กระเช้าปีใหม่ เหล้าเท่ากับคุก

สธ.จับตาห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าทำกระเช้า ใส่เหล้าเป็นของขวัญ ปีใหม่

ฮึ่มพบเอาผิดติดคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท ระบุ ปี 2551 มีถึงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประชาชนร้อยละ 65 ไม่ต้องการกระเช้าที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 80 ต้องการของขวัญที่มีคุณค่าทางจิตใจ ร้อยละ 81.1 ต้องการกระเช้าสุขภาพ และร้อยละ 73 เห็นด้วยกับปีใหม่ปลอดแอลกอฮอล์ ขณะที่ สนง.คุมแอลกอ ฮอล์ฯ จ่อเอาผิด 12 ลานเบียร์ 4 ยี่ห้อดัง ทั้งในกทม.-ตจว. จูงใจให้วัยรุ่นดื่ม ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 16 และไม่ขออนุญาตจำหน่าย

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รมช.สาธารณสุข

พร้อมด้วย น.พ.ศิริวัฒน์ ทิพธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ น.พ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในงาน "ส่งความสุขทั่วไทย กระเช้าปีใหม่ไร้แอลกอฮอล์" ซึ่งมีการประกวดกระเช้าของขวัญปลอดแอลกอฮอล์ ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 จากห้างร้านต่างๆ ว่า จากการสำรวจพบว่าในปี 2551 มีการจัดกระเช้าซึ่งมีเหล้ารวมอยู่ด้วย ถึงร้อยละ 51.23 จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนอายุ 12-60 ปี พบว่า ประชาชนร้อยละ 65 ไม่ต้องการกระเช้าที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 80 ต้องการของขวัญที่มีคุณค่าทางจิตใจ ร้อยละ 81.1 ต้องการกระเช้าเพื่อสุขภาพ และร้อยละ 73 เห็นด้วยกับกิจกรรมปีใหม่ปลอดแอลกอฮอล์และอยากร่วมรณรงค์ด้วย

"กระทรวงสาธารณสุขสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และสำนักงานควบคุมป้องกันโรคระดับเขตใน 12 จังหวัด ออกตรวจกระเช้าของขวัญตามห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ หากพบว่ามีเหล้าอยู่ในกระเช้าของขวัญจะดำเนินการทางกฎหมายทันที มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยจะเริ่มตรวจตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค.นี้ เป็นต้นไป" นางพรรณสิริกล่าว

วันเดียวกัน น.พ.สมาน ฟูตระกูล ผอ.สำนัก งานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ต้องถือได้ว่าเป็นช่วงของการเปิดลานเบียร์ตามพื้นที่ต่างๆ จำนวนมาก ลานเบียร์จัดว่าเป็นกิจกรรมเฉพาะช่วง แต่พบว่ามีองค์ประกอบต่างๆ ของลานเบียร์ที่ผิดพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีการโฆษณาตราสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ การแสดงดนตรีกลางแจ้งเพื่อส่งเสริมการขาย ซึ่งเป็นการนำวงดนตรีที่มีชื่อเสียงมาแสดงคอนเสิร์ต จูงใจให้คนเข้ามาลานเบียร์ มีกลยุทธ์ในการจูงใจให้ดื่มเบียร์ รวมไปถึงสาวเชียร์เบียร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดทั้งนั้น

ผลการตรวจสอบและดำเนินคดีกับลานเบียร์ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างเดือน ต.ค.-พ.ย.2553

พบว่า มีการดำเนินคดีรวม 12 คดี คือ 1.ลานเบียร์สิงห์ หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็น ทรัลเวิลด์ พบโฆษณาตราสัญลักษณ์ ไม่มีการแสดงข้อความคำเตือน ผิดตามมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังต้องระวางโทษปรับวันละไม่เกิน 5 หมื่นบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

น.พ.สมานกล่าวต่อว่า 2.ลานเบียร์ช้าง บริเวณห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ผิดมาตรา 32 และยังพบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุ 16 ปี ซึ่งผิดกฎหมายตามมาตรา 29 ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.ลานเบียร์ไทเกอร์ หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พบผิดตามมาตรา 32 เช่นกัน

4.ลานเบียร์สิงห์ หน้าเทศบาลตำบลบางใหญ่ จ.นนทบุรี ผิดมาตรา 32 และมาตรา 27 ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ราชการ หรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 5.ลานเบียร์ช้าง หน้าห้างสรรพสินค้าบางใหญ่พลาซ่า นนทบุรี ผิดมาตรา 32 มาตรา 30 ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการลด แลก แจก แถม มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 6.ลานเบียร์สิงห์ หน้าห้างเซ็นทรัลแอร์พอร์ตพลาซ่า จ.เชียงใหม่ ผิดมาตรา 32 และ 30

น.พ.สมานกล่าวอีกว่า ขณะที่อีก 6 แห่ง คือ 1.ลานเบียร์สิงห์ บริเวณตลาดไนท์พลาซ่า จ.เชียงราย 2.ลานเบียร์ช้าง บริเวณสวนสาธารณะเทศบาลเมืองพะเยา จ.พะเยา 3.ลานเบียร์ลีโอ ที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ จ.ตาก 4.ลานเบียร์ช้าง สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ จ.ตาก 5.ลานเบียร์สิงห์ บริเวณประเสริฐแลนด์ กาดเชิงดอย จ.เชียงใหม่ และ 6.ลานเบียร์สิงห์ หน้าที่ว่าการอำเภอโพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ทำผิดมาตรา 32 และ 27 ทั้งหมด ทั้งนี้ อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดี

อย่างไรก็ตามการดำเนินคดีกับลานเบียร์ถือว่าอะลุ้มอล่วยมาก เพราะหากพิจารณาตามกฎหมาย ลานเบียร์ทุกแห่งเมื่อจัดขึ้นถือว่าผิดหมด

ขณะเดียวกันการเปิดลานเบียร์ยังส่งผลกระทบผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกับสถานที่เปิดลานเบียร์ด้วย โดยมีผู้ร้องเรียนมาที่ตนในแต่ละวันจำนวนมาก ขณะที่ผู้ประกอบการก็มีการใช้กลยุทธ์หยั่งเชิงมากขึ้น เช่น ช่วงปีแรกที่มีการบังคับใช้พ.ร.บ.ดังกล่าว ก็จะมีการเปิดลานเบียร์ และทำผิดกฎหมายในพื้นที่ระดับจังหวัด เช่นในเขต อ.เมือง แต่หลังจากทางสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขอความร่วมมือไปแต่ละจังหวัด และส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบอย่างจริงจัง ก็พบว่ามีจำนวนที่ลดลง แต่กลับไปพบการร้องเรียนว่ามีการเปิดลานเบียร์และทำผิดกฎหมายในระดับอำเภอแทน

"ที่น่าแปลกใจคือ ลานเบียร์ที่เปิดอยู่ที่หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งมีอยู่ 3 ยี่ห้อ เมื่อมีการตรวจสอบไปยังกรมสรรพสามิต พบว่ามีอยู่ยี่ห้อเดียวที่ขออนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่อีก 2 ยี่ห้อไม่มีใบอนุญาต ทั้งๆ ที่ลานเบียร์บริเวณนี้ตั้งอยู่ใกล้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาก แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ" น.พ.สมานกล่าว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์