "สำนึกอันตกต่ำของความรับผิดชอบ" ซึ่งถูกนำไปผนวกกับความจริงที่ว่า การเขียนสิ่งใดลงบนอินเตอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายามมากเท่ากับการนำตนเองเข้าไปอยู่ท่ามกลางฝูงชนที่เต็มไปด้วยความแค้น ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในยุคหลังการกำเนิดของอินเตอร์เน็ต

"การรวมกลุ่มประเภทนี้เกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้นทุกที เนื่องจากมันเป็นการสื่อสารทางอิเล็คทรอนิคส์" นายสกินเนอร์กล่าวและว่า "ปรากฏการณ์เช่นนี้สามารถก่อให้เกิด ′ม็อบทางอิเล็คทรอนิคส์′ ได้ง่ายมาก"

ตามข้อมูลของเว็บไซด์ Socialbakers จำนวนสมาชิกเว็บสังคมออนไลน์ "เฟซบุค" ในประเทศไทย อยู่ที่ 7.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็น 11% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

ความเฟื่องฟูดังกล่าวเกิดขึ้นนับตั้งแต่สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม ของปีที่ผ่านมา

"เครื่องมือดังกล่าวทำให้เราสามารถแสดงความรู้สึก ความเชื่อ และความคิดเห็น ได้ง่ายขึ้น" สุภิญญา กลางณรงค์ จากเครือข่ายพลเมืองเน็ตกล่าว เธอแสดงความเห็นว่า การปฏิวัติในการใช้อินเตอร์เน็ตเกิดขึ้น "เร็วเกินไป"

"การแสดงออกถึงความเป็นตัวตนเป็นสิ่งที่ดี แต่เราจำเป็นต้องทราบถึงขอบเขตของการแสดงออก และการใช้เว็บไซต์สังคมออนไลน์อย่างไรในทางบวก" เธอกล่าว "เราจำเป็นต้องมีมาตรฐานในการควบคุม ว่าอะไรเป็นการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ และอะไรคือการคุกคาม"

ประเด็นดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย อย่างไรก็ดี หลายประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งถือเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตของเฟซบุคมากที่สุด ก็เกิดตัวอย่างของการยุยงให้เกิดความเกลียดชังเช่นนี้ในหลายกรณี



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์